'จุลพันธ์' ยันไม่หนักใจ7เดือนจัดเก็บวืดเป้า ปัดข่าวโยกอธิบดีกรมภาษีเซ่นผลงานแป้ก!

‘จุลพันธ์’ ยันไม่หนักใจหลังกางยอด 7 เดือน จัดเก็บวืดเป้าเฉียด 4 หมื่นล้านบาท รับคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว ชี้เป็นเอฟเฟกซ์ลดภาษีน้ำมัน-อุ้มรถอีวี ระบุเป็นการช่วยเหลือประชาชน พร้อมปัดข่าวโยกอธิบดีกรมภาษีเซ่นผลงานอืด

5 มิ.ย.2567 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวภายหลังการหารือเกี่ยวกับแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567 ร่วมกับ 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ว่า ยืนยันว่าไม่รู้สึกหนักใจแม้ว่าภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในขณะนี้จะพลาดเป้าหมาย โดยเฉพาะจากกรมสรรพสามิต ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเหลือประชาชน และมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ทำให้สูญเสียรายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คลังได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว แต่สามารถกระตุ้นการบริโภค การผลิต และการจ้างงานในประเทศให้เพิ่มได้เป็นอย่างดี

“เรื่องรายได้พลาดเป้ายืนยันว่าไม่หนักใจ เพราะจะมีกลไกของระบบราชการที่รองรับอยู่แล้ว และไม่เคยมีปีไหนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ประมาณการรายได้กับรายจ่ายจริงตรงกัน มันจะเกิน หรือจะน้อยกว่าเป็นเรื่องปกติ กลไกทั้งหมดสามารถบริหารจัดการได้ตามขั้นตอน ระเบียบวิธีการงบประมาณและพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ได้เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด เรียกว่าเป็นงานรูทีนที่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ พร้อมทั้งยืนยันว่าฐานะการคลังยังแข็งแกร่ง ไม่มีอะไรน่ากังวล” รมช.การคลัง ระบุ

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าการจัดเก็บที่พลาดเป้าหมายอาจจะมีการโยกย้ายอธิบดีในกรมภาษีนั้น นายจุลพันธ์ ระบุว่า ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน ไม่เคยมี ไม่เกี่ยว ไม่เชื่อ และไม่เคยมีการพูดคุยในประเด็นนี้

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66-เม.ย.67) ที่ต่ำกว่าเป้าหมายราว 3.9 หมื่นล้านบาทนั้น หลัก ๆ เป็นผลมาจากการจัดเก็บที่ลดลงของกรมสรรพสามิต ตามมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งทำให้สูญเสียรายได้กว่า 2.4 หมื่นล้านบาท และมาจากการชะลอตัวลงของภาษีรถยนต์ ซึ่งถือเป็น 1 ในรายได้หลักของกรมสรรพสามิต เนื่องจากยอดขายรถยนต์ที่ชะลอตัวลง และนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมยยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีดังกล่าว

“การจัดเก็บรายได้ที่ลดลงของกรมสรรพสามิต หลัก ๆ มาจากนโยบายของรัฐบาลเพื่อดูแลประชาชน แต่ในเชิงประสิทธิภาพของกรมฯ ไม่ได้ดร็อปลง” นายลวรณ กล่าว

สำหรับแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ของปีงบประมาณ 2567 นั้น กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังใช้ความพยายามในการทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ากรมสรรพสามิตจะจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมายในเชิงนโยบาย ดังนั้นกรมอื่น ๆ ที่เหลืออยู่ เช่น กรมสรรพากรจะต้องทำงานหนักขึ้น ขณะเดียวกันเชื่อว่าจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้านำเข้ามูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เข้ามาเสริมหลายพันล้านบาท

อย่างไรก็ดี ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66-เม.ย.67) อยู่ที่ 1.38 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท หรือ 2.7% โดยภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี อยู่ที่ 1.46 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3.54 หมื่นล้านบาท หรือ 2.4% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.88 หมื่นล้านบาท หรือ 2.7%

โดยกรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 9.59 พันล้านบาท หรือ 0.9% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1.95 หมื่นล้านบาท หรือ 1.8%, กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม อยู่ที่ 3.04 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4.7 หมื่นล้านบาท หรือ 13.4% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 2.75 หมื่นล้านบาท หรือ 9.9% และกรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม อยู่ที่ 6.86 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.99 พันล้านบาท หรือ 3.0% แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 8.23 พันล้านบาท หรือ 10.7%

ขณะที่ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 66-เม.ย. 67) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1.36 ล้านล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1.76 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 2.94 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2567 มีจำนวน 4.3 แสนล้านบาท

เพิ่มเพื่อน