จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ Subaru-Suzuki ประกาศหยุดสายการผลิตในไทย?

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา วงการยานยนต์ไทยมีเรื่องให้น่าตกใจอยู่ไม่น้อย จากการประกาศหยุดสายการผลิตในไทยของ 2 ค่ายรถยนต์ Subaru และ Suzuki เริ่มต้นเมื่อ 29 พ.ค. 2567 บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จำหน่ายรถยนต์ Subaru ได้เปิดเผยว่าจะหยุดสายการผลิตโรงงานในไทยสิ้นปี 2567 เนื่องจากบริษัทต้องเผชิญกับปัญหาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้รถยนต์ที่ผลิตออกมาไม่สามารถขายได้ในราคาที่เหมาะสม จึงเลือกที่จะปรับแผนไปนำเข้ารถจากญี่ปุ่นแบบทั้งคัน (CBU) เป็นการทดแทน

ผ่านไปสัปดาห์นิดๆ ก็มีข่าวสะเทือนอีกครั้ง เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2567 บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ได้เปิดเผยว่าจะหยุดสายการผลิตที่โรงงานไทยช่วงสิ้นปี 2568 โดย Suzuki จะนำเข้ารถยนต์จากอาเซียน ญี่ปุ่น อินเดีย มาทำตลาดในไทยแทน และยืนยันจะให้บริการหลังการขายต่อไป

 ในบทความนี้ Krungthai COMPASS อยากชวนผู้อ่านมาร่วมกันวิเคราะห์กันว่า ทำไมผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 2 ค่ายถึงตัดสินใจหยุดสายการผลิตในไทย พร้อมประเมิน ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยในแต่ละมิติว่าจะได้รับผลอย่างไรกันบ้าง

ทำไม ทั้ง 2 ค่ายรถยนต์ ถึงหยุดสายการผลิต?

Krungthai COMPASS มองว่าสาเหตุที่ทำให้ทั้ง Subaru และ Suzuki ตัดสินใจหยุดสายการผลิตในไทยมาจาก 1) การทำตลาดที่ยากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำมาสู่ 2) ปัญหาการขาดทุนที่สะสมอย่างต่อเนื่อง

ยอดขายและส่วนแบ่งตลาดที่ปรับตัวลงต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นถึง “การทำตลาดที่ยากขึ้นกว่าในอดีต” ข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นเทรนด์ได้ค่อนข้างชัดว่าค่ายรถยนต์ทั้ง 2 ราย มียอดขายในไทยที่อยู่ในขาลงอย่างต่อเนื่อง โดย Subaru มียอดขายในไทยที่ลดจาก 3,952 คัน (ส่วนแบ่งตลาด 0.4%) ในปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 1,682-2,282 คัน (0.2%-0.3%) ในช่วงปี 2565-66

ขณะที่ Suzuki ซึ่งเคยทำยอดขายสูงถึง 26,380 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 3.3% ในปี 2563 ก็ประสบปัญหายอดขายลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกันในรอบ 3 ปีหลัง โดย ในปี 2566 Suzuki มียอดขายที่ 12,151 คัน ลดลง -39.5%YoY และมีส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือเพียง 1.6%

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของผู้บริโภคที่หันมาให้ความนิยมทั้งรถยนต์พลังงานทางเลือกทั้ง HEV หรือ EV เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ผลิตทั้ง 2 ค่ายไม่สามารถ Maintain ยอดขายและส่วนแบ่งตลาดได้เหมือนในอดีต เห็นได้จาก ผลการสำรวจเรื่อง Global Automotive Consumer Study ของ Deloitte ทั้งในปี 2566 และล่าสุดปี 2567 ที่ระบุว่าผู้บริโภคไทยให้ความสนใจรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อหันกลับมามองโมเดลรถยนต์ที่ทั้ง Subaru และ Suzuki ใช้ทำตลาดในไทยนั้นพบว่าล้วนมีแต่รถยนต์ ICE แทบทั้งนั้น จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ในระยะหลังทั้ง 2 ค่ายจะทำตลาดในไทยได้ค่อนข้างยาก

เมื่อยอดขายลดลง แต่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายปรับลงตามไม่ทัน ทำให้ใน 5 ปีหลัง (2562-66) ค่ายรถยนต์ทั้ง 2 ต้องขาดทุนสะสมรวมกันถึง 3,781 ล้านบาท โดย สำหรับ Subaru พบว่า บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทำหน้าที่ดูแลด้านการขาย และ บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานที่ดูแลด้านการผลิตมีผลการดำเนินงานในรอบ 5 ปีหลังสุดที่ขาดสุทธิสะสม -272 และ -1,757 ล้านบาท ด้าน Suzuki พบว่า บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีผลขาดทุนสะสมในช่วงเดียวกัน -1,752 ล้านบาท

