'สภาพัฒน์' หั่นGDPปี67 เหลือ 2-3% ประเมิน 'ดิจิทัลวอลลเล็ต' ช่วยดัน 0.25%

สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/67 ขยายตัวได้ 1.5% จากปีก่อนและขยายตัว1.1% หลังส่งออก-ท่องเที่ยวโตได้ดี พร้อมปรับคาดการณ์ทั้งปีเหลือ 2-3% จับตาความผันผวนของเศรษฐกิจโลกทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

20 พ.ค.2567-นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยแถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567 ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ขยายตัว 1.5% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการผลิตภาคนอกเกษตรขยายตัวจากบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการเกษตร ลดลง 3.5% และหมวดอุตสาหกรรมลดลง 3% ด้านการใช้จ่ายรัฐบาล ลดลง 2.1% และการลงทุนรวมลดลง 4.2% โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ลดลง 27.7%ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการ และการบริโภคอุปโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอลงเช่นกัน โดยเฉพาะปริมาณการส่งออกสินค้า ลดลง 2%

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มทั้งปี 2567 สศช. จึงได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ใหม่ จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 2.2-3.2% ลดลงเหลือ 2-3% (ค่ากลางการประมาณการ 2.5%) โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัว 1.9% ในปี 2566เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าคาด การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาด และการลงทุนภาครัฐยังหดตัว

สำหรับเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวมาจากแรงส่งของภาคของการบริโภคและการบริการเป็นหลัก โดยเฉพาะการบริโภคเอกชนที่ขยายตัวได้ 6.9%  ส่วนเรื่องการส่งออกบริการ คือเรื่องการท่องเที่ยวขยายตัว 24.8% รวมทั้งสาขาบริการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นที่พักแรมบริการด้านอาหารขนส่งและการสาขาการเงิน ขณะที่ภาคการส่งออกขยายตัวได้ 2.5% ส่วนการลงทุนรวมของประเทศในภาคเอกชนขยายตัวได้ 4.6%  ส่วนการลงทุนของภาครัฐที่การลงทุนรวมยังลดลง 27.7% ซึ่งมาจากการล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2567 มีดังนี้   ด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน การส่งออกสินค้าและบริการรวมชะลอลง 6.9%และ 2.5% ตามลำดับ ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล และการลงทุนรวม ลดลง  2.1%และ 4.2% ตามลำดับ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัว 6.9% ชะลอลงจากการขยายตัว 7.4% ในไตรมาส 4/2566 เป็นผลจากอัตราการว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของครัวเรือน โดยการใช้จ่ายฯ ในหมวดสินค้ากึ่งคงทน สินค้าไม่คงทน และหมวดบริการขยายตัว

นายดนุชา กล่าวว่า สศช.คาดว่าจะมีการปรับตัวของภาคการส่งออกดีขึ้นโดยคาดว่าการส่งออกจะบวกได้ 2% ในปีนี้ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ซึ่งยังคงต้องทำควบคู่กับการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อการผลักดันการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยให้เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัวได้ 1.9% โดนเป็นการลงทุนของเอกชน 3.2% ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 3.5% และการลงทุนภาครัฐยังคาดว่าจะลดลง 1.8% นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องของการมีหนี้ครัวเรือนที่สูง ความเสี่ยงเรื่องของปัญหาอุทกภัย รวมทั้งการขนส่งสินค้าทางเรือที่ต้องเผชิญกับการขนส่งที่ยากลำบาก ซึ่งทำให้ค่าระวางเรือแพงขึ้น

ขณะที่เรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังปรับลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามที่หลายประเทศยังคงดอกเบี้ยระดับสูง ประกอบกับการมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทย ซึ่งเหมือนกับในปี 2562 ที่มีปัญหาเรื่องของการกีดกันทางการค้าที่ทำให้มีสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดไทย

สำหรับประเด็นการบริหารเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ในช่วงที่เหลือของปีได้แก่ 1.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่ต้องทำให้ได้ตามเป้าหมาย2.การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอให้กับภาคเอสเอ็มอี ซึ่งต้องทำคู่กับการแก้ปัญหาลูกหนี้เรื้อรัง ขณะที่เรื่องหนี้ครัวเรือนเป็นระเบิดเวลาให้กับเศรษฐกิจไทย3.การดูแลภาคเกษตรและรายได้ของเกษตรกร ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีต้องดูแลเรื่องของความเสี่ยงจากอุกภัย ซึ่งควรเร่งเรื่องของประกันภัยพืชผล 4.การขับเคลื่อนการส่งออก ควบคู่กับการปรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้และส่งออกได้มากขึ้น ควบคู่กับการส่งเสริมการพำนักของนักท่องเที่ยวในระยะยาวและ 5.รองรับและเฝ้าระวังความผันผวนจากเศรษฐกิจโลก ที่มีการทุ่มตลาดและการกีดกันทางการค้า ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น

ส่วนข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงปี 2567 ได้แก่ 1. ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อกับธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะ SMES 2. ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องต่อผลผลิตภาคการเกษตรผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบจากเอลนีโญที่ส่งผลให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติขณะที่ในช่วงที่เหลือของปี ประเทศไทยมีโอกาสเข้าสู่ลานีญาซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหาอุทกภัย และ3. ความเสี่ยงจากความผันผวนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ช้ากว่าที่คาดการณ์ การชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งของหลายประเทศ

เมื่อถามว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะมีส่วนทำให้ จีดีพี ขยายตัวโตมากกว่านี้หรือไม่นั้น นายดนุชา กล่าวว่าประมาณในครั้งนี้ไม่ได้รวมผลของดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไป หากดูไทม์ไลน์ที่จะมีการดำเนินการเรื่องนี้ ที่กำหนดไว้ในช่วงไตรมาส4และใช้ระยะเวลาประมาณ 6เดือนคาดว่าเม็ดเงินจะออกอาจจะยังไม่มีการใช้จ่ายจริงในไตรมาส4ทั้ง 5แสนล้านเพราะฉะนั้นหากดูเป็นช่วงๆในช่วงไตรมาส4 หากมีมาตรการนี้ออกมาจะทำให้เสริมเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 0.25% บนพื้นฐานที่ว่าการเบิกจ่ายไม่ได้ออกมาทั้ง 100% ซึ่งในเรื่องนี้หากดูยังมีเรื่องของแหล่งเงินที่จะจะต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนหากถึงเวลาอาจจะมีแหล่งเงินบางที่มีความพร้อมออกมาซึ่งก็จะสามารถทำในบางส่วนได้ ซึ่งจะต้องติดตามดูในบางช่วงๆไปรวมถึงตัวสินค้าด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'กรมการท่องเที่ยว' จัด 'Trust Me' ลุยเส้นทาง กทม.-ปริมณฑล ดูสถานประกอบการผ่านมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย

นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า กรมการท่องเที่ยวเดินหน้ากระตุ้น สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ภาย