'มนพร' สั่ง ขสมก. เร่งสางปัญหาเส้นทางรถเมล์ทับซ้อน

‘มนพร’ สั่ง ขสมก. เร่งสางปัญหาเส้นทางรถเมล์ทับซ้อนไทยสมายล์บัส หลังปรับเส้นทางใหม่ หวั่นกระทบแผนฟื้นฟูกิจการฯ เตรียมนำร่องเช่ารถเมล์ 350 คัน ภายในพ.ย.นี้ ขณะที่ประเด็นยกเลิกสัญญา บริษัทช.ทวีฯ เหมาซ่อมรถเมล์ NGV 489 คัน ยันไม่พบการฟ้องร้องเอกชน

22 พ.ค. 2567 -นางมนพร เจริญศรี  รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า กรณีที่มีการปรับเส้นทางเดินรถโดยสารของ บริษัทไทยสมายล์บัส จำกัด ส่งผลให้บางเส้นทางทับซ้อนนั้น เบื้องต้นจากการหารือกับนายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะต้องพิจารณาดูเส้นทางการเดินรถในแผนฟื้นฟูกิจการฯเดิมก่อนว่าขัดกันหรือไม่

“การที่ขสมก.มีเส้นทางเดินรถตามแผนฟื้นฟูฯที่มีอยู่ เราต้องมีคำตอบว่าทำไมถึงต้องยกเส้นทางเดินรถให้เอกชน เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวถือเป็นเส้นทางที่ขสมก.ต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ ซึ่งจะต้องรอพิจารณาเอกสารของบริษัทไทยสมายล์บัสฯก่อนที่จะวิ่งในเส้นทางเดิมที่มีเส้นทางของขสมก.อยู่แล้ว ทั้งนี้ต้องดูนโยบายจากทางคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางด้วย” “มนพร กล่าว

นางมนพร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้รับทราบจากขสมก.ว่ามีการหารือร่วมกับสหภาพฯ ขสมก., พนักงานขสมก.พบว่าจากการประชุมร่วมกันไม่เห็นด้วยที่จะยกเส้นทางให้เอกชน ทั้งนี้ตามนโยบายของกระทรวงต้องยึดกฎระเบียบและผลประโยชน์ของขสมก.เป็นหลัก ซึ่งการปรับเส้นทางทับซ้อนจะต้องหารือภายในร่วมกับขสมก.อีกครั้ง

“ขสมก.ถือเป็นรถเมล์ขวัญใจคนจน ที่คิดอัตราค่าโดยสารตั้งแต่ 8-25 บาท หากให้บริษัทไทยสมายล์บัสฯวิ่งเดินรถแทน จะส่งผลให้ประชาชนแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น อีกทั้งการพิจารณาแผนเส้นทางการเดินรถจะต้องพิจารณาให้รอบคอบทุกด้าน” “มนพร กล่าว

สำหรับเส้นทางเดินรถโดยสารร่วมของขสมก.ที่ทับซ้อนร่วมกับบริษัทไทยสมายล์บัสฯ จำนวน 12 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. สาย 27 มีนบุรี-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 2.สาย 71 ปัฐวิกรณ์-วัดธาตุทอง 3.สาย 2 สำโรง-ปากคลองตลาด 4.สาย 11 หมู่บ้านผาสุข-ประตูน้ำ 5.สาย 1 ถนนตก-ท่าเตียน 6.สาย 4 ท่าน้ำภาษีเจริญ-ท่าเรือคลองเตย 7.สาย 12 ห้วยคลอง-ปากคลองตลาด 8.สาย 77 หมอชิต 2-เซ็นทรัลพระราม 3 9.สาย 82 ท่าน้ำพระประแดง-พาหุรัด 10.สาย 34 รังสิต-แยกคปอ. 11. สาย 92 การเคหะชุมชนร่มเกล้า-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 12.สาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ

ขณะเดียวกันตามแผน ขสมก.ได้เริ่มดำเนินการจัดหารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาดแล้ว โดยในระยะที่ 1 จะทำการเช่ารถเพิ่มจำนวน 350 คัน  ซึ่งจะได้รับรถในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ส่วนระยะที่ 2 จะเช่ารถ EV เข้ามาจำนวน 1,520 คัน พร้อมรับรถเข้ามาช่วงเดือนเมษายน 2568 ดังนั้นจะมีจำนวนรถเข้ามาใหม่รวมจำนวน 1,870 คัน เพื่อนำมาวิ่งให้บริการแทนรถโดยสารเดิมที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล และมีอายุการใช้งานนานกว่า 30 ปี

ระยะที่ 3 จะดำเนินการจัดหารถพลังงานสะอาดตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน (PPP) จำนวน 1,520 คัน ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนเสนอบอร์ดของบประมาณเพื่อว่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงานการศึกษา PPP คาดว่าจะจัดหาผู้ร่วมลงทุน PPP พร้อมทยอยรับรถได้ในช่วงปลายปี 2571 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การจัดหารถโดยสารทั้ง 3 ระยะ จำนวน 3,390 คัน ต้องการให้ประชาชนมีรถโดยสารที่เพียงพอต่อการให้บริการ เนื่องด้วยประชาชนมีแนวโน้มที่จะใช้บริการเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้โดยสารจะไม่ต้องรอรถเป็นเวลานานอีกต่อไป

นอกจากนี้ ในประเด็นที่ขสมก.ยกเลิกสัญญากับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ที่มี บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หลังจากรถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน หยุดวิ่งลง เพราะติดปัญหาเรื่องของสัญญาซื้อขายและจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถเมล์ NGV 489 คัน จึงส่งผลกระทบต่อการให้บริการนั้น ขณะนี้ขสมก.ได้แจ้งยกเลิกสัญญากับเอกชนไปแล้ว ซึ่งจะต้องรอพิจารณาจากเอกสารก่อนว่าเป็นอย่างไร อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่มีการฟ้องร้องแต่อย่างใด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ดันไทยสู่การเป็น Aviation Hub ภูมิภาค ตั้งเป้าติด TOP 20

นายกฯ ดันไทยสู่การเป็น Aviation Hub ภูมิภาค เผยสถิติ 8 เดือน มีผู้โดยสารใช้บริการสนามบินในไทย 81.05 ล้านคน คมนาคมตั้งเป้าผลักดันติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินระดับโลกในปี 72 รองรับผู้โดยสาร 210 ล้านคนในปี 77