ทอท.ดันให้บริการไพรเวทเจ็ทหวังดึงลูกค้ากระเป๋าหนักเข้าไทย

ทอท.ลุยเปิดเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนสร้างและบริหารจัดการอาคาร ไพรเวทเจ็ท พร้อมศูนย์ซ่อม มูลค่าพันล้าน หวังดึงลูกค้ากระเป๋าหนักเข้าไทย เร่งเครื่องดอนเมืองเฟส3 เปิดประมูลได้ต้นปี68 แล้วเสร็จปี 72 รองรับผู้โดยสาร 50ล้านคนต่อปี

29 พ.ค. 2567 – นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ในปี2568 ทอท.ยังมีแผนที่จะเปิดประกาศเชิญชวนเอกชนที่มีความชำนาญในการบริการจัดการอาคารเครื่องบินส่วนตัว(ไพรเวท เจ็ท) และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยทอท.จะใช้พื้นที่บริเวณอาคารคลังสินค้าที่ 4  ที่อยู่ด้านทิศใต้สนามบินดอนเมือง เป็นอาคารเครื่องบินส่วนตัวมูลค่าโครงการกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งการเปิดประกาศเชิญชวนเอกชนนั้นนอกจากเอกชนจะได้สิทธิสร้างและบริหารจัดการพื้นที่บริเวณคลังสินค้าที่4แล้ว ยังจะได้รับสิทธิในการบริหารจัดการอาคาร เอ็มเจ็ท ซึ่งเป็นอาคารบริการเครื่องบินส่วนตัวด้วย

“สาเหตุที่ ทอท. ต้องมีการเปิดเชิญชวนเอกชนเข้ามาบริหารจัดการอาคารผู้โดยสารและ ศูนย์ซ่อมเครื่องบินไพรเวท เจ็ท ที่สนามบินดอนเมือง เนื่องจากในปัจจุบัน ทอท. มีการเปิดให้บริการเครื่องบินส่วนตัวและบริการที่ อาคาร เอ็มเจ็ทซึ่งอยู่ด้านทิศใต้สนามบินดอนเมือง รองรับเครื่องบินเข้ามาใช้บริการได้ประมาณ 30 ไฟทล์ต่อวัน ขณะที่ ศูนย์บำรุงรักษาเครื่องบินส่วนตัวแบบครบวงจรจะอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์สามารถรองรับเครื่องบินขึ้น ลง ได้กว่า 200 ไฟทล์ต่อวัน”นายกีรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หาก ทอท.เชิญชวนเอกชนที่มีความชำนาญเข้ามาบริหารจัดการและเปิดศูนย์ซ่อมก็มั่นใจว่าจะรองรับรับลูกค้าในระยะแรก กว่า 60 ไฟทล์ต่อวัน และในอนาคตก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ ขณะเดียวกันการเปิดอาคารเครื่องบินส่วนตัว และ ศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาพร้อมกัน ก็มั่นใจว่า จะสามารถดึงลูกค้าคนไทยกระเป๋าหนักที่มีเครื่องบินส่วนตัวให้เข้ามาจอด และ บำรุงรักษาแบบครบวงจรได้อย่างแน่นอน

นายกีรติ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมการรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 งานสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาสนามบินดอนเมือง ระยะที่ 3 เพื่อระดมความเห็นนำไปประกอบการออกแบบโครงการให้มีความเหมาะสม  ว่า การขยายสนามบินดอนเมือง  ระยะที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการเดินทางทั้งในและระหว่างประเทศ  ตามนโยบายการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน ของโลก (Aviation Hub) ของรัฐบาล

สำหรับสนามบินดอนเมือง ระยะที่3จะเริ่มเปิดประกวดราคาได้ในต้นปี 2568 และเริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ใหม่ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้สนามบินให้เป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศแล้วเสร็จเปิดให้บริการปี2572 และปรับปรุงอาคารระหว่างประเทศ 1 และ2 เดิม ให้เป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศ เปิดให้บริการปี 2574 ซึ่งจะทำให้สนามบินดอนเมืองเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินให้สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี

“ได้วางเป้าหมายให้ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นท่าอากาศยานที่สะดวกสบายใกล้ใจกลางกทม. เข้าถึงได้รวดเร็ว เชื่อมต่อการเดินทางได้สะดวก ซึ่งจะแตกต่างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่เป็นคอนเนคติ้งไฟล์ท ที่มีการเชื่อมต่อเที่ยวบินจำนวนมาก ส่วนท่าอากาศยานดอนเมืองจะเป็นลักษณะพอยต์ ทู พอยต์ เชื่อมต่อการเดินทางได้ภายในเส้นทางเดียวไปยังจุดหมายปลายทางเน้นกลุ่ม จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และสิงคโปร์”นายกีรติ กล่าว

นอกจากนั้นทอท. จะเดินหน้าเปิดอาคารคลังสินค้าที่ 1 และ 2 เพื่อเปิดให้บริการ อาคารคลังสินค้า มั่นใจว่าหากมีการปรับปรุงและเปิดให้บริการจะสามารถรองรับปริมาณสินค้าผ่านคลังสินค้าที่สนามบินดอนเมืองได้กว่า 500.000 ตันต่อปี ซึ่งจะสร้างรายได้ให้ ทอท. อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีแผนการบริการคลังสินค้าทางอากาศ หรือ คาร์โก้ เนื่องจากที่ผ่านมาหลายปีท่าอากาศยานดอนเมืองยังใช้ประโยชน์จากคาร์โก้น้อยมาก โดยจะพัฒนาหลังจากการก่อสร้างท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 แล้วเสร็จ ซึ่งจะสามารถเพิ่มศักยภาพให้รองรับสินค้าได้ปีละ 5  แสนตัน

สำหรับความคืบหน้ากรณีที่กองทัพอากาศ (ทอ.) มีแผนจะส่งมอบพื้นที่สนามกอล์ฟกานตรัตน์ หรือ สนามงู จำนวน 355 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ที่ได้มอบให้กองทัพอากาศดูแล นายกีรติกล่าวว่า เป็นพื้นที่ด้านข้างทางวิ่ง (รันเวย์) ท่าอากาศยานดอนเมือง ที่ผ่านมามีการประชุมของคณะกรรมการร่วมประกอบด้วยกระทรวงคมนาคม กองทัพอากาศ และทอท.  เพื่อสนับสนุนแผนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคนี้ (Aviation Hub)ตามนโยบายของรัฐบาลจากการที่วิเคราะห์แล้วพื้นที่มีความเหมาะสมการเดินทางการอากาศ เพื่อปรับพื้นที่ให้ลดความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยการบินไม่ให้มีคนเข้าเหมือนท่าอากาศยานอื่น

นายกีรติ กล่าวว่า หลังจากการปรับพื้นที่ จะนำมาใช้ประโยชน์ให้เป็นแท็กซี่เวย์ เนื่องจากปัจจุบันดอนเมืองมี 2 รันเวย์ แต่ไม่มีพื้นที่หัวท้ายให้เครื่องจอดรอขึ้น-ลง ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ขณะที่ปัจจุบัน ทำการบินบิน 50 ไฟล์ทต่อชั่วโมง หากได้พื้นที่สนามงูคาดว่าจะเพิ่มขีดความสามารถในการบินได้เป็น 60 ไฟล์ทต่อชั่วโมง  อย่างไรก็ตามกรณีที่กองทัพอากาศ ได้ประเมินไว้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในช่วง 30 ปีอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 90-100 ล้านบาทต่อปี จากผลกระทบต่อบุคลากรที่ทำงานอยู่ในสนามกอล์ฟ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับกองทัพอากาศซึ่งอาจจะไม่ต้องจ่ายถึง 3 พันล้านบาท

เพิ่มเพื่อน