ห่วงโซ่การผลิตอาหารระส่ำจากวงจรอุบาทว์ข้าวโพดไทย กักตุน-ข่มขู่-ปั่นราคาข้าวโพดให้พุ่งถึงกิโลกรัมละกว่า 13 บาท สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยสุดทน ลั่นเหมือนถูกมัดมือมัดเท้าจากมาตรการรัฐ เร่งยื่นหนังสือ “ด่วนที่สุด” ถึงกระทรวงพาณิชย์ เรียกร้องแก้ปัญหาและทำลายพฤติกรรมมาเฟียทันที ก่อนห่วงโซ่การผลิตอาหารหยุดชะงักและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ตายยกประเทศ
31 พ.ค. 2567 -นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า ได้รับข้อร้องเรียนอย่างหนักจากสมาชิก ถึงความยากลำบากในการหาซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีการกักตุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อเรียกร้องราคาขยับสูงขึ้น โดยมีเป้าสูงกว่า 13 บาท/กก. จากปกติควรจะอยู่ที่ 11 บาท/กก.ในช่วงนี้ ซ้ำขู่ไม่ส่งข้าวโพดเข้าโรงงาน ระบุโรงงานอาหารสัตว์ไม่มีทางเลือกอื่น เนื่องจากถูกมัดมือมัดเท้าจากมาตรการรัฐหลายมาตรการ จึงต้องร้องขอความช่วยเหลือด่วนที่สุดไปยังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
“การกักตุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เกิดผลประโยชน์กับกลุ่มพ่อค้าคนกลางเท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แม้แต่บาทเดียว เพราะผลผลิตข้าวโพดทั้งหมดอยู่ในมือพ่อค้าคนกลางหมดแล้ว ราคาข้าวโพดที่ขยับขึ้นแค่กิโลกรัมละ 1 บาท คิดเป็นเม็ดเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 5,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นภาระต้นทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ สถานการณ์เช่นนี้ดูเหมือนจะกลับไปใกล้เคียงกับเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาหรืออาจเลวร้ายยิ่งกว่า เพราะธุรกิจอาหารสัตว์ขาดทุนสะสมและมีการปิดโรงงานและขายกิจการไปแล้วหลายแห่ง เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ก็ขาดทุนและเลิกเลี้ยงกันไปจนนับไม่ถ้วน” นายพรศิลป์ กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่เอื้อประโยชน์ให้พ่อค้าคนกลางสามารถมีพฤติกรรมกักตุนข้าวโพดเพื่อเก็งกำไรได้มีหลายประการ อาทิ 1. ผลผลิตข้าวโพดไทยมีแนวโน้มลดลง และจะออกสู่ตลาดอีกครั้งกลางเดือนกันยายน ช่วงนี้จึงเข้าสู่ภาวะขาดแคลนวัตถุดิบยาวนานกว่า 3 เดือน เปิดโอกาสให้มีการกักตุนสินค้า 2. โรงงานอาหารสัตว์ไม่มีทางเลือกในการนำเข้าวัตถุดิบทดแทน เพราะถูกบีบด้วย “มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน” ด้วยข้อกำหนดให้ซื้อข้าวโพดภายในประเทศก่อน เพื่อนำไปใช้แลกนำเข้าข้าวสาลี แต่โรงงานไม่มีข้าวโพดเพียงพอ จึงเท่ากับถูกบังคับให้ซื้อข้าวโพดจากพ่อค้าในราคาที่เขาต้องการก่อน เป็นสาเหตุหลักให้พ่อค้าชะลอการส่งข้าวโพดเข้าโรงงานเพื่อดึงราคาให้สูงขึ้นอีก
3. ราคาวัตถุดิบทดแทนปรับตัวสูงขึ้น สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ค่าระวางเรือ ค่าเงินบาทที่อ่อนตัว รวมถึงสถานการณ์เพาะปลูกข้าวสาลีที่มีแนวโน้มลดน้อยลง ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีนำเข้าอยู่ที่ 12 บาท/กก. พ่อค้าคนกลางทราบถึงสถานการณ์นี้เป็นอย่างดี จึงตั้งราคาขายข้าวโพดไว้ที่ 13 บาท/กก. สูงกว่าราคานำเข้าข้าวสาลี เพราะหากไม่ซื้อข้าวโพดก่อนก็ไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ 4. จากนโยบายรัฐที่มุ่งแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยกระทรวงเกษตรฯ ผลักดันการหยุดรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการเผาแปลงปลูก ซึ่งสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยขานรับและสนับสนุนนโยบายดังกล่าว ทำให้พ่อค้าเร่งทำการกักตุนข้าวโพด เพราะรู้ดีว่าข้าวโพดที่โรงงานจะรับซื้อได้นั้น จะมีปริมาณลดน้อยลง เพราะไม่สามารถซื้อข้าวโพดที่ผ่านการเผาแปลงได้
นายพรศิลป์ ระบุว่า การแก้ปัญหานี้ได้ดีที่สุดคือ กระทรวงพาณิชย์ต้องปลดล็อกมาตรการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วนในทันที เพื่อให้มีปริมาณข้าวสาลีเข้ามาเป็นทางเลือก คลายความกดดันในด้านปริมาณที่ขาด และลดสิ่งที่เอื้อให้พ่อค้าคนกลางทำการกักตุนเก็งกำไร แม้ราคาข้าวสาลี ณ ตอนนี้จะสูงถึง 12 บาท/กก. ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเข้า มิฉะนั้นจะไม่มีวัตถุดิบที่จะใช้ในการผลิต ย้ำว่ากระทรวงพาณิชย์ ต้องดำเนินการในเรื่องนี้ “ทันที” เพื่อไม่ให้สายพานการผลิตหยุดชะงัก นอกจากนี้ ต้องพิจารณาปลดมาตรการนำเข้าอื่นๆ โดยเฉพาะการนำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO เพื่อรองรับนโยบายไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการเผาแปลงปลูก ซึ่งจะทำให้ข้าวโพดที่ซื้อขายในระบบหายไปกว่า 2 ล้านตันด้วย
“หากยังปล่อยให้สถานการณ์กักตุนนี้ยืดเยื้อต่อไป จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งระบบ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ไม่สามารถประกอบอาชีพต่อได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อยที่ขาดทุนมาก่อนหน้า จากต้นทุนสูง และจากปัญหาหมูเถื่อน ที่สุดแล้วเศรษฐกิจชาติจะพังไม่เป็นท่า ไม่คุ้มเลยถ้าจะมัวอุ้มกลุ่มพ่อค้าคนกลางกลุ่มเดียวแบบนี้” นายพรศิลป์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอกชนร้องแก้ปัญหาส่งออก-นำเข้า 'ไข่ไก่-อาหารสัตว์'
ผู้นำเข้า-ส่งออก ร้อง 'พีระพันธุ์' แก้ปัญหา 'กรมปศุสัตว์' แก้ข้อกำหนดคำนิยามในกฏหมายใหม่ ส่งผลต่อการนำเข้า-ส่งออกไข่ไก่ และอาหารสัตว์ในกิจการประมงเดือดร้อนหนัก
'พาณิชย์' เคาะจ่ายส่วนต่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์งวดที่ 10 ไม่ต้องชดเชยหลังราคาพุ่งเกินเพดานประกันรายได้
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกร