โซเชียลดันตลาดอาร์ตทอยบูม กระแส 'ลาบูบู้' ผ่านจุดพีกไปแล้ว?

คงปฏิเสธไม่ได้ว่านาทีนี้กระแสของ “อาร์ตทอย” (Art Toy) ในประเทศไทย ได้ขยายสู่วงกว้างมากขึ้น แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาวงการดังกล่าวจะเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยกว่าในอดีต แต่ด้วยกระกระแสของ “ลาบูบู้” Labubu ที่ผ่านมา ทำให้คนนอกวงเริ่มให้ความสนใจและกระโดดเข้าสู่วงการอาร์ตทอย แน่นอนว่าชื่อของ “ลิซ่า” ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความฮอตของตลาดอาร์ตทอยบ้านเรามาแรง จนกลายเป็นกระแสและทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูง ผู้คนต่างรอคิวยาวกันเป็นวันเพื่อจะได้จับจองเป็นเจ้าของ หรือแม้กระทั่งวงการรีเซลก็ทำราคาพุ่งสูงไปหลายเท่าตัวอีกด้วย

เห็นได้ชัดว่าสื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อคนไทยหลายอย่าง ทั้งเรื่องของการช้อปปิ้ง การแชร์เรื่องราวในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งการซื้อสินค้าตามกระแสจากคนดังต่างๆ ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการโพสต์เพียงครั้งเดียวของ “ลิซ่า” ทำให้ชื่อของ “ลาบูบู้” มีดีมานด์พุ่งขึ้นมาในทันที แม้ว่าที่ผ่านมาเจ้าตัวจะมีหลายแบรนด์ให้เห็นในโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็มีหลายกลุ่มเป้าหมายหรือฐานแฟนคลับที่สามารถซื้อตามได้ ชื่อของลิซ่าทำให้เกิดกระแสทั้งในไทยและต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง แต่สำหรับประเทศไทยครั้งนี้นับว่าเป็นสินค้าราคาไม่แรง แฟนคลับหรือผู้ที่ชื่นชอบลิซ่า หรือแม้แต่คนที่มองเห็นความน่ารักของเจ้าลาบูบู้ ก็สามารถเป็นเจ้าของได้

จากกระแสต่างๆ ในโซเชียลมีเดียในไทย คงเป็นการตอกย้ำได้ว่าสื่อดิจิทัลยังเติบโต โดยข้อมูลจาก MI GROUP ได้ประเมินสัดส่วนเม็ดเงินของสื่อหลักปี 2567 มองว่าสื่อโทรทัศน์และสื่อดั้งเดิมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โรงภาพยนต์ จะอยู่ที่ 35% สื่อดิจิทัล 45% สื่อนอกบ้าน 20% โดยเม็ดเงินสื่อดิจิทัลเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว 14% และคาดการณ์โตต่อเนื่องที่ 8% ในปีนี้ (ข้อมูลจาก DAAT) นัยยะสำคัญมาจากความนิยมและความร้อนแรงอย่างต่อเนื่องของ KOLs/ Influencers ที่นักการตลาด และผู้ประกอบการนิยมใช้งานมากขึ้น

ทั้งนี้ คาดการณ์จำนวน KOLs/ Influencers จะพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 2,000,000 คน ส่วนใหญ่เป็น KOLs/Influencers ในกลุ่ม Micro และ Nano Influencers ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของจำนวน KOLs/ Influencers ขณะที่ในปีที่ผ่านมาคือ Affiliate Programs ที่แพร่หลาย ซึ่งสนับสนุนให้ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียสามารถหารายได้เสริมได้ในยุคเศรษฐกิจซบเซาในปัจจุบัน ประกอบกับจำนวน Social Platform ที่มีมากขึ้น หลากหลายขึ้น ทำให้ผู้ใช้งานสะดวกใจ เปิดใจและอยากที่จะแสดงตัวตนบนโลกโซเชียลมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็น Digital natives (Y, Z, Alpha) และผันตัวเองเป็น KOLs/ Influencers มือสมัครเล่นในที่สุด

