เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนพ.ค. 2567 บวก 1.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนับเป็นการบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และสูงสุดในรอบ 13 เดือน โดยเป็นผลมาจากหมวดค่าไฟที่เพิ่มขึ้น จากผลของฐานราคาที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าตามมาตรการช่วยเหลือลดค่าไฟของภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว รวมถึงราคาน้ำมันในประเทศมีการปรับขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกประกอบกับมีการทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ
8 มิ.ย. 2567 – ขณะเดียวกันราคาผักผลไม้สดและไข่ไก่ปรับสูงขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง หากหักราคาอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนพ.ค. 2567 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าโดยอยู่ที่ 0.39% สะท้อนว่าการปรับขึ้นของเงินเฟ้อเป็นผลจากราคาพลังงานและสินค้าเกษตรเป็นหลัก ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากอุปสงค์ในประเทศยังมีจำกัด โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ -0.13% และเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 0.42%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปีกลับสู่กรอบเป้าหมายของกนง. ที่ 1-3% โดยยังคงประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2567 ที่ 0.8% ทั้งนี้ คาดว่าเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย. จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนพ.ค. เนื่องจากผลจากฐานต่ำของค่าไฟคงลดลง ประกอบกับมีการตรึงค่าไฟต่อเนื่องที่ 4.18 บาท/ หน่วยในเดือนพ.ค.-ส.ค. นอกจากนี้ ราคาผักผลไม้มีแนวโน้มปรับลดลงหลังสิ้นสุดสภาพอากาศร้อนจัดและเข้าสู่ฤดูฝน ขณะที่เมื่อมองไปในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 1.0% ในไตรมาส 3/2567 และอาจเร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ราว 2.0% ในไตรมาส 4/2567 ตามปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้า ประกอบกับภาครัฐมีการทยอยลอยตัวราคาพลังงานในประเทศท่ามกลางภาระหนี้กองทุนน้ำมันและกฟผ. ที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้แรงกดดันให้กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายคงจะมีน้อยลง