‘บางกอกแอร์เวย์ส’ทุ่มงบ 2,300 ล้าน พัฒนา 2 สนามบิน ลุยเพิ่มเคาน์เตอร์เช็คอิน-พื้นที่พักคอย สนามบินสมุย คาดเสร็จปี 68 รับผู้โดยสารปีละ 2 ล้านคน ส่วน ’สนามบินตราด‘เร่งสร้างเทอร์มินัลใหม่-ขยายรันเวย์ คาดเปิดใช้กลางปี 69 หวังปั้นเป็น’อินเตอร์แอร์พอร์ต’คล้ายสมุย
13 มิ.ย.2567-นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2567-2569 บริษัทฯ มีแผนลงทุนพัฒนาศักยภาพการให้บริการสนามบิน 2 โครงการ วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2,300 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารของสนามบินสมุย วงเงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษา และเตรียมการขออนุญาต รวมถึงการออกแบบในรายละเอียดต่างๆ โดยคาดว่า จะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี แล้วเสร็จภายในปี 2568
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้วางแผนปรับปรุงสนามบินเพื่อเพิ่มจำนวนพื้นที่พักคอย (Boarding gate) ภายในอาคารผู้โดยสาร จากเดิม 7 อาคาร เพิ่มเป็น 11 อาคาร และเพิ่มเคาน์เตอร์เช็คอิน จำนวน 10 เคาน์เตอร์ รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วย โดยเมื่อโครงการปรับปรุงสนามบินสมุยฯ แล้วเสร็จ จะช่วยรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้สนามบินสมุยมีผู้โดยสารขาเข้าอยู่ที่ 2 ล้านคนต่อปี และขาออก 2 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันมีผู้โดยสารขาเข้าอยู่ที่ 1 ล้านคนต่อปี และขาออก 1 ล้านคนต่อปี
ขณะเดียวกัน การปรับปรุงสนามบินสมุยดังกล่าว จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองเที่ยวบินได้ 73 เที่ยวบินต่อวัน จากในปัจจุบันมีเที่ยวบินอยู่ที่ 50 เที่ยวบินต่อวัน สำหรับในขณะนี้ สนามบินสมุยมีจำนวนสายการบินที่เปิดให้บริการรวม 2 สายการบิน คือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และสายการบินสกู๊ต (วันละ 1 เที่ยวบิน และเตรียมเพิ่มเป็นวันละ 2 เที่ยวบินในเร็วๆ นี้) นอกจากนี้ ล่าสุดยังมีสายการบินของประเทศทิเบตสนใจเปิดเที่ยวบินมายังสนามสมุยด้วย ซึ่งตอนนี้ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แล้ว
นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า 2.โครงการพัฒนาสนามบินตราด วงเงินลงทุนประมาณ 700-800 ล้านบาท ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการฯ คาดว่า จะเริ่มดำเนินก่อสร้างต้นปี 2568 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 1-2 ปี แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงกลางปี 2569 ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะใช้พื้นที่ประมาณ 200-300 ไร่ จะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ อยู่ห่างจากพื้นที่สนามบินเดิมเล็กน้อย สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 200 กว่าคนต่อเที่ยวบิน จากปัจจุบันรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 100 คนต่อเที่ยวบิน ส่วนอาคารผู้โดยสารแห่งเดิม จะปรับปรุงเป็นอาคารคลังสินค้า (Cargo)
นอกจากนี้ สนามบินตราด จะดำเนินการขยายระยะทางวิ่ง (Runway) จาก 1,800 เมตร ขยายเป็น 2,000-2,100 เมตร เพื่อให้รองรับเครื่องบินไอพ่นขนาดเล็ก รวมถึงเครื่องบินโบอิ้ง 737, แอร์บัส เอ320, แอร์บัส เอ319 จากปัจจุบันรองรับได้แค่เครื่องบิน ATR72-600 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสนามบินตราดนั้น เนื่องจากบริษัทฯ เล็งเห็นถึงโอกาสในการเพิ่มศักยภาพของสนามบินตราดให้สามารถรองรับผู้โดยสารในเที่ยวบินที่เดินทางมาจากต่างประเทศได้ในอนาคต โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ติดต่อและสนใจที่จะเดินทางมายังสนามบินตราด พร้อมทั้งจะพัฒนาให้เป็นสนามบินนานาชาติ (International Airport) และคาดหวังจะพัฒนาให้คล้ายกับสนามบินสมุยด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะต้องมาพิจารณาถึงความเป็นไปได้ และความนิยมของผู้โดยสารต่อไป
นายพุฒิพงศ์ ยังกล่าวถึงเผยแผนการดำเนินงานช่วงครึ่งปีหลัง 2567 ว่า จากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ใน มิ.ย. 2567 คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของการเดินทางทางอากาศในปี 2567 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นที่ 17.2% และในปี 2567 อุตสาหกรรมการบินจะสามารถกลับมาสู่ระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ได้ แสดงให้เห็นถึงความต้องการเดินทางว่ามีแนวโน้มเติบโตได้ดี บริษัทฯ จึงได้วางกลยุทธ์การดำเนินงานในหลายมิติ เพื่อตอบสนองความต้องการในการเดินทางในช่วงที่จะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว
ทั้งนี้ จากยอดการสำรองที่นั่งบัตรโดยสารล่วงหน้า (Advance Booking) ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สในทุกเส้นทาง พบว่า ยอดจองล่วงหน้าช่วง มิ.ย. – ธ.ค. 2567 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปี 2566 ส่วนไตรมาส 2 มีการเติบโตขึ้น 3% และไตรมาส 3 ซึ่งถึงเป็นช่วงพีคซีซั่นของเส้นทางสมุย มีอัตราเติบโตขึ้น 11% โดยเส้นทางสมุยยังเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วน 65% ขณะที่ไตรมาส 4/2567 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมเดินทางช่วงวันหยุดยาวสิ้นปีนั้น มียอดการจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 35%
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2567 นั้น ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาภายในว่า จะมีการปรับเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ ผลมาจากจำนวนผู้โดยสารที่มีแนวโน้มที่ดี แต่ในเบื้องต้นยังคงเป้าหมายเดิมไว้ โดยจะมีผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน มีจำนวนเที่ยวบิน 48,000 เที่ยวบิน ขณะที่อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) อยู่ที่ 86% จากในช่วงไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 80 กว่า % และไตรมาส 2 อยู่ที่ 76-78% โดยมีเป้ารายได้ผู้โดยสารรวม 17,800 ล้านบาท จากราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวบินประมาณ 3,900 บาทต่อที่นั่ง
ทั้งนี้ ปัจจุบันสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มีเครื่องบินทั้งสิ้นจำนวน 24 ลำ แบ่งเป็น เครื่องบินแอร์บัส เอ320 จำนวน 3 ลำ, เครื่องบินแอร์บัส เอ319 จำนวน 11 ลำ และเครื่องบิน ATR72-600 จำนวน 10 ลำ โดยในปี 2567 มีแผนปลดระวางเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 จำนวน 1 ลำ และจะจัดหาเครื่องบินแอร์บัส เอ319 เพิ่มจำนวน 2 ลำ เพื่อเป็นการรองรับอุปสงค์การเดินทางที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น
ขณะเดียวกันในปีนี้ บริษัทฯ จะจัดทำเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และออกประกาศเชิญชวนผู้ผลิตเครื่องบินเข้าร่วมเสนอราคาเครื่องบินที่จะนำเข้าเพิ่มฝูงบินของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สในอนาคต โดยในเบื้องต้นมีความต้องการประมาณไม่ต่ำกว่า 20 ลำ อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะทยอยรับมอบเครื่องบินในจำนวนดังกล่าวภายใน 2-3 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้ในช่วง 3-5 ปีนี้ สายการบินบางกอกแอร์เวย์สมีเครื่องบินรวมประมาณ 30 ลำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อนุทิน' ลุย 'เกาะกูด' ยันของไทย ไม่มีวันยอมเสียดินแดนให้ใคร
'อนุทิน' ลงพื้นที่เกาะกูด ลั่นรัฐบาลนี้ไม่มีวันยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว พร้อมขอบคุณก๋งวัย 92 ปี ยืนยันเป็นของไทย 100%