‘แบงก์ชาติ’ กางยอดหนี้เน่าไตรมาส 1/67 ปูด 5 แสนล้านบาท ไต่ระดับใกล้เคียงช่วงโควิด-19 แจงห่วงกลุ่มเปราะบางรายได้ตึงมือผ่อนบ้าน-จ่ายบัตรเครดิต พร้อมโชว์ผลงานธนาคารพาณิชย์ประเดิมไตรมาส 1 โขกกำไรอื้อ 6.8 หมื่นล้านบาท
21 พ.ค. 2567 – นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/2567 กลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.7% จากไตรมาสก่อนที่ -0.3% จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอาหาร ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ ขยายตัว 0.4% จากไตรมาสก่อนที่ -1.7% ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกพอร์ต ขยายตัว 1.1% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.3%
ทั้งนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ไตรมาส 1/2567 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5.02 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.74% เป็นสินเชื่อธุรกิจเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.64% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพ และโดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.99% เพิ่มขึ้นในระดับใกล้เคียงช่วงโควิด-19 ที่ 2.90% เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นที่ 3.49% จาก 3.34% ในไตรมาสก่อนหน้า สินเชื่อรถยนต์ 2.14% จาก 2.13% , สินเชื่อส่วนบุคคล 2.54% จาก 2.48% และสินเชื่อบัตรเครดิต 4.13% จาก 3.57%
“ธปท.ห่วงคุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มรายย่อย ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่การฟื้นตัวของรายได้ยังกลับมาไม่เต็มที่ คงไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้ด้วยหนี้ แต่ต้องดูในเรื่องของรายได้ด้วย ซึ่งในกลุ่มหนี้เสียบัตรเครดิต เป็นกลุ่มลูกหนี้มีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 15,000-20,000 บาทต่อเดือน ส่วนหนี้เสียที่อยู่อาศัย มีการกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท และมีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อเดือน” นางสาวสุวรรณี กล่าว
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งคาดว่าจะยังส่งผลให้ NPLทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (NPL cliff) โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 91.3% ต่อจีดีพี แต่คาดว่าในไตรมาส 1/2567 จากการขยายตัวเศรษฐกิจที่ 1.5% สูงกว่าที่ ธปท.คาด และสินเชื่อขยายตัวต่ำ จะส่งผลให้หนี้ครัวเรือนกลับมามีสัดส่วนต่ำกว่า 91% ต่อจีดีพี
สำหรับผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ช่วงไตรมาส 1/2567 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยหลักจากค่าใช้จ่ายดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง ทำให้มีกำไรสุทธิที่ 6.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงจากต้นทุนเงินรับฝากที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ Net Interest Margin (NIM) ของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงอยู่ที่ 3.02% ใกล้เคียงกับภูมิภาค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ 'คุณสู้ เราช่วย' เปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ ลงทะเบียน
รัฐบาล เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” พร้อมเปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อลงทะเบียน ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ
'ธีระชัย' ไขปมคุณสมบัติ 'กิตติรัตน์'
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)