'คลัง' เดินเครื่องรื้อโครงสร้างภาษีบุหรี่ จ่อชงแก้กฎหมาย 'ยสท.' เปิดช่องหารายได้เพิ่ม

‘คลัง’ เดินเครื่องรื้อโครงสร้างภาษียาสูบ หลังเกษตรกร-ยสท. โอดบุหรี่เถื่อนบกกระทบสาหัส เตรียมมอบสรรพสามิตพิจารณา กางโจทย์ศึกษาข้อดี-ข้อเสียลดราคาขายปลีกต่ำกว่า 72 บาท จ่อรื้อภาษีตัดจ่ายอุ้มองค์กรต่าง ๆ เตรียมชงแก้กฎหมาย ยสท. เปิดช่องรับจ้างผลิตเพื่อขายในประเทศ-ลุยปั้นมวนบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อส่งออก เสริมรายได้

29 พ.ค. 2567 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ 3 สายพันธุ์ สหภาพแรงงานยาสูบ และผู้ค้าปลีก ซึ่งได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนถึงความเดือดร้อนภายหลังมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ เมื่อปี 2560 ที่ส่งผลให้โครงสร้างราคาขายปลีกบุหรี่ในตลาดมีการเปลี่ยนแปลง จนทำให้เกิดช่องว่างระหว่างบุหรี่ต่างประเทศกับบุหรี่ในประเทศ รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องบุหรี่เถื่อนที่มีการลักลอบนำเข้ามาขายในประเทศไทยจำนวนมาก แม้หน่วยงานกำกับดูแลจะมีการกวดขันอย่างเข้มข้นก็ตาม ซึ่งสร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมบุหรี่อย่างหนัก

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบนั้น กระทรวงการคลังพร้อมรับโจทย์เพื่อหาหารือกันต่อในหลากหลายมิติ เพราะเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน จึงจำเป็นต้องใช้เวลา ไม่สามารถสรุปได้โดยง่าย เพราะโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 อัตรา คือ การจัดเก็บตามมูลค่า โดยราคาขายปลีกที่ต่ำกว่า 72 บาท จัดเก็บภาษีในอัตรา 25% ส่วนราคาขายปลีกที่มากกว่า 72 บาท จัดเก็บภาษีในอัตรา 42% ขณะเดียวกันยังมีการจัดเก็บภาษีตามปริมาณอีก ที่ 1.25 บาทต่อมวน

นอกจากนี้ ยังมีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีที่ต้องตัดจ่ายให้กับองค์กรต่าง ๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กองทุนพัฒนากีฬา, กองทุนคนชรา เป็นต้น รวมทั้งยังมีภาษีท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ต้องมาคุยกันถึงโครงสร้างทั้งหมดว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร โดยขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป

“ในการหารือครั้งนี้ก็มีการเสนอความคิดเห็นว่าควรจะมีการลดราคาขายปลีกลงให้ต่ำกว่า 72 บาท ตรงนี้มองว่ามีทั้งผลดี และผลเสีย โดยผลดีคือ เพื่อให้แรงจูงใจในการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนน้อยลง แต่ข้อเสียคือ เมื่อราคาถูกลงการบริโภคบุหรี่ก็อาจจะเยอะขึ้น ดังนั้นจึงต้องมาดูผลกระทบต่อสังคมด้วย จึงอยากขอเวลาในการทำการบ้านเพื่อนัดหมายมาคุยกันใหม่ให้ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์สูงสุดอีกครั้ง” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 30 พ.ค. 2567 จะมีการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับกรมสรรพสามิต ซึ่งจะมีการหารือกันในเรื่องนี้ด้วย แต่คงยังไม่ได้ข้อสรุป โดยคงต้องให้หน่วยงานไปทำการบ้านก่อน

อย่างไรก็ดี อีกประเด็นสำคัญที่ต้องหารือ คือ การแก้ไขกฎหมายของ ยสท. เพื่อเพิ่มอำนาจให้ ยสท. สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าการปรับโครงสร้างภาษียาสูบที่ผ่านมา ยสท. ได้รับผลกระทบอย่างมาก ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้ให้เพิ่มขึ้น รวมถึงให้สามารถรับซื้อใบยาสูบได้มากขึ้นด้วย

“ปัจจุบัน ยสท. ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการรับจ้างผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น แต่หากสามารถปลดล็อกกฎหมายส่วนนี้ให้สามารถรับจ้างผลิตเพื่อขายในประเทศได้อย่างมีคุณภาพที่เหมาะสม ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยดูดซับใบยาในตลาด และยังอาจจะสามารถเพิ่มโควตาในการรับซื้อใบยาเพิ่มอีกด้วย อีกทั้งได้มอบให้ส่วนงานไปศึกษาเรื่องการนำใบยาสูบของเกษตรมาผลิตเป็นมวนบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อการส่งออก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการขยายตลาดในต่างประเทศ เพราะมีดีมานต์อยู่เป็นจำนวนมาก ก็ให้ส่วนงานไปดูในรายละเอียดก่อน ซึ่งเรื่องนี้สามารถทำได้เลยไม่ต้องแก้กฎหมาย” รมช.การคลัง ระบุ

อย่างไรก็ดี ในส่วนข้อเรียกร้องของเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ เรื่องเงินค่าชดเชยปัจจัยการผลิต ที่ปี 2567 ขอไว้ 80 ล้านบาทนั้น กระทรวงการคลังพร้อมรับเป็นโจทย์ไปพูดคุยว่าจะใช้งบกลาง หรือใช้กลไกส่วนใดในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีด้วย

เพิ่มเพื่อน