'มนพร' สั่ง สบพ. เร่งพัฒนา-สร้างบุคลากรรองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมการบิน

‘มนพร’ มอบนโยบาย สบพ. เร่งพัฒนา-สร้างบุคลากรการบิน รองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยให้เป็น “ศูนย์กลางการบินของภูมิภาค” ปีนี้เดินหน้าทุ่มงบ 414 ล้านบาทและต่อเนื่อง3ปีปรับปรุงศูนย์ฝึกการบินหัวหิน ปรับโฉมรับนักบินกลับมาฝึกบิน หวังการบินไทยซื้อเครื่องบินเพิ่ม จะส่งนักบินมาฝึกอีกเป็นพันคน

20 พ.ค. 2567 – นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ให้นโยบายกับ สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการผลิตบุคลากรต้นแบบด้านการบิน พัฒนาองค์กรและสร้างบุคลากรด้านการบิน ให้พร้อมรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย และการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) ตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงให้ สบพ.เร่งดำเนินการพัฒนาศูนย์ฝึกการบิน หัวหิน เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งในด้านอาคารสถานที่ หลักสูตร อากาศยานที่ใช้ฝึกบิน เครื่องช่วยฝึกบิน และการเตรียมบุคลากรครูการบิน เนื่องจากหลังอุตสาหกรรมการบินกลับมาโต พบว่ามีปริมาณนักบินที่จะเข้ามาศึกษาจำนวนมาก โดยได้ของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลในปี 68 เพื่อพัฒนาปรับปรุงศูนย์ฝึกกว่า 414ล้านบาทในเฟสแรก ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างในปี 68-70 เพื่อพร้อมเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 71

 นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้ สบพ. ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมหลักสูตรด้านความปลอดภัย (Safety Management) ซึ่งเป็นหัวใจของการบิน และหลักสูตรด้านการบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ยึดมั่นในหลักการสำคัญ คือ “คุณภาพ” บุคลากรด้านการบินให้ตรงตามความต้องการของตลาดทางด้านอุตสาหกรรมการบิน ในทักษะที่สำคัญต่อการปฏิบัติงานด้านการบินที่ได้มาตรฐาน โดยปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสนับสนุนการจัดเรียนการสอน/การฝึกอบรม การให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) เร่งเสริมสร้างภาพลักษณ์การประชาสัมพันธ์ที่โดดเด่น เร่งการทำการตลาดเชิงรุก เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับ สบพ.

 ด้านนางสาวภัคณัฎฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน(สบพ.) กล่าวเสริมว่า  ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ผลิตบุคลากรด้านการบินของประเทศ กระทรวงคมนาคมได้มีการจัดสรรงบประมาณในปี 68 จำนวน 414ล้านบาท เพื่อให้ สบพ.ปรับปรุง ศูนย์ฝึกการบินที่หัวหิน เนื่องจากภายหลังที่อุตสาหกรรมการบินกลับโต ทำให้หลายสายการบินได้หันที่จะกลับมาส่งนักบินกลับมาทำการบินและฝึกบินที่สถาบันการบินพลเรือน ซึ่งศักยภาพจะสามารถรองรับนักบินเข้ามฝึกกว่า 150คนต่อปี ในขณะที่การเรียนที่เกี่ยวเนื่องกับการบินทั้งหมด สบพ. สามารถรับนักเรียนเข้ามาศึกษากว่าปีละ 650คน และทุกสาขาทุกชั้นปีรวมแล้ว 3,200คน และรองรับนักเรียนที่จะเข้ามาศึกษาที่ สบพ.ได้กว่า 5,000 คน

“ยอมรับว่าช่วงโควิดแพร่ระบาดและหยุดบินเกือบทั่วโลก ทำให้ สบพ.ประสบปัญหาขาดทุกอย่างหนัก แต่พอการบินกลับมาโต และการบินไทย ได้ประกาศที่จะซื้อเครื่องบินใหม่อีก 45ลำ ก็ยิ่งมั่นใจว่า จะมีนักบินเข้ามาฝึกกับ สบพ. อีกจำนวนมากกว่าพันคนแน่นอน  นอกจากนั้น สบพ. ยังได้ข้อตกลงกับประเทศ มองโกเลีย. สปป.ลาว,กัมพูชา และเกาหลีใต้ ที่จะเข้าไปทำการสอนในเรื่องของ ขั้นตอนการควบคุมการจราจรทางอากาศ หรือ ATC ซึ่งในเรื่องของวิชาการ มั่นใจยิ่งว่า สบพ.ได้รับการยอมรับและได้มาตรฐานมาก”นางสาวภัคณัฎฐ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน