ส่งออกเดือน เม.ย.67 พลิกกลับมาเป็นบวก 6.8%

‘พาณิชย์’ เผยส่งออก เม.ย.67 มีมูลค่า 23,278.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 6.8% กลับมาเป็นบวก หลัง มี.ค. ติดลบ รวม 4 เดือน มูลค่า 94,273.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 1.4% ยันขาดดุลการค้าไม่น่าห่วง เหตุเป็นการนำเข้าพลังงาน ที่ราคาสูงขึ้น และส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบ คาด พ.ค. ยังเป็นบวก ได้แรงส่งจากการส่งออกสินค้าเกษตร และผลไม้ ส่วนเป้าทั้งปี ยังคงเดิม 1-2%

23 พ.ค. 2567 – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน เม.ย.2567 มีมูลค่า 23,278.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.8% กลับมาเป็นบวก หลังจากเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ติดลบครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 834,018 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 24,920.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.3% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 903,194 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 1,641.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 69,176 ล้านบาท รวม 4 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออก มูลค่า 94,273.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.4% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 3,338,028 ล้านบาท การนำเข้า มูลค่า 100,390.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.9% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 3,595,217 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 6,116.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 257,190 ล้านบาท

สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 2% โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 12.7% แต่สินค้าเกษตร ลด 3.8% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่แปรรูป เครื่องดื่ม ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และสิ่งปรุงรสอาหาร ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ทั้งนี้ 4 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 0.8%

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 9.2% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ทั้งนี้ 4 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 1.8%

ทางด้านตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ตลาดหลัก เพิ่ม 6.7% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 26.1% CLMV เพิ่ม 5.1% อาเซียน (5) เพิ่ม 3.7% และสหภาพยุโรป (27) เพิ่ม 20.2% แต่จีน ลด 7.8% และญี่ปุ่น ลด 4.1% ตลาดรอง เพิ่ม 14.4% โดยตลาดทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 18.6% เอเชียใต้ เพิ่ม 13% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 17.8% แอฟริกา เพิ่ม 32.1% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 41.9% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 8.6% แต่สหราชอาณาจักร ลด 33.7% ตลาดอื่น ๆ ลด 68.5% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ลด 79.3%

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออก เดือน พ.ค.2567 คาดว่าจะยังคงขยายตัวเป็นบวกได้ต่อเนื่อง โดยสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งข้าว ยางพารา จะยังส่งออกได้ดี และผลไม้ จะเป็นเดือนที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น หลังผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และไตรมาส 2 ทั้งไตรมาส น่าจะเป็นบวกได้ 0.8-1% มีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว เงินเฟ้อเริ่มเบาลง ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของหลายประเทศ มีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตร เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร แต่ยังต้องจับตาปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ต่อไป เพราะอาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออกได้ ส่วนการขาดดุลการค้า เจาะลึกดูแล้ว เป็นการขาดดุลจากการนำเข้าสินค้าพลังงานที่ราคาสูงขึ้น แต่มีข้อดี คือ การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบ รวมกันถึง 66% ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการผลิตและส่งออกในอนาคต และเป้าหมายทั้งปี ยังคงยืนยันที่ 1-2% เหมือนเดิม ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกเดือน พ.ค.2567 คาดว่า จะยังคงขยายตัวได้ดี เพราะสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งข้าว ยางพารา และผลไม้ ที่จะกลับมาส่งออกได้ดีขึ้น จะช่วยผลักดันมูลค่าการส่งออก และสินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ก็จะยังเติบโตได้ดี โอกาสที่การส่งออกของเดือน พ.ค.และ มิ.ย. น่าจะทำได้ 24,500 ล้านเหรียญสหรัฐ มีโอกาสเป็นไปได้ และไตรมาส 2 จะขยายตัวได้ที่ 1% แต่ก็ต้องจับตาปัญหาความตึงเครียดในทะเลแดง และค่าระวางเรือ ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จะเป็นต้นทุนต่อการส่งออก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“สุชาติ” ชี้ช่องทางตลาดในและต่างประเทศแก่ผู้ประกอบการถุง พลาสติกสาน สยามแฟล็กซ์แพ็ค จำกัด โอกาสโตยังเปิดกว้าง!

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา หารือกับผู้บริหาร บริษัท สยามเฟล็กซ์แพ็ค จำกัด ผู้ประกอบการผู้ผลิตสินค้าถุงกระสอบพลาสติก สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA

‘สุชาติ’ แนะเกษตรกร/ผู้ประกอบการโคนม นำนวัตกรรม และดูแลสิ่งแวดล้อม เพิ่มมูลค่า พร้อมศึกษาประโยชน์จาก FTA ขยายตลาดส่งออก

รมช.พณ. สุชาติฯ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการนมโคแปรรูป ในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกษตรและผู้ประกอบการเร่งใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายตลาดส่งออก และเตรียมความพร้อมกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่การเปิดเสรีสินค้านมและผลิตภัณฑ์ ภายใต้ FTA ไทย-ออสเตรเลีย และ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2568