'บางกอกแอร์เวย์ส' ลุยศึกษาซีเพลนรับนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักเที่ยวสมุย

“บางกอกแอร์เวย์ส” เตรียมศึกษาสนามบินน้ำรองรับซีเพลน -ร่วมประมูลท่าเทียบเรือสำราญ เชื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ ลูกค้าคนไทยกระเป๋าหนักพร้อมเข้ามาใช้บริการ มั่นใจสร้างทางด่วนเชื่อมสมุย ไม่กระทบผู้โดยสารสนามบิน

17 มิ.ย. 2567 -นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยาน และการขนส่งทางอากาศ โดยเฉพาะการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล(Seaplane) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยอยู่ระหว่างเตรียมศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสนามบินน้ำบนพื้นที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อรองรับการเปิดบริการธุรกิจซีเพลนในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง ที่จะสามารถเดินทางจากท่าอากาศยานสมุยไปยังเกาะในจังหวัดต่างๆ ได้ง่าย และรวดเร็วมากขึ้น อาทิ หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา ที่ปกติต้องใช้เวลาเดินทางจากสมุยโดยรถ และต่อเรือประมาณ 4-5 ชั่วโมง

นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการซีเพลนในประเทศไทยยังมีไม่มาก และส่วนใหญ่เครื่องบินที่จะนำมาให้บริการยังเป็นเครื่องบินขนาดเล็ก อาทิ เครื่องบิน Cessna รองรับผู้โดยสารได้ไม่ถึง 20 คน ยังไม่มีเครื่องบินขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามการพัฒนาสนามบิน เพื่อรองรับซีเพลนเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่จากผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว ปัจจุบันท่าอากาศยานสมุย มีผู้ใช้บริการสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อปี 62 แล้ว โดยขาเข้าประมาณ 1 ล้านคนต่อปี ขาออก 1 ล้านคนต่อปี และพร้อมผลักดันให้เป็นขาเข้า 2 ล้านคนต่อปี และขาออก 2 ล้านคนต่อปี ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี สำหรับสมุยเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการให้บริการของบางกอกแอร์เวย์ส ยอดจองบัตรโดยสารล่วงหน้าอยู่ที่ประมาณ 65% ของเส้นทางทั้งหมด ปี 67 ตั้งเป้าหมายภาพรวมเติบโต 10% ขนส่งผู้โดยสารประมาณ 4.5 ล้านคน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การก่อสร้างทางพิเศษ(ด่วน) เชื่อมเกาะสมุย ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผู้โดยสารท่าอากาศยานสมุยหรือไม่ นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า เบื้องต้นไม่น่าจะส่งผลกระทบใดๆ ซึ่งลักษณะการใช้งานสะพานน่าจะรองรับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ ที่จะทำให้เดินทางเข้าออกสมุยได้สะดวกขึ้นมากกว่า และคนที่จะใช้สะพานน่าจะอาศัยอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ขณะที่ผู้ที่ใช้บริการท่าอากาศยานสมุย ส่วนใหญ่จะบินตรงมาจากกรุงเทพฯ หรือประเทศต่างๆ จึงน่าจะไม่กระทบกับปริมาณผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังเตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ของกรมเจ้าท่า(จท.) เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ และบริษัทฯ ไม่เคยดำเนินการมาก่อน แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสที่ จท. เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ก็ควรจะลองศึกษาฯ และดำเนินการ เชื่อว่าเป็นโครงการที่จะได้รับความสนใจจากนักลงทุน และเอกชน ซึ่งจากข้อมูลที่ทราบพบว่า ปริมาณเรือสำราญที่เข้ามาประเทศไทยก็เติบโตขึ้นทุกปี.

เพิ่มเพื่อน