สามข้อคิดเมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสุดๆ

สังคมสูงวัยเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากประชากรที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือ baby boomers กําลังชราภาพพร้อมอัตราการเจริญพันธ์หรืออัตราเด็กเกิดใหม่ที่ลดลง ทําให้สัดส่วนคนแก่ในสังคมเพิ่มขึ้น ประเทศไทยก็เจอปัญหานี้และค่อนข้างมาก คือเป็นสังคมที่แก่เร็ว ในปี 2022 สัดส่วนประชากรของไทยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีอยู่ที่ร้อยละ 18.6 ทําให้เราเป็นสังคมสูงวัยตามนิยาม สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นทุกปี และประเมินว่าสัดส่วนจะเพิ่มเป็นมากกว่าร้อยละ 28 ในปี 2033 คือเป็นซูเปอร์สังคมสูงวัยในอีกเก้าปีข้างหน้า และเพิ่มเป็นร้อยละ 33 ในปี 2040 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า คือเป็นสังคมสูงวัยแบบสุดๆ ที่หนึ่งในสามของประชากรมีอายุมากกว่า 60ปี

คําถามคือเราจะอยู่กันอย่างไรเมื่อวันนั้นมาถึง ซึ่งคงมาถึงแน่นอนในอีก 10-15ปีข้างหน้า ประเทศเราจะผลิตอะไรถ้าสังคมเต็มไปด้วยคนแก่ เราจะหารายได้อย่างไร ใครจะทำงาน และคนสูงวัยเหล่านี้จะเลี้ยงดูตัวเองอย่างไร จะมีเงินใช้หรือไม่ เพราะเราจะเป็นสังคมสูงวัยแบบสุดๆ ที่ไม่รํ่ารวยและมีความเหลื่อมลํ้ามาก นี่คือคําถามที่ต้องการคําตอบ

ถ้าดูตัวอย่างประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสุดๆก่อนหน้าเรา เช่น ญี่ปุ่น ที่สัดส่วนประชากรอายุมากกว่า 60ปีของเขาในปี 2014 อยู่ที่ร้อยละ 38 คือเป็นสังคมสูงวัยแบบสุดๆ แต่รํ่ารวย และเป็นมานานแล้วเป็นสิบๆปี เราจะเห็นปัญหาและสิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมตัวมากมายทั้งในระดับนโยบายและในระดับบุคคล วันนี้จะขอ”เขียนให้คิด” ในสามประเด็นที่เราต้องมีคําตอบชัดเจนเพื่อเตรียมประเทศรับมือกับสังคมสูงวัยแบบสุดๆ

หนึ่ง สังคมสูงวัยจะทําให้เศรษฐกิจหดตัวหรือเล็กลง เพราะประชากรมีน้อยลง คนตายจะมีมากกว่าคนเกิดใหม่ ทำให้กําลังแรงงานของประเทศลดลงตามไปด้วย เมื่อแรงงานมีน้อยลง การผลิตก็ลดลงทําให้อำนาจซื้อในประเทศลดลง และการลงทุนก็จะลดลงเพราะตลาดในประเทศไม่ใหญ่พอที่จะลงทุน ผลคืออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจลดลงต่อเนื่อง กระทบการเติบโตของรายได้ อํานาจซื้อ และความเป็นอยู่ของคนในประเทศ นี้คือพลวัตของสังคมสูงวัยที่ทําให้เศรษฐกิจโตตํ่าและอาจหดตัวได้

คําถามแรกที่ต้องการคำตอบคือเราจะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างไรเพื่อรักษาการเติบโตและเพิ่มความสามารถในการหารายได้ให้กับประเทศในภาวะที่คนสูงวัยในประเทศจะมีมาก

สอง ในสังคมสูงวัยที่เศรษฐกิจขยายตัวตํ่า จะมีคนสูงวัยจํานวนมากที่ดูแลตัวเองไม่ได้เพราะไม่มีเงิน ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินออม เป็นภาระมากต่อรัฐบาลในการดูแลคนเหล่านี้ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย เงินโอนเช่นเบี้ยคนชรา และระบบสวัสดิการต่างๆ

คําถามที่ต้องการคำตอบคือรัฐจะเอาเงินจากไหนมาใช้ในสิ่งเหล่านี้ เพราะรายได้จากภาษีก็จะลดลงตามการหดตัวของเศรษฐกิจ นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ต้องคิดและวางแผนล่วงหน้าเพื่อไม่ให้ฐานะการคลังของประเทศเกิดวิกฤต