โดยสรุปแล้ว เรามองว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทั้ง 2 ค่ายต้องหยุดสายการผลิตในไทยมีสาเหตุมาจากยอดขายและส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงอย่างมีนัย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการรถยนต์ ICE น้อยลง และหันมานิยม HEV หรือ EV กันมากขึ้น ทำให้บริษัทมีปัญหาด้านผลการดำเนินงานจากผลขาดทุนสุทธิสะสมในรอบ 5 ปีหลังสุด

การหยุดสายผลิตของ Subaru และ Suzuki กับผลกระทบต่ออุตฯ ยานยนต์ไทย

ในส่วนนี้เราได้ทำการวิเคราะห์ว่าจากการประกาศหยุดสายการผลิตของ 2 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง Subaru และ Suzuki จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างไร โดยแบ่งเป็น 3 มิติ ได้แก่ 1. ยอดการผลิตรถยนต์ของไทย  2. ธุรกิจตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) 3. ธุรกิจเต็นท์รถยนต์มือ 2

1.ผลกระทบต่อ“ยอดผลิตรถยนต์”

1.1 แนวโน้มการผลิตรถยนต์ของไทยใน 1-2 ปีนี้เป็นอย่างไร?

Krungthai COMPASS มีมุมมองต่อยอดการผลิตรถยนต์ไทยในปี 2567 ว่ามีโอกาสหดตัว -4.6%YoY มาอยู่ที่ 1.75 ล้านคัน ติดลบต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยภาพรวมยอดการผลิตรถยนต์ของไทยที่ไม่สู้ดีนักในช่วงปี 2566-67 มีสาเหตุหลักมาจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ถูกกดดันทั้งจาก 1) กำลังซื้อที่อ่อนแอจากเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับต่ำ บวกกับ 2) ปัญหาหนี้เสียที่กดดันให้มาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อมีความเข้มงวดขึ้น เห็นได้ชัดจากแนวโน้มยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องจาก 8.5 แสนคันในปี 2565 มาอยู่ที่ 7.8 แสนคันในปี 2566 (-8.7%YoY) และคาดว่าจะลดลงอีกครั้งมาอยู่ที่ระดับ 6.3 แสนคันในปี 2567 (-18.8%YoY)

ส่วนอีกปัจจัยหนึ่ง ก็คือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ทยอยเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ และได้ชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ที่ผลิตในไทย สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์ BEV ในไทยที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน เริ่มมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจาก 2% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมดในปี 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ 10% ในช่วงเดือน ม.ค.- เม.ย.2567

จาก 2 ปัจจัยกดดัน ทั้งยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ชะลอลง และรถยนต์ BEV ที่เข้ามาตีตลาดในไทยมากขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ยอดผลิตรถยนต์ของไทยมีแนวโน้มหดตัว จาก 1.83 ล้านคันในปีที่ผ่านมา เหลือ 1.75 ล้านคันในปี 2567 หรือหายไปราว 8 หมื่นคัน และกว่ายอดผลิตรถยนต์ของไทยจะกลับมาที่ระดับ 2 ล้านคันอีกครั้งอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี

1.2. แล้วการหยุดสายการผลิต ของ  Subaru และ Suzuki กระทบการผลิตยานยนต์ไทยแค่ไหน?

Krungthai COMPASS คาดว่าการหยุดสายผลิตรถยนต์ของทั้ง 2 ค่าย จะเป็น Downside Risk ที่ค่อนข้างจำกัดต่อยอดการผลิตรถยนต์ไทยโดยภาพรวมในปี 2568 จากการประเมินเบื้องต้น (Initial Assessment) คาดว่าการหยุดสายผลิตของทั้ง 2 ค่ายจะทำให้การผลิตโดยรวมในปี 2568 ลดลงราว 5,000-6,500 คัน จาก 1,800,000 คันในคาดการณ์เดิม เหลือ 1,793,500 คัน

สำหรับการหยุดสายการผลิตของ Subaru คาดว่าอาจสร้าง Downside ต่อยอดการผลิตรถยนต์ของไทยไม่สูงนัก เนื่องจากโรงงาน Subaru ในไทยผลิตรุ่น Forester เพียงรุ่นเดียว และมีการผลิตเพียงปีละ 1,000-1,500 คัน ส่วนรุ่นอื่น ๆ เช่น XV จะเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่าย ดังนั้นการหยุดสายการผลิตของ Subaru อาจไม่ส่งผลต่อภาพรวมการผลิตรถยนต์ไทยอย่างมีนัยสำคัญ

