อาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของไทย จัดว่าเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพ สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลที่ขยายตัวเฉลี่ยกว่า 7.5% ต่อปีในช่วงปี 4 ปีที่ผ่านมา (CAGR ปี 2563-2566) ซึ่งสูงกว่าภาพรวมการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก ส่งผลให้ปี 2565 ไทยติดอันดับ 8 ผู้ส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของโลก ซึ่งมีคู่ค้าสำคัญคือ จีน ตลาดมุสลิมหรือ OIC (Organization of Islamic Conference) สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ตามลำดับ
30 พ.ค.2567 – แต่สำหรับในปี 2567 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาล ของไทยอาจหดตัว 0.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากแรงกดดันด้านผลผลิตที่ในครึ่งปีแรกถูกกระทบจากภัยแล้งและเอลนีโญ ก่อนที่การเข้าสู่ลานีญาในครึ่งปีหลังจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้บ้าง รวมถึงด้านราคาจากการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในปีก่อนหน้า โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
อาหารฮาลาลธรรมชาติ เป็นสินค้าหลักคิดเป็นสัดส่วน 65% ของมูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั้งหมด ซึ่งปีนี้คาดว่าจะทรงตัว โดยแม้ว่าหลายรายการจะยังสามารถเติบโตต่อได้ แต่การส่งออกข้าวน่าจะยังหดตัวจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ด้วยการแข่งขันจากคู่แข่งที่สามารถเร่งผลิตและส่งออกได้มากขึ้น เช่น บราซิล (น้ำตาลทราย) เวียดนาม (ผลไม้สด-ทุเรียน) อินเดีย (ข้าว) เป็นต้น จึงกดดันต่ออัตราการเติบโตเฉลี่ยในภาพรวม
อาหารฮาลาลโดยการรับรอง คิดเป็นสัดส่วน 35% ของมูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั้งหมด ซึ่งปีนี้คาดว่าจะหดตัว 2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน หลักๆ มาจากการส่งออกน้ำมันพืช จากผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ราคาปีนี้ที่อาจลดลงจากแข่งขันกับน้ำมันพืชทางเลือกที่ออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น และการแข่งขันน้ำมันปาล์มกับผู้ส่งออกหลักอย่างมาเลเซีย ส่วนไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไทยก็เผชิญประเด็นการแข่งขันจากผู้ผลิตและส่งออกระดับโลกอย่างบราซิล เช่นเดียวกับนมและผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์จากข้าวและธัญพืช ที่ไทยต้องแข่งขันกับสินค้าจากเนเธอร์แลนด์และนิวซีแลนด์
ไปข้างหน้า หากไทยต้องการจะก้าวสู่ ASEAN Halal Hub ให้ได้ภายในปี 2571 ตามเป้าหมาย ด้วยการชูอาหารและเครื่องดื่มฮาลาล เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ส่งออกที่มูลค่าเติบโตหรือมีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โจทย์สำคัญที่ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งดำเนินการ คงจะได้แก่
การมีเครื่องหมายรับรองฮาลาลที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ยังจำเป็น เพราะเป็นด่านแรกที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคชาวมุสลิม ปัจจุบันสินค้าไทยได้รับเครื่องหมายรับรองจากประเทศมุสลิมสำคัญ ทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซีย อาทิ ผลิตภัณฑ์จากข้าวและธัญพืช เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ไปข้างหน้า ผู้ประกอบการไทยคงต้องเพิ่มความครอบคลุมของการได้รับการรับรองจากทั้งตลาดปลายทางและรายการสินค้าอื่นๆ ให้ได้มากขึ้น เช่น กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ในตลาดตะวันออกกลาง เป็นต้น
ทั้งนี้ การนำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Food Traceability) มาปรับใช้ในการผลิต เช่น RFID, IoT, Blockchain เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยสร้างความมั่นใจต่อคู่ค้าได้ว่ากระบวนการผลิตของผู้ประกอบการไทยสอดคล้องตามหลักศาสนาตลอดห่วงโซ่อุปทาน ถึงแม้จะเป็นกิจการที่ไม่ได้ดำเนินการโดยชาวมุสลิมก็ตาม
เน้นการแข่งขันด้านคุณภาพในกลุ่มอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และเป็นที่ต้องการในตลาดมุสลิม เช่น อาหารฟังก์ชั่นนอลฟู้ดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และแอฟริกาใต้ ที่คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 6.6% และ 4.9% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าภาพรวมทั่วโลกที่ 2.7% ต่อปี (CAGR ปี 2563-2569) เครื่องดื่มจากพืชในมาเลเซีย ที่คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดใกล้เคียงนมถั่วเหลืองในปี 2573 เป็นต้น นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งลงทุนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดรับไปกับเทรนด์ความต้องการอาหารในอนาคต
ขยายการทำตลาดเพิ่ม โดยเฉพาะไปยังประเทศสมาชิกใน OIC ที่มีความต้องการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้สูง อาทิ กลุ่มตะวันออกกลางและกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาใต้ จากจำนวนประชากรที่มากและความมั่นคงทางอาหารต่ำ ผ่านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย ที่ทำให้ไทยสามารถส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปได้มากขึ้น การทำข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ (G2G) ในการส่งออกข้าวไทยไปยังอินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งการเปิดเสรีข้อตกลงการค้าทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งทางการกำลังอยู่ระหว่างผลักดันเพิ่มเติม ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ CEPA (ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) FTA (ไทย-ปากีสถาน) เป็นต้น การผลักดันการเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้ครอบคลุมตลาดฮาลาล จะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลไปได้เพิ่มขึ้น