ในบ้านเรา ธรรมาภิบาลหรือความพร้อมที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งในภาคการเมือง ภาคราชการ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพราะถ้าคนในประเทศโดยเฉพาะบุคคลในระดับนําของสังคมไม่พร้อมทําในสิ่งที่ถูกต้อง บ้านเมืองก็จะมีปัญหามาก ล่าสุดธรรมาภิบาลของผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง และผู้เข้ารับตำแหน่งในองค์กรสาธารณะรวมถึงหน่วยงานกํากับดูแล โดยเฉพาะกรณีที่ผู้รับตำแหน่งมาจากภาคธุรกิจเริ่มเป็นข้อห่วงใยโดยเฉพาะประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้ง บทความวันนี้จึงจะเขียนเรื่องนี้ เพื่อตอกยํ้าความสำคัญของธรรมาภิบาลในการทําหน้าที่สาธารณะ และบุคคลในระดับนําต้องทําหน้าที่สาธารณะอย่างถูกต้องเพื่อเป็นตัวอย่างให้สังคม
20 พ.ค. 2567 – หลักธรรมาภิบาลที่เน้นการทําหน้าที่อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความรับผิดรับชอบ หรือ Accountability เป็นหลักการทั่วไปที่ใช้ได้กับการทําหน้าที่ในทุกองค์กร ไม่ว่าจะภาครัฐ คือองค์กรการเมือง องค์กรราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือภาคธุรกิจ ทั้งบริษัทจดทะเบียนและไม่จดทะเบียน และองค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น สมาคม มูลนิธิ มหาวิทยาลัย และสหกรณ์ต่างๆ
แต่ที่ธรรมาภิบาลภาครัฐมีความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกรณีประเทศเรา ก็เพราะการตัดสินใจของหน่วยงานรัฐหรือการตัดสินใจที่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐ จะกระทบการจัดสรรและการใช้ทรัพยากรของประเทศ ซึ่งเป็นสินค้าสาธารณะที่มาจากภาษีของประชาชน สินค้าเหล่านี้มีจํากัดเพราะเราไม่ใช่ประเทศรํ่ารวย ดังนั้น ความเสียหายต่อสิ่งที่เป็นสาธารณะจึงต้องหลีกเลี่ยง เพราะถ้าเกิดขึ้นจะเป็นความสูญเสียต่อประเทศและโอกาสของประชาชน รวมถึงมีผลต่อความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อการทํางานของหน่วยงานรัฐ และความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล
นอกจากนี้ กรณีประเทศเรา ภาครัฐมีความอ่อนแอหลายจุดในเเง่ความเข้มแข็งเชิงสถาบัน ทําให้จะอ่อนไหวมากต่อความผิดพลาดต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นง่ายทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐและโดยนักการเมืองหรือบุคคลในภาคเอกชนที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่สาธารณะ ซึ่งความอ่อนแอของธรรมาภิบาลภาครัฐที่พบเห็นบ่อยในประเทศเราคือความไม่โปร่งใส การขาดความพร้อมที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ทำเมื่อความเสียหายเกิดขึ้น ความไม่พร้อมที่จะให้ตรวจสอบ การไม่ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย การทุจริตคอร์รัปชั่น ประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้งคือแยกไม่ได้ระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมและส่วนตน ความไม่เป็นธรรมหรือลำเอียงในการใช้อำนาจ และการตัดสินใจที่ไม่ปกป้องดูแลผลประโยชน์ของชาติ เอาประโยชน์ส่วนตน ประโยชน์ต่อบริษัทเอกชน ประโยชน์ต่อพรรคการเมือง มาเหนือประโยชน์ของประเทศ
เหล่านี้คือความอ่อนแอที่ทําให้หลักธรรมาภิบาลสําหรับการทําหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เข้ามารับตําแหน่งการเมือง และผู้ที่เข้ามาทําหน้าที่สาธารณะจากภายนอกจึงสำคัญมาก และหลักปฏิบัติต้องชัดเจน ครอบคลุม นําไปใช้จริงจังเพื่อการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น อีกประเด็นที่สำคัญและต้องระวังคือกรณีประตูหมุนหรือ Revolving door ที่บริษัทธุรกิจที่ใกล้ชิดกับฝ่ายการเมืองจะส่งคนของตนเข้าๆ ออกๆ การเมือง คือ เข้ามาร่วมรัฐบาลหรือเป็นประธานเป็นกรรมการในหน่วยงานกำกับดูแลหรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อดูแลผลประโยชน์ของบริษัททั้งปัจจุบันและอนาคต เช่นแก้หรือต่อสัญญา และก็จากไปเมื่อวาระจบลงเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นตัวอย่างของการละเมิด หรือ abuse เจตนารมณ์ของกฎหมายและธรรมาภิบาลที่ร้ายแรง
สะท้อนบริบทดังกล่าว ธรรมาภิบาลสําหรับเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งการเมือง และผู้ที่เข้ามาทําหน้าที่สาธารณะจากภายนอก ในกรณีประเทศเรา จึงควรประกอบด้วยหลักเจ็ดข้อ
หนึ่ง ความโปร่งใส ที่การตัดสินใจต่างๆควรทําอย่างเปิดเผย มีเหตุผลที่อธิบายได้ และประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินใจทั้งที่เป็นข้อมูลการเงินและไม่ใช่การเงิน