ในกรณี Suzuki พบว่าอาจทำให้การผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2568 หายไป 4,000-5,000 คัน โดย เรามีสมมติฐานว่า 1. ในระยะหลัง Suzuki จะมีการผลิตในไทยราวปีละ 8,000-10,000 คัน (ใกล้เคียงยอดผลิตในปี 2566 ที่ 7,579 คัน ) และ 2. ประเมินว่าในปี 2568 Suzuki จะใช้ CAPU ครึ่งหนึ่งจากปัจจุบัน เพื่อเตรียมหยุดสายการผลิต ณ สิ้นปี

แม้เหตุการณ์นี้จะกระทบภาพรวมยอดผลิตรถยนต์ของไทยไม่มาก แต่ยังต้องติดตามว่าเหตุการณ์นี้จะมีค่ายรถยนต์รายอื่นๆ ต้องปิดโรงงานผลิตรถยนต์ซ้ำรอยกับ Subaru และ Suzuki หรือไม่

2.ผลกระทบต่อ “ดีลเลอร์รถยนต์”

การขายรถยนต์ถือเป็นรายได้หลักของดีลเลอร์คิดเป็นสัดส่วน 84%  ของรายได้ทั้งหมดจึงมีความเสี่ยงที่รายได้ของดีลเลอร์ทั้ง 2 ค่ายรถยนต์อาจถูกกดดันหากการนำเข้าไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยสัดส่วนรายได้ที่รองลงมา ได้แก่ การซ่อมบำรุงราว 12% และรายได้อื่นๆ 4% ซึ่งจากสัดส่วนดังกล่าว Krungthai COMPASS มองว่าเป็นความท้าทายอย่างมากของดีลเลอร์ Subaru และ Suzuki ว่าการหยุดสายการผลิตและหันมานำเข้านั้นจะกระทบกับดีมานด์และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อทั้ง 2 ค่ายรถยนต์มากน้อยแค่ไหน?

นอกจากผลด้านรายได้แล้ว ยังมีผลกระทบด้านต้นทุนด้วยเช่นกัน เนื่องจากโครงสร้างต้นทุนที่มีสัดส่วน Fixed Cost ถึง 15-20%3 การทำกำไรของดีลเลอร์จึงอาจมีปัญหาได้หากรายได้จากการขายรถยนต์นั้นปรับตัวลงรุนแรง โดย ต้นทุนธุรกิจดีลเลอร์สามารถแบ่งได้ 2 แบบ คือ 1. ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) ที่เปลี่ยนแปลงตามยอดขายรถยนต์ ซึ่งมีสัดส่วน 80-85% จากต้นทุนรวม และ 2. ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามยอดขายรถยนต์ อาทิ ต้นทุนซื้ออะไหล่และวัสดุสิ้นเปลืองสำหรับการบำรุงรักษารถยนต์ เงินเดือนพนักงาน หรือค่าเช่าสถานที่ ซึ่งมีสัดส่วน 15-20%

ตัวเลือกของดีลเลอร์อาจเป็นไปได้ทั้งการดำเนินการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ให้ทั้ง 2 ค่ายต่อไป หรือ Diversify ไปเป็นดีลเลอร์ให้กับยานยนต์ค่ายอื่นๆ

3.ผลกระทบต่อ “เต็นท์รถมือ 2”

อีกประเด็นที่ต้องติดตาม คือ “เต็นท์รถยนต์มือ 2” จะได้รับผลกระทบแค่ไหนจากการหยุดสายการผลิตของ Subaru และ Suzuki โดยเฉพาะเมื่อผู้ผลิตปรับราคามือ 1 ลงเพื่อเร่งระบายสต็อก เนื่องจากมีเต็นท์จำนวนไม่น้อยที่รับซื้อรถยนต์ Subaru และ Suzuki มือ 2 ไว้ก่อนแล้ว การที่ผู้ผลิตปรับลดราคามือ 1 ลงก็จะยิ่งกดดันให้เต็นท์รถต้องปรับราคาลงเพื่อระบายของออกซึ่งอาจนำไปสู่กำไรที่แย่ลงก็ย่อมได้