ในเรื่องนี้ ประเด็นที่ต้องตระหนักคือการใช้เงินมากขึ้นโดยภาครัฐเพื่อดูแลคนสูงวัยจะกระทบงบประมาณของรัฐในด้านอื่น เช่น การลงทุน ขณะเดียวกันการกู้เงินโดยภาครัฐเพื่อใช้ช่วยเหลือคนสูงวัย ก็จะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มมากขึ้น เป็นภาระให้กับคนรุ่นใหม่ที่กําลังทํางานอยู่ที่ต้องชำระคืนหนี้เหล่านี้ในอนาคต ซึ่งอาจสร้างความขัดแย้งหรือความตึงเครียดในสังคมตามมา

ประเด็นหลังนี้สําคัญเพราะคนสูงวัยในประเทศขณะนี้เป็นกลุ่มคนที่รํ่ารวยสุด และเป็นเจ้าของทรัพย์สินมากสุดของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน หุ้น เงินฝาก เพราะเริ่มต้นก่อน เพียงแต่ความมั่งคั่งของกลุ่มคนสูงวัยกระจุกตัว ไม่กระจาย ซึ่งก็คือปัญหาความเหลื่อมลํ้าที่ประเทศมี คําถามจึงมีว่าทําไมคนในวัยทํางานขณะนี้ที่มีสินทรัพย์น้อยและกําลังสร้างตัวต้องเสียภาษี เพื่อเอาเงินไปเลี้ยงดูคนสูงวัยที่มีทรัพย์สินมาก นี่คืออีกมิติของความเหลื่อมลํ้าที่จะมากับสังคมสูงวัยทําให้การทํานโยบายจะต้องระมัดระวังมากๆ เพราะถ้าทําไม่ดี ไม่มีเหตุผล ก็จะสร้างความเสี่ยงต่อทั้งเสถียรภาพเศรษฐกิจและเสถียรภาพของสังคม

สาม คนในวัยทํางานซึ่งก็คือกําลังแรงงานของประเทศขณะนี้ที่จำนวนกําลังลดลงเพราะสังคมสูงวัย คนเหล่านี้จะเหนื่อยมากกับภาระทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในช่วง 10-25 ปีข้างหน้า ไหนจะต้องดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัวให้อยู่รอดในเศรษฐกิจที่ขยายตัวตํ่า ต้องเลี้ยงดูคนสูงวัยในครอบครัวหรือญาติพี่น้อง ต้องรับภาระหนี้สาธารณะที่รัฐบาลก่อนๆ โดยคนสูงวัยทิ้งไว้ให้ ขณะเดียวกันก็ต้องเก่งมากพอที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่อเนื่อง ให้ประเทศมีรายได้เพียงพอที่จะใช้จ่ายเพื่อดูแลสังคมสูงวัย และสำคัญสุดคือรักษาความเป็นประเทศเอาไว้ ไม่ให้พลาดพลั้งตกเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจให้กับประเทศที่รวยกว่าที่มักฉวยโอกาส คือจะซื้อทุกอย่างเหตุเพราะนโยบายแก้ปัญหาของเราผิดผลาดหรือมองสั้น นี่คือความรับผิดชอบของคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยทำงานขณะนี้

ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เราจึงเห็นการวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือกับสังคมสูงวัยแบบสุดๆ แต่เนิ่นๆ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล และเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตภาพหรือความสามารถในการผลิตให้กับประเทศ ยกระดับทักษะและความสามารถของแรงงานรวมถึงของคนสูงวัย เพื่อให้สามารถทํางานได้นานขึ้นเพื่อลดภาระที่จะมีต่อสังคม พัฒนาระบบประกันสุขภาพแบบร่วมจ่ายที่เน้นการดูแลรักษาสุขภาพ และระมัดระวังเรื่องการนําเข้าแรงงาน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือนักลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนทุนและแรงงาน เพราะอาจสร้างความเสี่ยงต่อโอกาสทางเศรษฐกิจของคนในประเทศ ความเสี่ยงต่อวัฒนธรรมและความมั่นคงของประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่ต้องการนโยบายของประเทศที่คิดได้ดี ชัดเจน จริงจัง และมองประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง

นี่คือภาระมหาศาลของคนไทยในวัยทํางานขณะนี้ทั้งในภาครัฐและเอกชนที่ต้องทำให้ได้ ทำให้ดี และทําให้สําเร็จเพื่ออนาคตและการอยู่ต่ออย่างสง่างามของประเทศ ขณะเดียวกันคนรุ่นเก่าที่สูงวัยก็ไม่ใช่จะหมดหน้าที่ แต่มีภาระที่ต้องช่วยเหลือสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นกําลังแรงงานของประเทศขณะนี้ทําหน้าที่ของพวกเขาให้ได้อย่างสําเร็จ ไม่ใช่ไม่สนใจ หรือจ้องแต่จะจับผิด หรือต่างคนต่างอยู่ เพราะอนาคตของพวกเขาคืออนาคตของประเทศ คืออนาคตของลูกหลาน

นี่คือประเด็นที่อยากฝากไว้ให้คิด

เขียนให้คิด

ดร บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]

เพิ่มเพื่อน