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด ระบุว่า กระแสความนิยมของอาร์ตทอยอย่าง “ลาบูบู้” เป็นอีกกระแสที่รอวันซาลง และคงไม่ได้อยู่ในจุดสูงสุดได้ตลอดเวลา โดยความฮิตของอาร์ตทอยในประเทศไทยมีมานานแล้วระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มเจน Z และ Y ที่ชื่นชอบและสะสมงานอาร์ตทอยจาก POP MART มานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น มอลลี (Molly) หรือครายเบบี้ ก็ได้รับความนิยมในกลุ่มคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง ใครชื่นชอบตัวไหนก็หามาเก็บสะสม และมาที่กระแสล่าสุดคือลาบูบู้ ที่เป็นกระแสที่พีคมาก เนื่องจากมีชื่อของ “ลิซ่า” เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยที่ช่วยจุดกระแส ที่ทำให้แม้แต่คนที่ไม่ได้ชอบอาร์ตทอยมาก่อน แต่ด้วยมุมของลิซ่าก็ทำให้กลุ่มเหล่านั้นหันมาสนใจอาร์ตทอยหรือลาบูบู้กันมากขึ้น บวกกับกาทำตลาดผ่านไอเท็มที่หายาก ยิ่งทำให้ผู้คนตามหาสินค้าและดีมานด์พุ่งสูงขึ้น  

“กระแสลาบูบู้ที่เกิดขึ้น เป็นการเกิดกระแสปกติทั่วไปและไม่น่าอยู่นาน คงต้องบอกว่าลาบูบู้ได้ผ่านจุดพีกไปแล้ว ในช่วงก่อนหน้าหากนักการตลาดจะต่อยอดอะไรจากความฮิตของลาบูบู้ที่เกิดขึ้น ก็จะได้รับผลตอบรับที่ดี แต่ถ้าทำตอนนี้อาจจะมีโอกาสไม่ได้ผลตอบรับที่ดีเหมือนเดิมแล้ว”

หากในแง่ของกำลังซื้อก็ต้องบอกว่าผู้บริโภคที่มีกำลังทรัพย์ ก็ยังจับจ่าย แต่อาจจะเริ่มลดลงตามกระแสที่เริ่มซาลงไป ส่วนคนที่มีปัญหาด้านกำลังซื้อ ก็อาจจะซื้อน้อยตามเงินในกระเป๋า ทั้งนี้ แม้ว่ากระแสจะแผ่วลงและผ่านจุดพีกไปแล้ว แต่งานอาร์ตทอยก็จะมีฐานแฟนคลับ ที่ยังมองหาสินค้าอย่างต่อเนื่อง

ผศ. ดร. เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการคณะทำงานจัดการองค์ความรู้และสื่อสารสาธารณะ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หนึ่งในกลยุทธ์ที่น่าสนใจของ POP MART คือการตั้งชื่อสินค้าว่า “อาร์ตทอย” นับว่าเป็นการตั้งชื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่ามีความแตกต่างจากตุ๊กตาทั่วไป และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น แน่อนว่าจะเห็นในหลายธุรกิจที่มีการตั้งชื่อใหม่ให้เกิดมูลค่าทางสินค้ามากยิ่งขึ้น และหากชื่อหรือแบรนด์ติดตลาดก็จะมีคนแห่กันไปซื้อ และจากกระแสของลาบูบู้ แน่นอนว่าจะเห็นการตลาดในลักษณะนี้บ่อยขึ้น มากขึ้น แต่ก็มาเร็วไปเร็ว

“สำหรับสินค้าที่ถูกทำให้เป็นกระแส จะเกิดการปั่นราคาเพื่อสร้างกำไรมากขึ้น ลักษณะคล้ายๆ การเก็งกำไรหุ้น ที่มีการปั่นราคา เป็นสินทรัพย์ระยะสั้น จากกระแสความฮิตและการปั่นราคาเพื่อเก็งกำไร จะเห็นได้ว่าเหล่านี้ถือเป็นโมเดลการลงทุนที่ซ่อนอยู่ในสินค้า แต่สักพักจะมีจุดที่สูงเกินไปแล้วราคาตกลงมา”