สอง ความรับผิดรับชอบ คือ พร้อมรับผิดชอบต่อการตัดสินใจหรือสิ่งที่ได้ทําไป เคารพและให้ความสำคัญกับกระบวนการตรวจสอบที่จะตามมา
สาม ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดตามระเบียบและกฎหมายที่มี
สี่ ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมด้วยความเข้าใจว่าอะไรควรทําไม่ควรทำ แม้ไม่ได้ระบุในกฎหมาย เพราะจริยธรรมสูงกว่ากฏหมาย และประเด็นจริยธรรมที่เป็นจุดอ่อนมากในบ้านเราคือผลประโยชน์ขัดแย้ง เช่นผู้ที่เข้ารับตําแหน่งเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ที่มาเป็นประธานหรือกรรมการในหน่วยงานกำกับดูแล ต้องลาออกจากการเป็นกรรมการหรือประธานบริษัทเอกชนที่อยู่ในการกำกับดูแล เพื่อป้องกันผลประโยชน์ขัดแย้ง เป็นเรื่องที่ควรต้องทำตามมาตราฐานจริยธรรมแม้กฎหมายไม่ได้ระบุหรือห้ามไว้
ห้า มีนโยบายป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น และปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด
หก ความเที่ยงธรรม หมายถึง การทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม ตัดสินใจตามเหตุและผล ไม่มีอคติ
เจ็ด ประโยชน์ต่อส่วนรวม คือให้ความสําคัญสูงสุดต่อประโยชน์ที่จะมีต่อประเทศและส่วนรวมในการตัดสินใจ
นี่คือหลักธรรมาภิบาลเจ็ดด้านที่เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ที่รับตำแหน่งทางการเมือง และผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ทําหน้าที่สาธารณะจากภายนอก ต้องตระหนักและถือปฏิบัติให้เป็นตัวอย่าง เพราะตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งนั้นมากับความรับผิดชอบ การเป็นตัวอย่างที่ดีจะทำให้ส่วนอื่นๆ ของสังคมถือปฏิบัติตาม นำไปสู่ความเป็นระเบียบและความเข้มแข็งของสังคม
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในโลกของความเป็นจริงสิ่งเหล่านี้ท้าทายมาก การไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่ควรทำโดยบุคคลในระดับนําของสังคมมีให้เห็นและเป็นข่าวอยู่เสมอ ที่เป็นข่าวก็เพราะสังคมคาดหวังให้ผู้ที่ทำหน้าที่สาธารณะมีความรับผิดชอบและเป็นตัวอย่างของการปฏิบัติตามสิ่งที่ควรต้องทํา สำหรับผู้รับตำแหน่ง สาเหตุที่ไม่ปฏิบัติอาจเป็นเพราะไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำคือขาดความรู้ หรือตั้งใจไม่ปฏิบัติเพราะไม่สนใจ คิดว่าตัวเองใหญ่พอที่ไม่ต้องทำสิ่งเหล่านี้ หรือรู้ว่าควรต้องทำแต่ไม่อยากทําเพราะกลัวเสียประโยชน์ เช่น รายได้ประจำเดือนหรือเบี้ยประชุมจากบริษัท จึงอ้างว่ากฏหมายไม่ได้ระบุให้ต้องทำ เหล่านี้มีให้เห็นอยู่เสมอ สังคมจึงขาดแบบอย่างที่ดีจากบุคคลระดับนําที่จะเป็นตัวอย่าง ประเทศจึงมีปัญหามาก
ผมคิดว่าการไม่ปฏิบัติตามหลักหรือแนวปฏิบัติที่ดีของผู้ทําหน้าที่สาธารณะเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ เพราะธรรมาภิบาลเป็นเรื่องพฤติกรรมมนุษย์และพฤติกรรมสามารถเปลี่ยนได้แก้ไขได้ ซึ่งกรณีนี้การแก้ไขต้องทําในสองระดับ
ระดับแรกคือให้ความรู้ ซึ่งสามารถทําได้ในระบบออนไลน์ง่ายๆ คืออ่านหลักธรรมาภิบาลและแนวปฏิบัติที่ดีด้วยตัวเอง จากนั้นทําแบบฝึกหัดเพื่อยืนยันความเข้าใจ ถ้าผ่านคือเข้าใจแล้วก็สามารถพิมพ์ใบประกาศออกมาเพื่อใช้เป็นเอกสารที่ต้องมีประกอบการแต่งตั้งผู้ที่จะทำหน้าที่สาธารณะ
ระดับที่สองคือการลงโทษเมื่อมีการไม่ปฏิบัติทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นเริ่องที่ควรต้องทํา ตัวอย่างเช่น ไม่ลาออกจากตำแหน่งประธานหรือกรรมการธนาคารทั้งที่ตนเองได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้กํากับดูแลธุรกิจธนาคารหรือระบบการเงินของประเทศ บทลงโทษอาจเป็นการแบนให้บุคคลดังกล่าวขาดคุณสมบัติในการทําหน้าที่สาธารณะ
เหล่านี้คือสิ่งที่สามารถทําได้เพื่อเป็นกลไกด้านธรรมาภิบาลของประเทศสําหรับผู้ทําหน้าที่สาธารณะ (Integrity mechanism for public officials) แต่ท้ายสุดประเทศจะเป็นอย่างไรก็จะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนในประเทศเป็นสําคัญ โดยเฉพาะบุคคลในระดับนําที่จะเป็นตัวอย่างทำให้ประเทศเลวลงหรือดีขึ้นได้ ดังนั้น ประเทศจะเข้มแข็งหรืออ่อนแอด้านธรรมาภิบาลจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ ทั้งในภาคการเมือง ภาคราชการ และภาคธุรกิจที่ต้องเป็นตัวอย่าง
เขียนให้คิด
ดร บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล