คลังกลับลำ! 'สมาร์ทโฟน-เครื่องใช้ไฟฟ้า' จ่อแห้วดิจิทัลวอลเล็ต

“คลัง” กลับลำ “สมาร์ทโฟน-เครื่องใช้ไฟฟ้า” จ่อแห้วร่วมดิจิทัล วอลเล็ต แจง “เศรษฐา” สั่งถอยหลังสังคมวิจารณ์หนัก โยนการบ้านพาณิชย์เร่งกลับไปพิจารณา ขีดเส้น 1 สัปดาห์ต้องได้ข้อสรุป

17 มิ.ย. 2567 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์กลับไปทบทวนเรื่องสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ (Negative List) โดยเฉพาะสินค้าอิมพอร์ต คอนเทนต์ อาทิ สมาร์ทโฟน และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ข้อสรุปแล้วว่าสินค้าดังกล่าวสามารถเข้าร่วมโครงการได้ เนื่องจากถือเป็นปัจจัยที่ 5 และเป็นเครื่องมือทำมาหากิน โดยให้เร่งกลับไปพิจารณาและนำข้อสรุปมาเสนออีกครั้งในสัปดาห์หน้า

“เรื่องสมาร์ทโฟน และเครื่องใช้ไฟฟ้าตอนนี้ยังไม่จบ เพราะหลังจากที่มีข่าวออกไปก็มีการถกเถียงกันในสังคม ก็ถือว่าเป็นข้อดีของสังคมประชาธิปไตย ซึ่งรัฐบาลพร้อมรับฟัง และนายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงอยากให้ส่วนงานที่รับผิดชอบกลับไปทบทวนเรื่องนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง ดังนั้นที่ประชุมฯ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิย์กลับไปทบทวนอีกครั้ง เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี้ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริโภคและการผลิตภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลก็ห่วงว่าสินค้าอิมพอร์ต คอนเทนต์นี้ เมื่อมีการใช้จ่ายเงินซื้่อในรอบแรก เงินจะไหลไปต่างประเทศ ซึ่งอาจจะผิดคอนเซ็ปต์ของโครงการ” นายจุลพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าประเด็นเรื่องอิมพอร์ต คอนเทนต์ ค่อนข้างกว้างมากและมีความยากในเรื่องการกำกับดูแลพอสมควร เช่น กรณีเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีทั้งที่ผลิตในประเทศและนอกประเทศ ตรงนี้ก็ต้องหาวิธีการกำหนด การกำกับที่จะสามารถทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะสินค้าอิมพอร์ต คอนเทนต์ ไม่ได้มีแค่เฉพาะสมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินค้าอื่น ๆ ด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้หารือในรายละเอียดเกี่ยวกับระบบการลงทะเบียนของประชาชนและร้านค้า ซึ่งยังยืนยันตามกำหนดการเดิมคือ ในไตรมาส 3/2567 รวมถึงการเชื่อมระบบในลักษณะ Open Loop ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องหารือในรายละเอียดต่อไป และจะต้องมีการพูดคุยกับส่วนงานที่ไม่ใช่ราชการ เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มระบบอีเพย์เม้น เป็นต้น รวมถึงมีการพูดคุยถึงกลไกในการเปิดช่องทางเพื่อให้ประชาชนสามารถยื่นอุทธรณ์สิทธิ์ได้ และเร็ว ๆ นี้รัฐบาลจะเร่งประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนให้กับประชาชนอย่างไรก็ดี ยืนยันว่าประชาชนทุกกลุ่มจะได้รับเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท พร้อมกันทั้งหมด ไม่มีการให้แยกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก่อนแน่นอน และยืนยันอีกว่าระบบการลงทะเบียนของรัฐที่เตรียมไว้จะสามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้อย่างแน่นอน ส่วนประเด็นเรื่องการสอบถามไปยังกฤษฎีกา กรณีดึงเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1.72 แสนล้านบาทมาใช้เพื่อรองรับโครงการดิจิทัล วอลเล็ตนั้น ยังไม่ได้ดำเนินการ โดยจะทำเมื่อถึงเวลาที่ต้องทำ เพราะขณะนี้ยังมีเวลา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯเศรษฐา ปลื้มชาวศรีสะเกษ ต้อนรับสุดอบอุ่น ยันปลายปีนี้ได้เงินหมื่นแน่นอน

นายกฯ กราบ ‘รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอขุขันธ์’ สวดชยันโต ให้พร ‘ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติอยู่ดีมีสุข’ ย้ำคำมั่นชาวศรีสะเกษ ได้ดิจิทัลวอลเล็ตได้แน่ปลายปี ยันสส.ดูแลพื้นที่ดี นำปัญหาสะท้อนรัฐบาล