“คลัง” เผยถกเบื้องต้น “แบงก์ชาติ” หวังคลายล็อกเกณฑ์เข้าถึงสินเชื่อ-ล้างประวัติหนี้เสียโควิด ติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโร 4 ล้านราย ปลดล็อก “ออมสิน” ลุยภารกิจช่วยเหลือสังคม พร้อมเร่งหามาตรการปั๊มรายได้เพิ่ม
17 มิ.ย. 2567 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ได้มีการพูดคุยเบื้องต้นกับ ธปท. ถึงแนวทางในการผ่อนคลายเกณฑ์ในการเข้าถึงสินเชื่อ และหลาย ๆ เรื่อง เช่น การเข้าสู่สภาวะการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องเครดิตบูโร ที่อยากให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากปัจจุบันการตัดหนี้เสียของสถาบันการเงินจะต้องใช้เวลา 5 ปี และถูกเก็บประวัติไว้ที่เครดิตบูโรอีก 3 ปี เป็นตัดหนี้เสีย 3 ปี และเก็บประวัติไว้ 3 ปี เนื่องจากประชาชนที่เป็น NPL ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนกลายเป็นลูกหนี้รหัส 21 ซึ่งมีอยู่ราว 4 ล้านราย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ซึ่ง ธปท. ก็รับโจทย์เรื่องนี้ไป และจะต้องมีการหารือกันต่อ ซึ่งยอมรับว่าอาจจะไม่ได้ข้อสรุปในทันที โดยต้องมาทยอยดูรายละเอียดกัน แต่ยืนยันจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นไว้แล้วหลายมาตรการ แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสรุป จึงไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ โดยต้องยอมรับว่าตอนนี้เศรษฐกิจไทยไม่ดี เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายรู้ดีอยู่แล้ว สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1/2567 ที่ออกมาค่อนข้างต่ำเพียง 1.5% ขณะเดียวกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2567 ลงเหลือ 2.4-2.5% เท่านั้น
โดยขณะนี้มี 3 กลไกที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ การเร่งรัดการเบิกจ่าย การท่องเที่ยว และการเร่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งหากคำนวณตามสูตรแล้ว เชื่อว่า 3 กลไกดังกล่าวจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ให้ขยายตัวได้ราว 0.6% ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้จีดีพีปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3% ได้ เนื่องจากโครงการ Digital Wallet ยังไม่มา
ส่วนแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ ยังมีการหารือกันอย่างต่อเนื่องกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงการคลังยังเชื่อว่าการจัดเก็บรายได้จะพลาดเป้าไม่มากนัก ไม่มีนัยยะสำคัญแต่อย่างใด โดยทุกอย่างยังอยู่ในกรอบและกลไกของรัฐที่จะสามารถดูแลและบริหารจัดการได้ในระดับปกติ ขณะที่กลไกในการหารายได้เพิ่มนั้น กระทรวงการคลังก็มีการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง บนเงื่อนไขว่าจะต้องไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน
นอกจากนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีสภาพคล่องอยู่ราว 24 ล้านล้านบาท อยู่ในระบบจริงไม่เกิน 18 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นทุนสำรองตามกฎหมาย ดังนั้นอาจจะต้องมาดูว่าจะมีมาตรการอย่างไรเพื่อเข้ามากระตุ้น และขับเคลื่อนเพื่อให้เม็ดเงินเหล่านี้ลงสู่ระบบได้มากขึ้น โดยตอนนี้มี 2 มุม คือ 1.ดำเนินการผ่านอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ 2. ดำเนินการผ่านการสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อให้มากขึ้น สามารถทำได้ผ่านธนาคารออมสิน ซึ่งก่อนหน้านี้คลังได้เห็นชอบการปรับระบบการให้ผลตอบแทนตามระบบประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยเปลี่ยนออมสินจากกประเภทจัดสรรโบนัสให้พนักงานได้เมื่อมีกำไรเพื่อการจัดสรรโบนัส (กลุ่มที่ 2) ไปเป็นประเภทที่ใช้ระบบแรงจูงใจด้านโบนัสพนักงานที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น การดำเนินการตามนโยบายรัฐ การช่วยเหลือประชาชน (กลุ่ม 6) ก็จะทำให้ออมสินมีความคล่องตัวมากขึ้นในการเข้ามาช่วยเหลือประชาชน
“มุมเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ แบงก์รัฐอย่างออมสินทำได้ และคลังไม่ได้ห่วงเรื่องเงินนำส่งที่จะลดลง แต่มองเรื่องประชาชนเป็นหลัก เรื่องนี้จะเป็นผลดีกับประชาชนจำนวนมาก เรื่องเงินนำส่งที่ลดลงจึงนำมาเทียบไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้ทำให้กลไกแบงก์รัฐสามารถเข้ามาขับเคลื่อนเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็ต้องเป็ฯไปตามกลไกการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” นายจุลพันธ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ 'คุณสู้ เราช่วย' เปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ ลงทะเบียน
รัฐบาล เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” พร้อมเปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อลงทะเบียน ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ
'เจ๊ไหม' จี้ถามปฏิรูปภาษี-ล้วงทุนสำรอง 'จุลพันธ์' ยก OECD ที่ไทยจะเข้าเป็นสมาชิกเป็นต้นแบบ!
'ศิริกัญญา' จี้ถาม 'ปฏิรูประบบภาษี' บอก ฟังแล้วเหนื่อยไม่มีเป้าหมาย 'จุลพันธ์' แย้งบอกเป็นแนวทางศึกษา ระบุ 'ไม่มีโจทย์ ไม่มีเป้า ไม่มีธง' แค่เดินหน้าไป เหน็บเอาใจยากพอสมควร
ครม.เคาะแพ็กเกจใหญ่ช่วยเหลือ 'ลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอี'
ครม. อนุมัติชุดใหญ่! จัดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ผู้ประกอบการ SMEs มั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นแน่