‘กบข.’ การันตีปี 2567 ปั้นผลตอบแทนจากการลงทุนกระฉูด กางแผนลงทุนเน้นกระจายและรองรับความเสี่ยง พร้อมศึกษาความพอเพียงเงินสมาชิกหลังเกษียณ-เพิ่มทางเลือกในการรับผลตอบแทนรูปแบบอื่น เมินลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ลุ้นตลาดหุ้นไทยทยอยฟื้นตัว รับอานิสงส์ท่องเที่ยวคึกดันธุรกิจบูมตาม
23 พ.ค. 2567 – นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า ในปี 2567 คาดผลตอบแทนจากการลงทุนจะดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ต้นปี สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว 3% ซึ่ง กบข. มีการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท ทั้งในและต่างประเทศ และการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถรองรับสภาพความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด และได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม โดยปัจจุบัน สัดส่วนการลงทุนเป็นในต่างประเทศ 60% ในประเทศ 40% โดยเป็นการลงทุนทั้งในสินทรัพย์ตราสารหนี้ ตราสารทุน สินทรัพย์ทางเลือก เป็นต้น ขณะที่สัดส่วนการลงทุนในทองคำ ปัจจุบันอยู่ที่ 1% ของพอร์ตการลงทุน โดยยอมรับว่าในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่ปัจจุบันมีสมาชิก กบข. 1.2 ล้านคน
ทั้งนี้ ในปีนี้ มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุนในระยะสั้นได้ทันการณ์ ทั้งสงครามตะวันออกกลาง ความขัดแย้งอิสราเอล-อิหร่าน และความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ผลการเลือกตั้งและแนวนโยบายในหลายประเทศ โดยเฉพาะประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ และแนวนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน
ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่คงอยู่ในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา จะลดทอนความสามารถในการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง เงินเฟ้อปรับตัวลดลงแบบชะลอตัวและยังคงสูงกว่าเป้าหมายระยะยาวของธนาคารกลาง ส่วนเศรษฐกิจไทย ยังต้องติดตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งนี้ มีความเชื่อมั่นในการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และการกดดันด้านเงินเฟ้อลดลง โดยปีนี้มีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าปี 2566
“กบข.ได้กำหนดแผนงานวางรากฐานการบริหารกองทุน ในการขับเคลื่อน กบข.ให้เป็นกองทุนที่มีความมั่นคง สร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีนระยะยาว มากกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 ปี บวก 2% ต่อปี และเพิ่มระดับความไว้วางใจของสมาชิกที่มีต่อ กบข. ส่วนเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ขณะนี้ กบข. ยังไม่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าวมากนัก โดยยังคงให้ความสำคัญในการลงทุนกับสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่เห็นได้ชัดเจนเป็นหลักมากกว่า” นายทรงพล กล่าว
นายทรงพล กล่าวว่า สำหรับภารกิจแรกที่จะดำเนินงานภายหลังเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ กบข. คือ การทบทวนความเพียงพอของวงเงิน ณ วันเกษียณ โดยเพิ่มตัวแปรหนี้สิน การมีอายุยืนยาวของคนไทย และระดับความเพียงพอของสมาชิกแต่ละกลุ่มอาชีพเข้ามาศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ระดับความเพียงพอมีค่าเป็นปัจจุบันมากที่สุด และนำผลศึกษามาปรับปรุงแผนการจัดสรรการลงทุนของ กบข.
ด้านที่สอง คือ การศึกษาเพิ่มทางเลือกในการรับผลตอบแทนรูปแบบอื่นให้กับสมาชิก โดยทางเลือกในการรับผลตอบแทนรูปแบบอื่นออกแบบสำหรับส่วนเพิ่มเงินออมที่สมาชิกเพิ่มเติมจากภาคบังคับ เนื่องจากความต้องการของสมาชิกในการออมเพิ่มนั้นอาจมีลักษณะผลตอบแทน เช่น ต้องการรับเงินปันผลระหว่างทาง ต้องการทางเลือกในการออมเพิ่มเติม และอาจรวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น สิทธิ์ในการใช้บริการ Retirement Home & Care เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ และอาจต้องมีการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ นอกจากนี้ เนื่องด้วยการเพิ่มขึ้นของกลุ่มประชากรสูงวัย จะมีส่วนในการปรับปรุงการลงทุนในอนาคตด้วย
“Main Focus ปีนี้ จะศึกษาความเพียงพอ ณ เกษียณ และ การศึกษาการเพิ่มทางเลือกในการรับผลตอบแทนรูปแบบอื่นให้สมาชิก โดยจำกัดเพียงส่วนของเงินออมเพิ่มเท่านั้น ด้าน Retirement Home จะทำการศึกษา แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะใช้เม็ดเงินเท่าไหร่” นายทรงพล กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2566 กบข.สามารถสร้างผลตอบแทนแผนหลักได้ 1.46% (หลังหักค่าใช้จ่าย) โดยได้รับผลดีจากการลงทุนทั้งในและต่างประเทศในตราสารหลากหลายประเภท และการจัดการติดตามการลงทุนอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี ในส่วนภาพรวมแนวโน้มตลาดหุ้นไทยหลังจากนี้ มองว่าน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะส่งผลดีกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง แต่ในรายอุตสาหกรรมอื่น ๆ อาจจะต้องไปดูถึงผลดี ผลเสียจากปัจจัยเกี่ยวเนื่อง ทั้งการกีดกันทางการค้า อัตราดอกเบี้ย และปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทย-ตุรกี ชื่นมื่น รมช. สุชาติ จับมือ รมช. การค้าตุรกี ผลักดันเจรจา FTA ต่อ เพื่อสานสัมพันธ์การค้าการลงทุน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้พบหารือทวิภาคีกับนายมุสตาฟา ตุซคู (H.E. Mr. Mustafa Tuzcu) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าสาธารณรัฐตุรกี ในห้วงการเดินทางเยือนตุรกี เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการถาวรว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า