การรถไฟฯ พร้อมเปิดใช้ทางคู่สายใต้ ช่วง‘นครปฐม – ชุมพร’ ตลอดเส้นทาง รวม 420กม. เล็งเปิดทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงสระบุรี - นครราชสีมา ปลายปี 67
5 มิ.ย.2567-นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งของประเทศ และมอบนโยบายให้การรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟสายใหม่ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จตามแผนงานตามนโยบายของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง ให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ ที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน การขนส่งสินค้าเชื่อมโยงทุกภูมิภาค มีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ
ทั้งนี้ ปัจจุบันสามารถเปิดใช้งานทางคู่ในเส้นทางสายต่างๆ แล้ว จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ โครงการช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร โครงการช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร ขณะที่เส้นทางรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร เปิดให้บริการระหว่างสถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร ระยะทาง 347.4 กิโลเมตร เมื่อวันที่15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
ล่าสุด การรถไฟฯ ได้พิจารณาความพร้อมของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ และกำหนดเปิดใช้งานเพิ่มอีก 72.6 กิโลเมตร ระหว่างสถานีนครปฐม - บ้านคูบัว ระยะทาง 57 กิโลเมตร และสถานีสะพลี - ชุมพร ระยะทาง 15.6กิโลเมตร ทำให้สามารถเปิดใช้ทางคู่ในเส้นทางสายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ได้ตลอดเส้นทาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 420 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป โดยใช้ระบบทางสะดวกอิเล็กทรอนิกส์ (E-token) ในการเดินรถระหว่างที่มีการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณที่มีความคืบหน้าแล้ว 59.762% คาดว่าจะสามารถใช้งานได้เต็มระบบภายในปี 2568ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาเดินทางแก่ประชาชน อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมต่อระบบการขนส่งเส้นทางท่องเที่ยวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และธุรกิจด้านการขนส่งสินค้าอื่นๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมเปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ในระยะแรก ช่วงสถานีมาบกะเบา – มวกเหล็กใหม่ จังหวัดสระบุรี ระยะทาง 13.20 กิโลเมตร และช่วงสถานีบันไดม้า-คลองขนานจิตร จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง 29.70 กิโลเมตร รวมระยะทาง 42.90 กิโลเมตร ภายในปี 2567 ส่วนการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายอื่น และรถไฟทางสายใหม่ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการนั้น การรถไฟฯ ได้เร่งดำเนินการ เพื่อให้เสร็จตามแผนที่กำหนดโดยเร็วเช่นกัน
นายเอกรัช กล่าวว่า หากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง ดำเนินการอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะช่วยยกระดับการให้บริการการเดินทางที่ดีแก่พี่น้องประชาชน รวมถึงการขนส่งสินค้า สามารถถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเดินรถ ทำให้การรถไฟฯ สามารถรองรับขบวนรถได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ-รถยนต์ ที่สำคัญรถไฟทางคู่ยังช่วยกระจายโอกาสทางสังคมการเติบโตทางเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง และประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศ ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคตอันใกล้.