‘คลัง’ เดินเครื่องเร่งงัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างรอ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เล็งปลุก Easy e-Receipt กระทุ้งช่วงสั้น พร้อมสั่ง ‘สรรพากร’ ดึงเทคโนโลยีเสริมแกร่งหวังช่วยจัดเก็บรายได้เพิ่ม ปูพรมมาตรการภาษีหนุนเศรษฐกิจระยะยาว เกาะเทรนด์ ESG-ผู้สูงอายุ-อุตสาหกรรมใหม่ มองภาพรวมรีดภาษีปีงบ 67 หลุดเป้าไม่กระทบรัฐ โยนฝ่ายนโยบายตัดสินใจปลุกผี LTF
31 พ.ค. 2567 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กรมสรรพากร ว่า จากการหารือของคณะทำงานด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา พบว่า เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาหลายจุด ทั้งภาคการผลิต ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณากลไกในการกระตุ้นที่มีความเหมาะสม โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นระยะสั้น ในช่วง 5 เดือนที่อยู่ระหว่างเร่งผลักดันโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เพื่อให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ ได้มอบโจทย์ให้ 3 กรมจัดเก็บภาษีไปเร่งพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยยอมรับว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาในหลายมาตรการ ทั้งใหม่และเก่าที่เคยทำก็อาจจะเอามาทำได้ เช่นโครงการเดิมที่เคยทำมาแล้วอย่าง Easy e-Receipt ซึ่งก็อยู่ในแผน แต่อาจจะต้องไปพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติมว่า จำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการกับกลุ่มใดแบบเฉพาะเจาะจงหรือไม่ ซึ่งต้องขอเวลาในการพิจารณารายละเอียดทั้งหมดก่อน
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวนั้น มองว่า เป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งกลไกทางภาษีจะมีส่วนสำคัญ เพื่อที่จะกำกับธุรกิจที่มีความสอดคล้องกับแนวนโยบาย หรือมาตรการของรัฐ เช่น เรื่อง ESG เรื่องฝุ่น ควัน กลไกในการช่วยเหลือด้านสาธารสุข ผู้สูงอายุ รวมถึงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ (S-curve) อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจในระยะยาว และเพื่อให้ไทยกลับมาอยู่ในขีดความสามารถในการแข่งขันที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายให้กรมสรรพากรในการเร่งขยายฐานภาษี โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็น Zero Tax Gap ในปี 2570รวมถึงการเร่งปรับปรุงข้อกฎหมายต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีได้ง่ายขึ้น
“สัดส่วนตัวเลขการจัดเก็บรายได้ต่อจีดีพีในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาปรับตัวลดลง ดังนั้นจำเป็นต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ แนวทางหนึ่งคือการดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ หาหนทางในการขยายฐานภาษี รวมทั้งสร้างกลไกในการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน เพื่อให้เข้าใจว่าการเสียภาษีแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างไร ภาษีที่ถึงรัฐแล้วท้ายที่สุดจะกลับไปถึงมือประชาชนได้อย่างไร สร้างกลไกและระบบในการยื่นแบบให้กับประชาชนที่สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงกระบวนการในการลดหย่อนภาษี ในระยะเวลาต่อไปอาจจะต้องมีการกำหนดกรอบเวลา กำหนดตัวชี้วัด เพื่อให้มีความชัดเจนว่าการลดหย่อนภาษีเพื่ออะไร ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีจะเข้่ามาช่วยช่วยลดภาระงบประมาณได้ในหลาย ๆ เรื่อง เช่น งบประมาณในการจัดทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งตกปีละหลายแสนล้านบาทและขยายตัวขึ้นทุกปี” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ในปีงบประมาณ 2567 นั้น ยอมรับว่าอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 1 กรม นั่นคือ กรมสรรพสามิต เกิดจากการลดภาษีน้ำมัน เพื่อช่วยเหลือประชาชน ถือเป็นเรื่องปกติ โดยหากให้ทำอีกก็จะทำเรื่อย ๆ เพราะเป็นประโยชน์กับประชาชน แต่การจัดเก็บที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายนั้น ไม่มีผลกระทบกับการดำเนินงานของภาครัฐ เพราะเป็นเพียงการพลาดเป้าเล็กน้อย และรัฐบาลมีกลไกทางพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณ, พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และเงินคงคลังในการบริหารจัดการตามกรอบกฎหมาย
นอกจากนี้ นายจุลพันธ์ ยังกล่าวถึงประเด็นเรื่องการแบ่งงาน ที่ได้รับผิดชอบให้ดู 3 กรมภาษี ว่า นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง แบ่งงานตามฟังก์ชั่นของหน่วยงาน เช่น หน่วยงานที่ดูแลเรื่องทรัพย์สิน เช่น สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ และกรมธนารักษ์ ส่วนกรมภาษีเป็นเรื่องของการจัดเก็บจึงอยู่ในความรับผิดชอบเดียวกัน เป็นการแบ่งงานเพื่อให้เหมาะสมกับการขับเคลื่อนงานของกระทรวกงารคลัง โดยยืนยันว่าข้าราชการกระทรวงการคลังมีความเป็นมืออาชีพ มีความรู้ความเข้าใจเชิงลึกในการปฏิบัติงาน ตนจึงไม่มีความเป็นห่วงเรื่องการทำงาน เพราะหลายนโยบายที่ได้รับมอบจากรัฐบาลก็สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างจำนวนมากแล้ว
อย่างไรก็ดี ในส่วนความคืบหน้าของการพิจารณานำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) นั้น ล่าสุดได้นำข้อมูลส่งกลับไปยังฝ่ายนโยบายพิจารณา โดยจะมีการประชุมเพื่อหารือแนวทางร่วมกันอีกครั้ง แต่ยังไม่มีกำหนดเวลาในขณะนี้ โดยเรื่องนี้มองว่า หากฝ่ายนโยบายตัดสินใจดำเนินการ ก็เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ เพราะมีกลไกเดิมที่รองรับอยู่แล้ว