ปัจจุบันคาดว่าเต็นท์รถยนต์มือ 2 โดยเฉลี่ยจะมีสัดส่วนของรถ Subaru 0.5% และ Suzuki 2.8% จากทุกยี่ห้อ เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือถ้าเต็นท์รถมีรถยนต์ในสต็อกอยู่ 1,000 คัน โดยเฉลี่ยจะมีรถยนต์ Subaru 5 คัน และ Suzuki 28 คัน โดยจาก 0.5% ที่เป็นรถยนต์ Subaru พบว่าเป็นโมเดลที่ผู้ผลิตเริ่มทำโปรโมชั่นลดราคาลงอย่าง XV และ Forester ในสัดส่วนมากสุดที่ 52% และ 29% ขณะที่ 2.8% ของรถยนต์ Suzuki พบว่า Swift มีสัดส่วนสูงสุด 41% ตามมาด้วย Ciaz 18% ส่วนรุ่นที่มีการทำโปรโมชั่นปรับราคาลงอยู่อย่าง Celerio มีสัดส่วนที่ 10%

คำถามที่น่าสนใจ คือ “จะเกิดอะไรขึ้น หากเต็นท์รถยนต์จะต้องปรับลดราคาขาย Subaru และ Suzuki มือ 2 ของตนเองเพื่อสู้กับราคามือ 1 ที่ลดลงมา?” โดย Krungthai COMPASS ได้แบ่งการวิเคราะห์ผลกระทบต่อการทำกำไรของเต็นท์รถยนต์มือ 2 ออกเป็น 2 กรณี ประกอบด้วย

1. หากเต็นท์รถยนต์ลดราคาขาย Subaru และ Suzuki มือ 2 ลงเท่ากับราคามือ 1 คาดว่าจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลง -0.7% ถึง -0.4% ในกรณีนี้หากเต็นท์รถยนต์มีการถือครองรถยนต์ทั้ง 2 ยี่ห้อในสัดส่วนรวมกันเท่ากับค่าเฉลี่ยประเทศที่ 3.3% (Baseline) การปรับราคาขายมือ 2 ลงจะทำให้ธุรกิจเต็นท์รถมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลง -0.4% จาก 13.3% มาอยู่ที่ 12.9%

ทั้งนี้ หากเต็นท์รถมีสัดส่วนการถือครองที่ 6.5% หรือมากกว่าค่าเฉลี่ย 2 เท่า (More Severe) อัตรากำไรขั้นต้นจะมีแนวโน้มลดลงมากกว่าที่ -0.7% จาก 13.3% มาอยู่ที่ 12.6%

2. เต็นท์รถยนต์ลดราคาขาย Subaru และ Suzuki มือ 2 ลงมากกว่าราคามือ 1 ที่ปรับลงมาอีกเท่าตัว คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะลดลง -1.4% ถึง -0.7% ในกรณีนี้ตั้งสมมติฐานว่าความนิยมในรถยนต์ทั้ง 2 ยี่ห้อของผู้บริโภคถูกท้าทายอย่างมากจากการปิดสายการผลิต เต็นท์รถจึงต้องปรับลดราคามือ 2 อย่างมากเพื่อระบายสินค้า

ในกรณีนี้หากเต็นท์รถยนต์มีการถือครองรถยนต์ทั้ง 2 ยี่ห้อในสัดส่วนรวมกันเท่ากับค่าเฉลี่ยประเทศที่ 3.3% (Baseline) การปรับราคาขายมือ 2 ลงจะทำให้ธุรกิจเต็นท์รถมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลง -0.7% มาอยู่ที่ 12.6% แต่หากเต็นท์รถมีสัดส่วนการถือครองที่ 6.5% หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยราว 2 เท่า (More Severe) อัตรากำไรขั้นต้นลดลงมากกว่าที่ -1.4% มาอยู่ที่ 11.9%

แม้การปรับลดราคามือ 2 ลงอาจทำให้เต็นท์รถมีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำลงเพียง -1.4% ถึง -0.4% ซึ่งอาจดูไม่เยอะนักเมื่อเทียบกับอัตรากำไรขั้นต้นที่ 13.3% แต่อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าเต็นท์รถนั้นเป็นธุรกิจที่กำไรค่อนข้างบางสะท้อนจากอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยที่ 1.2% ดังนั้น หากเต็นท์รถรายใดไม่สามารถปรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้ลดลงได้ตามกำไรขั้นต้นที่หายไปก็อาจมีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาขาดทุนจากราคารถยนต์มือ 2 ที่ลดลงได้

ประเด็นที่ต้องจับตา ในระยะถัดไป

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย: อาจต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเข้ามาของรถยนต์ BEV ที่ทยอยแทนที่รถยนต์ ICE มากขึ้นเรื่อย ๆ การปิดโรงงานผลิตรถยนต์ของค่าย Subaru และ Suzuki คือสัญญาณแรกที่เตือนว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้าเป็นวงกว้างมากขึ้น

ผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมดำเนินธุรกิจได้อย่างยากลำบากมากขึ้น การแข่งขันในตลาดรถยนต์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จากการที่ผู้นำตลาดรถยนต์ BEV โดยเฉพาะจากจีน เช่น BYD GWM เข้ามาตีทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกของไทย โดยนำเสนอรถยนต์ BEV ที่มีคุณภาพสูงในราคาที่แข่งขันได้ ขณะที่ Tesla และแบรนด์รถยนต์ BEV ระดับโลกอื่น ๆ ได้ขยายตลาดเข้ามาในไทยเช่นกัน รวมทั้ง ภาวะสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีสินค้าจีนซึ่งรวมรถยนต์ BEV อยู่ด้วย อาจทำให้จีนต้องหาตลาดส่งออกอื่นแทน ก็เป็นประเด็นที่อาจทำให้การแข่งขันตลาดรถยนต์ในไทยยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

โดยผลกระทบครั้งนี้ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้น แต่จะกระทบไปถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ICE ซึ่งมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากโครงสร้างการผลิตและความต้องการชิ้นส่วนของรถยนต์ BEV เปลี่ยนไปจากรถยนต์ ICE อย่างสิ้นเชิง โดยการผลิตรถยนต์ BEV 1 คัน จะใช้ชิ้นส่วนฯ เพียง 2-3 พันชิ้นเท่านั้น ซึ่งลดลงจากการผลิตรถยนต์สันดาปภายในมากถึง 10 เท่า ชิ้นส่วนฯ ที่หายไป อาทิ เครื่องยนต์ ท่อไอเสีย หัวฉีด การเติบโตของตลาดรถยนต์ BEV จึงกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่นเดียวกับธุรกิจปลายน้ำ อาทิ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์แบบดั้งเดิมหากปรับตัวไม่ทันอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดได้ ในขณะเดียวกัน อาจเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการที่สามารถเตรียมพร้อมและปรับตัวให้สอดรับกับการเติบโตของตลาดรถยนต์ BEV

ในมิติของผู้บริโภค แม้ค่าย Subaru และ Suzuki จะออกมาชี้แจงว่าการปิดโรงงานเป็นเพียงการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ และยืนยันว่าจะยังทำตลาดในไทยเหมือนเดิม โดยปรับแผนธุรกิจด้วยการนำเข้ารถยนต์จากโรงงานในอาเซียน ญี่ปุ่น อินเดียแทน แต่ในมุมมองของผู้บริโภคอาจรู้สึกถึงความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในด้านบริการหลังการขายและซ่อมบำรุง  รวมถึงราคาขายต่อรถยนต์มือ 2 ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องติดตาม คือ ราคารถยนต์ ที่มีโอกาสปรับขึ้นตามโครงสร้างภาษีนำเข้า การนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศมาขายทั้งคัน (CBU) อาจทำให้ราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับราคาขายที่ประเทศต้นทาง โดยเฉพาะการนำเข้าจากประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งมีโอกาสทำให้รถยนต์นำเข้าอาจต้องเสียภาษีสูงถึง 95% ของราคารถยนต์ C.I.F.4  นั่นหมายความว่า ลูกค้าอาจต้องใช้เงินสูงถึงเกือบเท่าตัวของราคาจำหน่ายที่ประเทศต้นทาง เพื่อซื้อรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าจับตามองเนื่องจากมีโอกาสกระทบต่อการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค และมีโอกาสกระทบต่อยอดขายรถยนต์ของทั้ง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

VRANDA เตรียมยุติกิจการร้านขนมหวานแบรนด์ GRAM - PABLO หลังขาดทุนหนัก

VRANDA เตรียมยุติกิจการร้านขนมหวานแบรนด์ “GRAM Pancakes และ PABLO Cheese tart” หลังปัจจัยลบฉุดปี 2566 ขาดทุน 24 ล้านบาท ลุยเพิ่มพอร์ต “โรงแรม” รับท่องเที่ยวฟื้น

กลุ่มศิลปินกลางคืน เยี่ยมนายกฯ ขอบคุณ ก.แรงงาน เร่งเยียวยาพี่น้องคนบันเทิง

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำกลุ่มคนบันเทิงกลางคืน นักดนตรี ศิลปิน ประกอบไปด้วย ช. อ้น ณ บางช้าง