“สุชาติ” มอบนโยบาย สนค. เน้นเร่งวิเคราะห์สินค้าส่งออกตามความต้องการตลาด และมุ่งสนับสนุนภาคเอกชน
21 พ.ค. 2567 – นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบนโยบายในการทำงานให้แก่คณะผู้บริหารสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โดยให้เร่งผลักดันการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ เจาะลึกการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเชิงรุกด้านเศรษฐกิจการค้าที่มุ่งเพิ่มมูลค่าและขยายตลาดส่งออก รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบทางการค้าใหม่ ๆ ทั้งความเสี่ยงและโอกาส เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบ ปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาส ตลอดจนยกระดับการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน โดยนโยบายสำคัญ 5 ด้าน ดังนี้
ด้านที่ 1: ยึดแนวทางปฎิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เร่งดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเร่งขับเคลื่อนภารกิจของหน่วยงาน ยึดแนวทางตามนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และช่วยสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานปฏิบัติอื่น ๆ ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงภาคเอกชน เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้าบรรลุผลสำเร็จ สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนและสร้างประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านที่ 2: วิเคราะห์แนวทางการผลักดันการส่งออก “สินค้าระดับรอง” สู่การส่งออกที่เพิ่มขึ้นปัจจุบันการส่งออกในแต่ละหมวด ยังกระจุกตัวอยู่แค่บางสินค้าเท่านั้น ทำให้การส่งออกของไทยที่ผ่านมา ไม่สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงจำเป็นต้องผลักดันสินค้าศักยภาพที่จะเป็นสินค้าระดับรอง ซึ่งเป็นสินค้า ที่ยังมีมูลค่าส่งออกน้อย แต่กลับเป็นสินค้าที่เติบโตได้ดีมาตลอด มีความต้องการจากตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มในตัวได้ เช่น สินค้าเกษตร ยังมีศักยภาพในการส่งออกกาแฟ กล้วยไม้ สารสกัดจากสมุนไพร ฯลฯ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ยังมีศักยภาพที่จะส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากข้าว ผักผลไม้กระป๋อง ผักผลไม้ แปรรูป น้ำผลไม้/น้ำผัก ไอศกรีม คราฟต์ช็อกโกแล็ต ฯลฯ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นการส่งออก ของธุรกิจชาวต่างชาติ แต่ยังมีสินค้าของธุรกิจคนไทยที่ควรส่งเสริมให้มีศักยภาพ เช่น เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ บำรุงผิว เครื่องใช้ในครัวเรือน ของตกแต่ง ฯลฯ ให้ สนค. ศึกษาแนวทาง หรือกลยุทธ์การผลักดันสินค้าระดับรอง เพื่อทำให้การส่งออกยังสามารถเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ต่อไป
ด้านที่ 3: เจาะลึกการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเชิงรุกให้สอดคล้องและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันสนค. มีการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้า ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญช่วยสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนอื่น ๆ ผู้ประกอบการ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ใช้เป็นข้อมูลและแนวทางประกอบการกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อปฏิบัติงานของภาครัฐ และการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของภาคเอกชน ทั้งนี้ ให้ สนค. มุ่งเน้นเจาะลึกการศึกษาและวิเคราะห์เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงรุก รวมทั้งศึกษาผลกระทบต่าง ๆ ให้สอดคล้องและเท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน และ เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของภาคธุรกิจและประชาชนเพื่อสร้างและขยายโอกาสทางการค้า และพร้อมรับมือความเสี่ยงจากผลกระทบได้อย่างทันท่วงที
ด้านที่ 4: เสริมแกร่ง “SMEs – เกษตรกร” เฟ้นหาตัวจริงดันส่งออก และใช้นวัตกรรมภาคเกษตรเพื่อกระจายรายได้และความเจริญทางเศรษฐกิจ ต้องสนับสนุน SMEs ให้มีบทบาทในการสร้างมูลค่า ทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น โดยให้ สนค. ศึกษาแนวทางการส่งเสริม SMEs ท้องถิ่นในระดับจังหวัดและชุมชน เพื่อพัฒนาให้สามารถส่งออกได้มากขึ้น โดยอาจใช้กลไกพาณิชย์จังหวัดร่วมมือกับหน่วยงานระดับพื้นที่ เฟ้นหา SMEs ตัวจริง เพื่อจับคู่ธุรกิจแบบตัวต่อตัว (B2B) กับคู่ค้าและผู้นำเข้าที่มีศักยภาพ ผลักดันการส่งออกสินค้าชุมชน สินค้า- อัตลักษณ์ท้องถิ่น และสินค้า GI สู่ตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ขอให้ศึกษาแนวทางการสร้างและพัฒนานวัตกรรม (Innovation) ด้านการเกษตร ที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมถึงเครื่องมือและเทคโนโลยี การผลิตเชิงอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อพลิกโฉมเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม สู่เกษตรนวัตกรรม ทั้งหมดนี้ มุ่งหวังให้ SMEs ไทย แข่งขันได้ในตลาดโลก และเพื่อให้เกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ด้านที่ 5: ยกระดับการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนให้ สนค. ยกระดับการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก โดยเฉพาะกระทรวงที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและปากท้องของประชาชน อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือและการสนับสนุนด้านวิชาการ และการเผยแพร่ข้อมูลด้านเศรษฐกิจการค้าที่เป็นประโยชน์ เพื่อชี้นำทิศทางเศรษฐกิจการค้าไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความซ้ำซ้อนของปฏิบัติงาน ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่สอดประสานกันตามนโยบายภาพใหญ่ของรัฐบาล
การประกอบธุรกิจค้าในยุคนี้มีความท้าทายอย่างยิ่ง ต้องเผชิญกับประเด็นหรือปัจจัยใหม่ ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางการค้าแบบพลวัต มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแทบจะตลอดเวลา และจะมีความซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากถูกยึดโยงด้วยปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกันจากหลากหลายมิติความสัมพันธ์ ดังนั้นการนำนโยบายสำคัญทั้ง 5 ด้าน ไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศ และช่วยสนับสนุนทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถกำหนดนโยบาย และมาตรการที่เป็นแนวทางการปฏิบัติ และวางแผนการดำเนินกิจกรรมด้านเศรษฐกิจการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขอให้คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรของ สนค. ในฐานะหน่วยงานวิชาการที่เป็นมันสมอง (Think Tank) ของกระทรวงพาณิชย์ รับมอบนโยบายเพื่อนำไปปฏิบัติ ร่วมแรงร่วมใจขับเคลื่อนการดำเนินงาน ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) อย่างเต็มความสามารถ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'รัฐบาลพ่อเลี้ยง' ฉายารัฐบาลปี67 นายกฯ'แพทองโพย' อนุทิน'ภูมิใจขวาง' วาทะแห่งปี'สามีเป็นคนใต้'
สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายาปี 67 'รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง' ส่วนฉายานายกฯ 'แพทองโพย' 7 รมต.ติดโผ 'บิ๊กอ้วน-อนุทิน-ทวี' พ่วง 3 รมต.โลกลืม
‘เอ็กซิมแบงก์’ เคาะจีดีพี-ส่งออกไทย 68 ฉลุยคาดโต 3%
“เอ็กซิมแบงก์” เคาะจีดีพี-ส่งออกไทยปี 68 โตแน่ 3% ท่องเที่ยวฟื้นเต็มสูบ ปักธงเดินหน้าบทบาท Green Development Bank นำทัพผู้ประกอบการไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมกางผลงานหนี้เสียลด 1.2% มั่นใจสิ้นปีกำไรสุทธิสูงกว่า 1 พันล้าน