‘ออมสิน’ ผนึก ‘BAM’ ทุ่ม 1,000 ล้านบาท ผุดบริษัทสางหนี้ ‘ARI-AMC’ ตั้งเป้าช่วยเหลือลูกหนี้ 5 แสนบัญชี มูลหนี้กว่า 4.5 หมื่นล้านบาท คาดล็อตแรกเริ่ม ก.ค. นี้ นำร่อง 1.4 แสนบัญชี มูลหนี้ 1 หมื่นล้านบาท
29 พ.ค. 2567 – นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามการร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC ระหว่างธนาคารออมสิน และบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ว่า ปัญหาหนี้สินของประชาชนเป็นปัญหาใหญ่ และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และส่งผลต่อฐานะทางการเงินในครัวเรือนและตัวบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกหนี้รายย่อย และกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจัยที่เป็นตัวเร่งไม่ใช่แค่ผลกระทบจากโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังมีต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ลูกหนี้ที่มีภาระจำนวนมากเกินศักยภาพในการชำระหนี้ได้ จนกลายเป็นหนี้เสีย เป็นอุสรรคสำคัญ ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ โดยการดำเนินการในครั้งนี้ คาดว่าจะมีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 500,000 บัญชี คิดเป็นมูลหนี้กว่า 45,000 ล้านบาท
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การร่วมกันครั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยเพิ่มความคล่องตัวให้สามารถแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้ได้มากขึ้น เนื่องจากสามารถโอนหนี้บางส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ไปยังบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการหนี้โดยเฉพาะ โดยภายใน 1 สัปดาห์นี้จะจัดตั้งบริษัท และขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 1-2 เดือน โดยน่าจะรับซื้อหนี้ล็อตแรกได้ในช่วงเดือน ก.ค. นี้ โดยหนี้ก้อนแรกที่จะโอนเข้าไปนั้นประมาณ 140,000 ราย มูลหนี้ 10,000 กว่าล้านบาท
สำหรับวัตถุประสงค์หลักเป็นธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีกำไรในระดับที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และสินทรัพย์รอการขาย (NPA) ได้เข้ากระบบวนการปรับโครงสร้างหนี้หรือไกล่เกลี่ยหนี้ มีโอกาสหลุดพ้นจากการเป็นผู้เสียประวัติทางเครดิตได้เร็วขึ้น กลับมาเป็นสถานะหนี้ผ่อนปกติหรือหนี้ปิดบัญชีจะทำให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในรบบได้ในอนาคต และลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ
ทั้งนี้ บริษัท สินทรัพย์อารีย์ จำกัด จัดตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท มีสัดส่วนร่วมทุนเท่ากันที่ 50% และมีระยะเวลาดำเนินการไม่เกินกว่า 15 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการ โดยดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ในระยะแรกจะรับซื้อและรับโอนหนี้จากธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียวก่อน เป็นการรับซื้อหนี้สินเชื่อทั่วไปทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน เป็นกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อรายย่อย เอสเอ็มอี รวมถึงหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสดที่เป็น NPL รวมถึง NPA ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาท รวมถึงครอบคลุมลูกหนี้ที่ยังไม่ดำเนินคดี และดำเนินคดีแล้ว
“บริษัทจะรับซื้อหนี้ในราคายุติธรรม และคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับสอดคล้องจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย และในอนาคตจะขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมการรับซื้อหนี้ประเภทอื่น รวมถึงหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง” นายวิทัย กล่าว
นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAM กล่าวว่า จะร่วมกันวางแผนบริหารกิจการร่วมทุน วางแนวทางในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่างๆอย่างดีที่สุด มุ่งมั่นช่วยเหลือลูกหนี้ที่สุจริตให้ผ่านพ้นปัญหาหนี้สินไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะส่งผลให้หนี้เสียได้รับการแก้ไขให้กลายเป็นหนี้ดีกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจปกติต่อไป และทำให้ BAM ดำรงบทบาทหลักในการพลิกฟื้นสินทรัพย์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยได้อย่างยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ขององค์กร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เผ่าภูมิ' เผย ครม.อนุมัติโครงการสินเชื่อสร้างอาชีพ 1.5 หมื่นล้าน
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า กระทรวงการคลังได้เสนอ 2 เรื่องเข้าสู่ที่ประชุม โดยเรื่องที่ 1.เป็นเรื่องสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ เป็นโครงการของธนาคารออมสิน ยอดวงเงิน 15,000 ล้านบาท