สศอ.หั่นเป้าเอ็มพีไอเหลือ 0-1% เซ่นพิษเศรษฐกิจยังซม หนี้ครัวเรือน-อัตราดอกเบี้ยมีระดับสูง

สศอ.หั่นเป้าเอ็มพีไอเหลือ 0-1% จากเดิมคาดขยายตัวแตะ 3% รับปัญหาเศรษฐกิจยังซม หนี้ครัวเรือน-อัตราดอกเบี้ยมีระดับสูง ปลื้มงวดเม.ย.พลิกฟื้นตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน

30 พ.ค. 2567 – นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ปรับประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เอ็มพีไอ) ปี 2567 ขยายตัว 0-1% จากประมาณการเดิมคาดว่าขยายตัว 2-3% บนสมมติฐานอัตราการขยายตัว (จีดีพี) ของภาคอุตสาหกรรมปี 2567 คาดขยายตัว 0.5-1.5% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 2-3% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับหน่วยงานทางเศรษฐกิจอื่นๆ

ทั้งนี้ มีสาเหตุหลักจากปัญหาหนี้สินครัวเรือนในประเทศและอัตราดอกเบี้ยมีระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย การบริโภคภายในประเทศหดตัว ต้นทุนพลังงานและค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้น เห็นได้จากภาพรวมภาพรวมเอ็มพีไอ 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.2567) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 98.28 หดตัวเฉลี่ย 2.06% อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 59.13% จากยอดผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจาก สภาพภูมิอากาศแปรปรวนกระทบอุตสาหกรรมที่พึ่งพาผลผลิตทางการเกษตร ปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกล้นตลาดประเทศไทย รวมถึงปัจจัยต่างประเทศ อาทิ เศรษฐกิจคู่ค้าหลักบางประเทศอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด การเลือกตั้งผู้นำในหลายประเทศ ปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน

ขณะที่เอ็มพีไอเดือนเม.ย.2567 อยู่ที่ระดับ 90.34 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.43% กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกหลังหดตัวต่อเนื่อง 18 เดือน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 55.26% โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 14.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และฐานต่ำในปีก่อน

อย่างไรก็ตาม สศอ.ประเมินว่าเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนพ.ค.2567 ส่งสัญญาณฟื้นตัวระยะสั้น จากปัจจัยภายในประเทศฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นทางธุรกิจ การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ส่งสัญญาณฟื้นตัวระยะสั้น จากการฟื้นตัวของสหรัฐและผลผลิตในสหภาพยุโรป รวมทั้งภาคการผลิตของญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว สศอ. เผยดัชนี MPI พ.ค. หดตัว 1.54%

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) พฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 98.34 หดตัวร้อยละ 1.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ 5 เดือนแรก หดตัวร้อยละ 2.08 สะท้อนภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงไม่ฟื้นตัว หลังปัญหาหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อภาคการผลิต

รัฐบาลปลื้มดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลับมาเป็นบวกในรอบ 18 เดือน

“รัดเกล้า” เผย MPI เดือนเม.ย. ขยายตัวร้อยละ 3.43 อยู่ที่ระดับ 90.34 ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 18 เดือน ผลจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว