‘กีรติ’เปิดไทม์ไลน์โอนสิทธิ์เข้าบริหารสามสนามบิน ทย.รอ กพท.ออกใบรับรอง พร้อมรับลูกรัฐบาลลุยศึกษาเข้าบริหารอีก 25 สนามบิน เล็งตั้งบริษัทลูกให้ดูแลเพื่อให้มีความคล่องตัวในทางการเงินมากขึ้น
4 มิ.ย.2567-นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการโอนสิทธิ์และเข้าบริหารจัดการ 3 สนามบิน ภูมิภาคแทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ประกอบด้วย 1.สนามบินอุดรธานี 2.สนามบินบุรีรัมย์ และ 3.สนามบินกระบี่ว่า ขณะนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ได้สั่งการให้เร่งรัดดำเนินการออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะทั้ง 3 สนามบิน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
ทั้งนี้ การออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะฯ ดังกล่าว ถือเป็นปัญหาอุปสรรคหลักที่ทำให้เกิดความล่าช้า ส่วนเหตุใดที่ กพท. ยังไม่ออกใบรับรองฯ ให้ทั้ง 3 สนามบินนั้น เพราะว่า ในบางจุดอาจจะยังไม่ได้มาตรฐานตามที่ กพท. กำหนด เช่น ทางเข้า-ทางออก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หาก กพท. ออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะเรียบร้อยแล้ว ถึงจะสามารถโอนย้ายให้ ทอท. เข้าไปบริหารสนามบินได้ เนื่องจากทั้ง 3 สนามบินดังกล่าว ยังเปิดให้บริการอยู่ ไม่สามารถหยุดให้บริการได้ ซึ่งจะต้องรอให้ ทย. ได้รับใบอนุญาตเสียก่อน จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการโอนสิทธิ์ให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการทั้ง 3 สนามบินได้ทันที และ ทอท. พร้อมลงทุนตามกรอบวงเงินเดิมประมาณ 10,360 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสนามบิน และพัฒนาศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร
นายกีรติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มอบนโยบายให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการอีก 25 สนามบินของ ทย. จากทั้งหมดเหลืออีก 26 สนามบิน ซึ่งไม่รวมสนามบินตาก เนื่องจากปัจจุบันไม่ได้เป็นสนามบินที่ให้บริการเชิงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้ ได้มีการหารือเบื้องต้นระหว่างหน่วยงานกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องแล้ว หลังจากนี้ ทอท.จะต้องไปศึกษารูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการ 25 สนามบิน พร้อมทั้งวิเคราะห์ว่า จะเข้าบริหารสนามบินใดบ้าง รวมถึงรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะการตอบสนองผู้ถือหุ้น แบะด้านศักยภาพเชิงพาณิชย์ของสนามบิน เช่น สนามบินขอนแก่น ตรัง นครศรีธรรมราช แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน เป็นต้น โดย ทอท. จะใช้ระยะเวลาศึกษาไม่เกิน 6 เดือน
ขณะเดียวกัน ทอท. จะว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ ภายใน 2 เดือนนับจากนี้ คาดว่า การศึกษาจะแล้วเสร็จและได้ข้อสรุปภายในปี 2567 ขณะที่ ทย. จะต้องไปดำเนินการพัฒนา แก้ไข ปรับปรุงสนามบินให้ได้ตามมาตรฐานก่อนส่งมอบให้ ทอท. เข้าไปบริหารต่อไป ซึ่งยืนยันว่า จะเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า หาก ทอท. ได้เข้าไปบริหาร 25 สนามบินนั้น จะไม่กระทบต่อแผนการดำเนินงานลงทุนของ ทอท. และไม่กระทบผลประกอบการที่ดีในปัจจุบันด้วย
“ในเรื่องการบริหาร 25 สนามบินนั้น จริงๆ แล้ว มาตรฐานของสนามบินต่างๆ ไม่จำเป็นต้องลงทุนให้เป็นสนามบินขนาดใหญ่ เพราะสนามบินเล็ก ก็สามารถได้รับใบอนุญาตได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่า กำหนดตำแหน่ง (Positioning) ไว้อย่างไร เช่น สนามบินหัวหิน ก็สามารถทำให้ได้มาตรฐานได้ตามที่เหมาะสมของแต่ละสนามบิน เป็นต้น“ นายกีรติ กล่าว
นายกีรติ กล่าวอีกว่า เบื้องต้น ทอท. มีแผนจะจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา เพื่อเข้ามาบริหาร 25 สนามบินของ ทย. โดยอาจจะจัดตั้งในรูปแบบหน่วยงานอื่นของรัฐ มีการถือหุ้นโดย ทอท. และหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากเป็นการรับบริหารทรัพย์สินของรัฐ เช่น ทอท. ถือหุ้นบางส่วน อีกส่วนถือหุ้นโดยวายุภักดิ์ เพื่อให้มีความคล่องตัวในทางการเงินมากขึ้น ทั้งในส่วนของเงินเดือนพนักงาน หรือการว่าจ้าง ก็จะไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
สำหรับวัตถุประสงค์ในการดำเนินการดำเนินการดังกล่าวนั้น เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ เนื่องจากในแต่ละปี รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้กับ ทย. ปีละกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ ทย. ก็จะมีภารกิจในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือสนามบินใหม่เป็นหลัก แล้วให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือ ทอท. เข้ามาบริหารจัดการ รวมทั้งการพัฒนา และขยายขีดความสามารถของสนามบินในอนาคต ส่วนข้าราชการของ ทย. นั้น ก็จะมี 2 แนวทางเลือก คือ 1.โอนย้ายกลับไปยังกระทรวงคมนาคม และ 2.สมัครเป็นพนักงานของบริษัทลูกของ ทอท.
ส่วนกรณีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้กับ ทย. นั้น นายกีรติ กล่าวว่า ตามที่ก่อนหน้านี้ เมื่อ ทอท. เข้าหปไปบริหาร 3 สนามบินแล้ว จะต้องแบ่งรายได้ให้กับ ทย. เพื่อนำไปชดเชยผลการดำเนินงานขาดทุนในสนามบินอื่นๆ ที่ ทย.กำกับดูแล ซึ่งหาก ทอท. จะต้องเข้ามาบริหารจัดการสนามบินของ ทย. ทั้งหมด แล้วถ้ามีกำไร จะต้องแบ่งให้กับ ทย. แต่ถ้าขาดทุน ทอท. จะต้องรับไว้ ซึ่งมองว่า ไม่ควรเป็นเช่นนั้น ยกตัวอย่างเช่น สนามบินกระบี่ เคยมีกำไร 200 ล้านบาท ทอท. ก็จะชดเชยกำไรให้ 200 ล้านบาท เพื่อนำมาเป็นเงินเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน แต่ถ้า ทอท. รับอีก 25 สนามบินมาบริหาร แต่เป็นสนามบินที่ขาดทุนทั้งหมด ทอท.ก็ไม่ควรจะต้องไปชดเชยรายได้หรือกำไรดังกล่าว เป็นต้น โดยหลังจากนี้ จะต้องมีการพิจารณาใหม่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปอีกครั้ง ก่อนจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ภารกิจของ ทย. ภายหลังจาก ทอท. เข้าบริหารสนามบินแทน ทย. จะเป็นอย่างไร นายกีรติ กล่าวว่า เบื้องต้น ทย. จะทำหน้าที่ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือสนามบินใหม่เป็นหลัก และให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้ามาบริหารจัดการ รวมทั้งพัฒนา และขยายขีดความสามารถของสนามบินในอนาคต ส่วนบุคลากรของ ทย. มีแนวทาง คือโอนย้ายกลับไปยังกระทรวงคมนาคม และ สมัครเข้าเป็นพนักงานของบริษัทลูกของ ทอท. โดยมองว่า เมื่อรับมอบสิทธิ์มาแล้ว ใช้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เชื่อว่า สามารถทำให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฟิต! นายกฯอิ๊งค์ก่อนบินไปสหรัฐ ประชุมแผนรับ นทท.ช่วงไฮซีซั่น ย้ำจุดเช็คอินอย่าช้า
นายกฯประชุมเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น กำชับจุดเช็คอินต้องเร็ว อย่าช้า ก่อนบินสหรัฐฯ-เปรูคืนนี้ ร่วมผู้นำเอเปก ครั้งที่ 31