‘สุรพงษ์’ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมรถไฟฟ้าสายสีเหลือง หลังเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ สั่ง ‘บีอีเอ็ม’ ตรวจสอบโครงสร้างทุก 2 เดือน พร้อมติดตั้งกล้อง image processing ร่วมกับ AI ไว้ใต้ขบวนรถไฟฟ้า เพื่อตรวจจับความผิดปกติของชิ้นส่วนในระบบราง ย้ำไม่ให้เกิดการณ์ซ้ำอีก
17 มิ.ย.2567-นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (MRT สายสีเหลือง) ว่า จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ที่ขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองต้องหยุดวิ่งทั้งระบบ เนื่องจากกระแสไฟฟ้าจ่ายเข้าขบวนรถขัดข้องและมีชิ้นส่วนตัวยึดรางร่วงหล่นลงมาบนพื้นถนนศรีนครินทร์ ช่วงสถานีกลันตัน (YL12) – สถานีสวนหลวง ร.9 (YL15) ได้สั่งการให้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้กำกับดูแลโครงการ ควบคุมการดำเนินงานซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ของบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถกลับมาเปิดให้บริการเดินรถตามปกติได้โดยเร็ว และสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยให้แก่ประชาชน
ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางราง ร่วมกับ รฟม. ได้เข้าติดตามการทดสอบระบบ และตรวจประเมินความพร้อมก่อนการเปิดให้บริการ โดยสามารถกลับมาเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ตามปกติ ครบทั้ง 23 สถานี ได้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2567 ในเวลา 06.00 – 00.00 น. ด้วยความถี่นอกช่วงเวลาเร่งด่วน ทุก 10 นาทีต่อขบวน และในช่วงเวลาเร่งด่วน ด้วยความถี่ทุก 5 นาทีต่อขบวน (วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 07.00 – 09.00 น. และเวลา 17.00 – 20.00 น.)
“อุบัติเหตุดังกล่าว เกิดขึ้นจากมีวัสดุร่วงหล่นลงมา ซึ่งทางรฟม. กรมการขนส่งทางราง(ขร.) และเอกชนผู้ให้บริการ ได้สรุปสาเหตุและแก้ไขปรับปรุงจนสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งก่อนการเปิดให้บริการมีการตรวจสอบระบบให้พร้อมใช้งานตามหลักความปลอดภัยการเดินรถ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนที่จะต้องนำไปป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดซ้ำอีก ถือเป็น KPI ของกระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางราง หากมีเหตุการณ์ซ้ำรอยถือว่าทำงานบกพร่อง ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าทุกอย่างกลับมาสู่ปกติ มีระบบป้องกันที่ดีกว่าเดิม”นายสุรพงษ์ กล่าว
สำหรับการตรวจสอบทุกอย่างเป็นไปตามหลักมาตรฐานความปลอดภัย โดยมีการติดตั้งระบบป้องกันเพิ่มเติมด้วยกล้องเซ็นเซอร์ตรวจจับความผิดปกติของล้อและราง สามารถแจ้งเตือนมายังศูนย์ควบคุมได้ทันการณ์ เพิ่มเติมจากการระบบตรวจสอบตามปกติ ซึ่งจะทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเสียหาย ลดเวลาการซ่อมแซม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่ใช้บริการ และผู้ที่สัญจรตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าว่าการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า สายสีเหลืองนั้นทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ และมีการป้องกันที่ดีขึ้น นอกจากนี้จากเดิมที่มีการจะเพิ่มการตรวจสอบเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีความถี่ทุก 6 เดือน และทุก 2 เดือน แต่หากเป็นจุดที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ จะเพิ่มความถี่เป็นทุกสัปดาห์
ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) กล่าวว่า ก่อนจะมีการทดสอบการให้บริการตามปกติ ขร. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและติดตาม เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยได้มีการดำเนินการตรวจสอบรอยต่อคานทางวิ่ง (expansion joint) ทั้งโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองและสีชมพู ซึ่งมีการตรวจเช็คมาร์คหัวนอต เพื่อสังเกตการคลายตัวของนอต การเคาะแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของตัวแผ่นเหล็กจากเสียงที่เกิดขึ้น การใช้อุปกรณ์พิเศษรูปตัวแอล สอดไปบริเวณระหว่างหัวนอตกับแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง เพื่อตรวจสอบนอตที่ไม่แนบแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง หรือการขันทอร์กด้วยเครื่องมือตรวจวัดค่าทอร์กที่มีการสอบเทียบ (calibrate) เพื่อตรวจสภาพเกลียวของรูนอตก่อนเปลี่ยนนอตใหม่ให้แนบกับแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง ซึ่งการดำเนินการนี้ ยังมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้ ได้กำชับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้ให้บริการ (EBM) ผู้รับสัมปทานให้เพิ่มความเข้มงวดการตรวจสภาพโครงสร้าง ขบวนรถไฟฟ้า อุปกรณ์ทุกชิ้น โดยเพิ่มความถี่ในการขันทอร์กจาก 4 เดือนเป็น 2 เดือน และถี่กว่านั้นในส่วนที่สำคัญเพื่อป้องกันความผิดพลาดและมีความปลอดภัยอยู่เสมอ
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองและสายสีชมพูได้ดำเนินการติดตั้งกล้อง image processing ร่วมกับ AI ไว้ใต้ขบวนรถไฟฟ้า เพื่อตรวจจับความผิดปกติของชิ้นส่วนในระบบราง หากมีตำแหน่งคลาดเคลื่อนจากเดิม จะมีการแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมการเดินรถ เพื่อประสานผู้เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งได้ดำเนินการซ่อมบำรุงตามคู่มือและแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนมั่นใจสูงสุดในการใช้บริการระบบราง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลโอ่ผลงานยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออกเชื่อมโยงอีอีซี
รัฐบาลยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออก เพิ่มประสิทธิภาพการจราจร เชื่อมโยงอีอีซี ล่าสุดกรมทางหลวงขยาย 4 ช่องจราจร ทล.3481 ตอน บ้านหัวไผ่ - การเคหะฯ จังหวัดปราจีนบุรี แล้วเสร็จ
'อนุทิน' ยันไม่คิดเอาคืนใคร ปมที่ดินเขากระโดงอย่าโยงการเมือง ไม่อย่างนั้นก็หมดสภาฯ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงข้อพิพาทพื้นที่เขากระโดงระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมที่ดิน ซึ่งกระทรวงคมนาคมยืนยันสิทธิ์ตามกฎหมาย
DMT พร้อมสนับสนุนนโยบายกระทรวงคมนาคม ลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยการจำหน่ายคูปองผ่านทางในราคาพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. ถึง 21 ธ.ค.67
DMT พร้อมสนับสนุนนโยบายกระทรวงคมนาคม ลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยการจำหน่ายคูปองผ่านทางในราคาพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. ถึง 21 ธ.ค. 67