สบพ. ลุยแจ้งเกิดศูนย์ฝึกปั้นบุคลากรด้านการบิน “อู่ตะเภา” 972 ล้าน มาตรฐานเอียซ่า บนพื้นที่ 50 ไร่ รัฐส่งสัญญาณชัดต้องผลิตช่างซ่อม-ผลิตชิ้นส่วน รองรับศูนย์ซ่อมเครื่องบิน หลังหยุดชะงักไป 2 ปี คาดศึกษาจบปีนี้เปิดรับนักศึกษาปี 71
3 มิ.ย. 2567 – น.ส.ภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สบพ. อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ และขนาดการลงทุนที่เหมาะสมของโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา พื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 67 จากนั้นจะเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นได้โครงการฯ ต่อคณะกรรมการ(บอร์ด) สบพ. เพื่อพิจารณาว่าจะให้ สบพ. เดินหน้าโครงการนี้หรือไม่ หากอนุมัติให้ดำเนินโครงการ จะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาสำรวจออกแบบรายละเอียการก่อสร้างโครงการฯ (Detail Design) ต่อไป
น.ส.ภัคณัฏฐ์ กล่าวต่อว่า เมื่อออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างฯ แล้วเสร็จ จะเสนอบอร์ด สบพ. พิจารณา และเสนอกระทรวงคมนาคม พร้อมทั้งเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ(สศช.) สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ให้ความเห็นประกอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการภายในปี 68 เบื้องต้นโครงการดังกล่าววงเงินงบประมาณ 972.13 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 69 หรือประมาณต้นปี 70 แล้วเสร็จ และเปิดรับนักศึกษาได้ในปี 71
“ยอมรับว่าการดำเนินโครงการนี้ล่าช้าจากแผนเดิมที่วางไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเปิดการเรียนการสอนที่อู่ตะเภาตั้งแต่ปีการศึกษา 70 เพราะที่ผ่านมาต้องมีการศึกษา และทบทวนโครงการตามปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้ปรับลดวงเงินก่อสร้างไม่ควรเกิน 1 พันล้านบาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณมากเกินไป ประกอบกับเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้การดำเนินโครงการฯ หยุดชะงักไปประมาณ 2 ปี จนกระทั่งมีการส่งสัญญาณจากรัฐบาลอีกครั้งว่า ต้องมีการผลิตบุคลากร อาทิ ช่างซ่อมอากาศยาน เพื่อรองรับศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน(OEM) ดังนั้นจึงได้เดินหน้าสานต่อโครงการอีกครั้ง”น.ส.ภัคณัฏฐ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา ตั้งเป้าหมายเป็นสถาบันฝึกอบรมด้านการบินชั้นนำที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป (เอียซ่า) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานสูงสุด และที่เป็นยอมรับทั่วโลก โดยนอกจากจะผลิตช่างซ่อมอากาศยาน รองรับโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานขนาดใหญ่ (MRO) และการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาแล้ว ยังมีแผนจะเปิดสอนหลักสูตรอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย อาทิ หลักสูตรการฝึกอบรมขั้นพื้นฐาน(Basic Training) หลักสูตรศักยทำการอากาศยานเฉพาะแบบ (Type Rating) และหลักสูตรการฝึกอบรมต่อเนื่อง/หลักสูตรที่ต้องมีการทวนซ้ำ(Recurrent Training) ซึ่งดำเนินการตามข้อกำหนดของเอียซ่า รวมทั้งหลักสูตรปริญญาตรี วิชาเอกผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน และวิชาเอกซ่อมบำรุงอากาศยาน ตลอดจนหลักสูตรเฉพาะทาง อาทิ หลักสูตรระยะสั้นสำหรับการซ่อมบำรุง และใช้งานอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้นดิน(GSE) เป็นต้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เศรษฐา' ลุยงานวันหยุด ดูพื้นที่อู่ตะเภา สร้างสนามแข่ง F1
‘เศรษฐา’ ลุยงานวันหยุด ลงพื้นที่ชลบุรี-ระยอง ดูพื้นที่อู่ตะเภา สร้างสนามแข่ง F1 เร่งรัดท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3
สบพ.เร่งศึกษาศูนย์ฝึกอบรบการบินอู่ตะเภา
“ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบินฯ” อู่ตะเภา ดีเลย์ไปอีก 2 ปี เตรียมชงบอร์ด สบพ. เคาะงบ 40 ล้าน ลุยออกแบบรายละเอียด คาดแล้วเสร็จ ธ.ค.ปีหน้า หั่นวงเงินโครงการฯ เหลือ 1,200 ล้าน ลดขนาดพื้นที่เหลือ 50 ไร่ พร้อมเปิดการเรียนการสอนปี 72 ปั้นช่างซ่อมเครื่องบิน-บุคลากรด้านการบินมาตรฐานเอียซ่า