ในแง่ของกำลังซื้อคงต้องบอกว่าอาร์ตทอยไม่ได้จับกลุ่มผู้บริโภคทุกคน ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของการเก็งกำไรเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งกลายเป็นเป็นของสะสมสำหรับบางคน แต่สำหรับพ่อค้าแม่ค้ากลายเป็นการเก็งกำไร สร้างรายได้กับตัวเอง  แต่กระแสจะเริ่มเบาลงเมื่อเข้าสู่สินค้ายุคใหม่หรือมีสินค้าอื่นๆ ที่เป็นกระแสเข้ามาแทน

“สิ่งเที่เรียนรู้ได้จากกระแสเหล่านี้คือเราขายอีโมชั่นมากกว่าฟังก์ชั่นของมัน เราจะเห็นกระแสเรื่อยๆ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ โซเชียลตลาดคนจะฟูเร็ว เช้ามาคนรู้จักทั่วไปหมด ทำให้ product life cycle สั้นลง คงต้องบอกว่างบลายบ๊อกซ์อาจจะคล้ายๆ พวกกล่องสุ่ม กาชาปอง เป็นอีโมชั่นซ่อนอีโมชั่น ลุ้นก่อนจะได้อะไร ต่อมาได้แล้วก็จะมีความสุขที่ได้มันด้วย ส่วนในแง่ธุรกิจก็ต้องบอกว่าการตลาดลักษณะนี้คุมจำนวนที่จะขายได้ กล่องสุ่มจะเกลี่ยเพื่อให้สินค้าแต่ละชนิดขายได้พอๆ กัน และแน่นอนว่าสังคมไทยเป็นพื้นที่เหมาะสำหรับปั่นกระแส ไม่ใช่เรื่องผิด ในแง่ของธุรกิจต้องเลือกให้เหมาะสมกับธุรกิจของลูกค้า”

อย่างไรก็ดี ย้อนกลับไปเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ป๊อปมาร์ท (POP MART) ได้ทำการเปิดตัวแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อตอบสนองผู้บริโภค จะเห็นได้ว่าคนไทยให้ความสนใจกระแสป๊อปคัลเจอร์เพิ่มขึ้นมาก และหนึ่งในกระแสยอดนิยมก็คือ อาร์ตทอยส์ในรูปแบบบลายบ๊อกซ์ ที่สร้างความตื่นเต้นและลุ้นทุกครั้งว่าเมื่อเปิดกล่องออกมาจะได้อาร์ตทอยส์รูปแบบใด ถือเป็นเสน่ห์ของอาร์ตทอยส์ในรูปแบบบลายบ๊อกซ์

ด้วยพลังไอเดียการออกแบบ ที่ร่วมกับศิลปินต่างๆ ทำให้สาขาของป๊อปมาร์ทเป็นเสมือนห้องจัดแสดงผลงานศิลปะ ที่รวมผลงานด้านการออกแบบอันเกิดจากแรงบันดาลใจที่สะท้อนแนวคิดอันพิถีพิถัน กลั่นกรองอย่างลึกซึ้ง เพื่อสะท้อนบริบททางสังคมในแง่มุมต่างๆ ผ่านผลงานทรงคุณค่าของเหล่าศิลปินและนักออกแบบจากทั่วทุกมุมโลก ด้วยกระแสนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นนี้เอง ทำให้เกิดความร่วมมือในการสร้างสรรค์ผลงานคอลเลกชันพิเศษร่วมกับแบรนด์ระดับโลกอย่างดีซี ดิสนีย์ วอร์เนอร์ แฮร์รี พอตเตอร์ และอื่นๆ อีกมากมายที่ได้เห็นกัน

