‘จุลพันธ์’ โยน ‘พิชัย’ พิจารณาทบทวนกรอบเงินเฟ้อ พร้อมแจงยังไม่แน่นอน ดึง “กองทุนพยุงหุ้น” อุ้มตลาดทุนไทย ยันเตรียมเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นล็อตใหม่ หวังดันจีดีพีไทยปี 67 โตถึงฝันที่ 3% ยันโรงงานทยอยปิดตัวไม่กระทบแรงงานไทย เหตุบริษัทเปิดใหม่พรึ๊บดูดซับแรงงานฉลุย
14 มิ.ย. 2567 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดในการทบทวนกรอบเงินเฟ้อใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นหน้าที่ของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.การคลัง เป็นผู้พิจารณา ส่วนรายละเอียดตาง ๆ ยังไม่ทราบ และไม่สามารถตอบอะไรได้ จึงไม่อยากให้ทุกฝ่ายเร่งสรุปไปก่อน
“เป็นเรื่องของ รมว.การคลัง ที่จะดูเรื่องนี้ ส่วนตัวไม่ทราบรายละเอียดอะไร จึงยังตอบอะไรไม่ได้” รมช.การคลัง ระบุ
ทั้้งนี้ ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความจำเป็นในการนำ “กองทุนพยุงหุ้น” กลับมาใช้ เนื่องจากดัชนีตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง รมช.การคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มี แต่ก็เป็นเรื่องที่ยังไม่แน่นอน
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจุบัน ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา โดยกระทรวงการคลังได้เตรียมเสนอที่ประชุมคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีการประชุมในอีก 2 สัปดาห์หน้า พิจารณาเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพิ่มเติม ส่วนรายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้ อยากให้เรื่องผ่านการพิจารณาของคณะทำงานด้านเศรษฐกิจก่อน เพื่อให้มีความชัดเจนที่สุด โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่จะเร่งผลักดันออกมาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องนั้น จะช่วยกระตุ้นให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ขยายตัวได้ถึง 3%
โดยกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงเป้าหมายตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2567 ไว้ที่ 2.6% นั้น มองว่า เป็นการประเมินจากฐานข้อมูลเดียวกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ตัวเลขจึงออกมาอยู่ในระดับเดียวกันที่ 2.4-2.6% โดยยังไม่ได้มีการพิจารณามาตรการกระตุ้นใหม่ที่รัฐบาลได้เติมเข้าไป
“ตอนนี้เราพูดถึงระยะสั้นเป็นหลัก ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เร่งผลักดันมาแล้ว 3 เรื่อง ทั้งการเร่งรัดเบิกจ่าย การท่องเที่ยว และการลงทุน ส่วนมาตรการระยะยาวนั้นก็ต้องทำควบคู่กันไปด้วย โดยจะต้องมาพิจารณาเรื่องการเพิ่มจำนวนบุคลากรโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ขาดแคลน เช่น เซมิคอนดักซ์เตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) กลไกในเรื่องการท่องเที่ยว ตลอดจนเรื่องปาล์ม ซึ่งจะมีทั้งมาตรการระยะกลางและระยะยาว เพราะตอนนี้นักลงทุนต่างชาติกำลังไหลเข้ามาลงทุน แต่ว่าบุคคลากรของเราขาดแคลน ก็คงต้องมีการพูดคุยในเรื่องเหล่านี้ต่อไป โดยรัฐบาลมุ่งหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวก็จะมีผลดีในระยะยาวกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า กรณีที่บริษัทต่าง ๆ เริ่มมีการปิดกิจการและถอนการลงทุนออกไปนั้น ยอมรับว่ามีบ้าง ถือเป็นวงจรปกติของการทำธุรกิจ และยอมรับว่ามีผลกับแรงงานให้มีการตกงานตามมา แต่จากรายงานของกระทรวงแรงงานในช่วงที่ผ่านมา พบว่า แม้จะมีการปิดโรงงาน ปิดบริษัท แต่ก็ยังมีตลาดรองที่มาดูดซับแรงงานกลุ่มดังกล่าวไปหมดแล้ว ดังนั้นขณะนี้จึงยังไม่มีปัญหาตัวเลขการว่างงานที่ดีดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ดี หากไปดูตัวเลขจริงเรื่องการจัดตั้งบริษัท เทียบกับตัวเลขการขอยกเลิกกิจการ จะพบว่า ตัวเลขการจัดตั้งบริษัทยังเป็นบวก ไม่ได้ติดลบ ดังนั้นสะท้อนว่าตลาดแรงงานในปัจจุบันยังไม่ได้มีปัญหา เพราะยังมีบริษัทใหม่ ๆ ที่เปิดขึ้นมาและดูดซับแรงงานออกไป