โจทย์ยากรัฐบาล ทุนข้ามชาติไหลออก ตลาดทุนทรุด

ทุนข้ามชาติไหลออกโจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทยตลาดทุนทรุด ต้องสร้างความโปร่งใสข้อมูลทางการเงินบริษัทจดทะเบียน ยกมาตรฐานตลาดหุ้นไทยสู่ OECDเทคโนโลยีการผลิตเปลี่ยนเร็วภาคอุตสาหกรรมไทยปรับไม่ทัน นักลงทุนต่างชาติยังโยกเงินทุนโดยตรงและการลงทุนในตลาดการเงินออกจากไทยต่อเนื่อง สถานการณ์ระยะสั้นเฉพาะหน้ายังผันผวนจนกว่ามีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมตอบสนองต่อตลาดโลกดีขึ้นและ ระบอบประชาธิปไตยไทยมีเสถียรภาพ

16 มิ.ย. 2567 – นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ทุนข้ามชาติไหลออกเป็นโจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทย ปัญหาของไทยซับซ้อนและถูกซ้ำเติมอีกจากคดีการเมืองที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยแปลงทางการเมืองนอกวิถีประชาธิปไตยโดยอาศัยอำนาจตุลาการผนวกกำลังกับองค์กรอิสระ ธุรกิจอุตสาหกรรมไทยไม่สามารถปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีอุบัติใหม่ได้เร็วพอเพื่อสามารถตอบสนองตลาดโลกได้ดีกว่า คาดการณ์สถานการณ์ปิดกิจการในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีเดิมเพิ่มขึ้น คนงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้จะว่างงานมากขึ้น แต่อัตราการว่างงานโดยรวมจะยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ล่าสุดอยู่ที่ 1.01% เท่านั้น ชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์อยู่ที่ประมาณ 45-46 เพราะโดยภาพรวม เศรษฐกิจมีปัญหาขาดแคลนแรงงานจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

เงินทุนระยะสั้นในตลาดการเงินยังคงไหลออกต่อเนื่องในไตรมาสสองปีนี้ ทั้งปี 2566 เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ 14.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ตามการขายสุทธิในหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติและการไหลออกของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของนักลงทุนไทยเป็นสำคัญ การไหลออกของกลุ่มทุนข้ามชาติสัญชาติไทยสะท้อนความเข้มแข็งและเติบใหญ่เป็นทุนระดับโลกและระดับภูมิภาคมากขึ้น การขยับลงทุนนอกประเทศของทุนข้ามชาติสัญชาติไทยสร้างเครือข่ายการผลิตและการตลาดให้กับบริษัทเหล่านี้ ขณะที่สะท้อนความสูญเสียความน่าสนใจของประเทศไทยในฐานะฐานการผลิตและการส่งออกในสายตาทั้งบรรษัทข้ามชาติต่างชาติและบรรษัทข้ามชาติของไทยเอง
ไทยขาดความน่าสนใจในการดึงดูดการลงทุนเป็นปัญหาทั้งจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมือง เทคโนโลยีการผลิตเปลี่ยนเร็วภาคอุตสาหกรรมไทยปรับไม่ทันนักลงทุนต่างชาติยังโยกเงินทุนโดยตรงและการลงทุนในตลาดการเงินออกจากไทยต่อเนื่อง ปัญหาความถดถอยของความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกไทยยังอยู่อีกยาวนาน เนื่องจากการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมตอบสนองต่อตลาดโลกให้ดีขึ้นเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา และ ต้องอาศัยระบอบประชาธิปไตยและระบบการเมืองไทยที่มีเสถียรภาพ

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ ตลาดหุ้นไทยทรุดตัวต่อเนื่อง คือ ปัญหาความไม่โปร่งใสของข้อมูลทางการเงินและการกำกับดูแลตลาดทุนให้มีมาตรฐานธรรมาภิบาลที่สูงขึ้น การยกระดับความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลและการกำกับดูแลเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน รัฐบาลต้องเร่งพัฒนา ตลาดหลักทรัพย์และบริษัทลูกให้เป็นสถาบันตลาดทุนและองค์กรทางเศรษฐกิจตามมาตรฐานของประเทศ OECD ภายในปี พ.ศ. 2570 และ เป็นองค์กรที่มีความเชื่อมั่นสูงสุด และ เป็น Trusted Brand ของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้ง สาธารณชน ทำให้ ตลาดทุน เป็นประโยชน์ต่อทุกคน ทุกธุรกิจอุตสาหกรรม เป็นแหล่งของการระดมทุนและการลงทุนที่น่าเชื่อถือไว้วางใจ โดยมีการตั้งเป้าหมายในเรื่องอันดับความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นต่อตลาดหลักทรัพย์เทียบเท่ากับตลาดทุนในประเทศพัฒนาแล้วและเป็น ตลาดทุน หนี่งในสามอันดับแรกในเอเชียภายใน 10 ปีข้างหน้า ขยายฐานความรู้และทำให้ประชาชนโดยทั่วไปที่มีความพร้อมเปลี่ยนเป็นนักลงทุนในหลากหลายรูปแบบการลงทุนผ่านตลาดทุน สามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายขึ้น ทุกที่ ทุกเวลา

โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถเพิ่มนักลงทุนรายย่อยมากกว่า 8 ล้านคนในปี พ.ศ. 2572 และ เพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ ตลาดหลักทรัพย์ควรทำแผนงานเชิงรุกเพิ่มมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 50,000-80,000 ล้านบาทภายใน 2-3 ปีข้างหน้า เพิ่มสินทรัพย์เพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วยการส่งเสริมให้ ธุรกิจอุตสาหกรรม New Economy, Digital Economy, SMEs, StartUps และธุรกิจอุตสาหกรรมอันหลากหลายเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และ ระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน โดยตั้งเป้าหมายให้มีนำกิจการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปีละ 15-30 ราย ตลาดทุนเป็นกลไกในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกลไกสำคัญในการปรับเปลี่ยนระบบการเงินของประเทศจากระบบ Bank-based Financial System มาเป็นระบบ Market-based Financial System มากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุล ความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศในอนาคต

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวต่อว่า การที่อุตสาหกรรมไฮเทคไทยส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตประกอบสินค้าไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ฉะนั้น ยิ่งไม่มีความแน่นอนทางการเมืองเท่าไหร่ ยิ่งไม่มีเสถียรภาพมากเท่าไหร่ ยิ่งย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการเมืองดีกว่า การไม่มีมาตรการหรือนโยบายส่งเสริมให้เกิดกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบและไม่มีความสามารถในการดูดซับเทคโนโลยี (คุณภาพทรัพยากรมนุษย์) อัตรากำไรของธุรกิจอุตสาหกรรมลดลงอย่างต่อเนื่องจากเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้นรายได้จากการท่องเที่ยว (ส่งออกภาคบริการ) เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้ ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินบาทแข็งค่า แต่สิ่งนี้กลับทำให้ความสามารถในเชิงราคาของอุตสาหกรรมส่งออกถดถอยลง ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาก็ขาดการลงทุนในการเพิ่มผลิตภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และการลงทุนวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี สินค้าส่งออกไทยยังมีค่าดัชนีความซับซ้อนของสินค้าไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูง สินค้าส่งออกซับซ้อนสูง จะสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ได้สูงขึ้น สินค้าส่งออกไทยที่มีความซับซ้อนสูงส่วนใหญ่มักจะมีบรรษัทต่างชาติเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก

เพิ่มเพื่อน