แม้ว่ากระแสของ “ลาบูบู้” จะเริ่มเบาลงและไม่แรงเหมือนช่วงแรกๆ แต่ต้องยอมรับว่าวงการอาร์ตทอยของเมืองไทย สามารถเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะชื่อของ POP MART ที่ทำให้คนนอกวงการสนใจสินค้าของแบรนด์และหามาไว้ในครอบครองมากขึ้น ด้วยความน่ารักของตัวคาแรคเตอร์ต่างๆ บวกกับดีไซน์ที่เรียกว่าไม่ธรรมดา ทำให้สร้างความแตกต่างกลายเป็นงานอาร์ตกึ่งของเล่นสะสมไปในตัวอีกด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอบรูซ' เล่านาทีคุยกับ 'ลิซ่า' ในกองถ่าย เผยซีนน่าเสียดายที่ผู้กำกับคัททิ้ง

สร้างความฮือฮาให้กลุ่ม LGBTQ เป็นอย่างมาก สำหรับโอกาสครั้งสำคัญในการพรีเซนต์ความเป็นไทย เมื่อนักร้องคนดังระดับโลก "ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล" ปล่อยซิงเกิลใหม่ "ROCKSTAR" ยกกองมาปักหลักถ่ายทำที่ประเทศไทย และใช้นักแสดงร่วมคนไทยเข้าฉากโกอินเตอร์ไปทั่วโลก

เปิดใจ 'น้องยี่หวา' แม่ค้าขายไก่ทอด ดีใจหน้าคล้าย 'ลิซ่า'

จากกรณี เพจ "ThaiMarketing" ได้โพสภาพสาวน้อยแม่ค้าขายไก่ทอดคนหนึ่ง ที่มีหน้าตาคล้ายซุปเปอร์สตาร์ "ลิซ่า" หรือนางสาวลลิษา มโนบาล ศิลปินดัง เจ้าของเพลงร็อกสตาร์ (Rockstar)

ถึงคิว'เศรษฐา' โหนลิซ่า ขอบคุณใช้ประเทศบ้านเกิดโปรโมทท่องเที่ยว

นายกฯ ขอบคุณ “ลิซ่า” ใช้ประเทศที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอน ถ่าย MV ช่วยโปรโมทท่องเที่ยว สั่งเข้ม มาตรฐาน ความสะอาด-ปลอดภัย นักท่องเที่ยวมาแล้วต้องไม่ผิดหวัง

'พิธา' รับบทเอฟซี 'ลิซ่า' ยกเป็นผู้ทำคุณูปการให้ชาติ อัด 'ซอฟต์พาวเวอร์' ไม่ใช่การยัดเยียด

'พิธา' รับบทเอฟซีภูมิใจ 'ลิซ่า' ปล่อย MV บอก 'ทำเกิน' ไม่ใช่แค่ทำถึง ยกเป็นผู้ทำคุณูปการให้ชาติ ย้ำ 'ซอฟต์พาวเวอร์' ไม่ใช่การยัดเยียด-ประดิษฐ์ประดอย

'กวีพี่คนดี' ร่ายกลอน ที่สุดซอฟต์พาวเวอร์ไทย ได้ขับเคลื่อน โดยไม่ต้องผลาญงบพีอาร์

เพจเฟซบุ๊ก พี่คนดี กวีสมัครเล่น โพสต์บทกลอนชื่อ "ที่สุด ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ได้ขับเคลื่อน" โดยมีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้ คนบางคน ได้บิดา ส่งมาขับ แต่ผลงาน ไม่ขยับ เพราะสับสน

รัฐบาลชื่นชม 'ลิซ่า' สำนึกรักบ้านเกิด โปรโมต 'เยาวราช' หนุนท่องเที่ยวไทย

รัฐบาลชื่นชม 'ลิซ่า' แบบอย่างที่ดีของเยาวชนไทย ใช้เยาวราชในผลงานล่าสุด แสดงออกสำนึกรักบ้านเกิด ชูศักยภาพ ส่งเสริม Soft Power ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมไทย