'เผ่าภูมิ' ลุ้นจีดีพีปี67 โตทะลุ2.4% อานิสงส์รัฐจ่อเข็นงบ3ก้อนยักษ์บูมเศรษฐกิจ

‘เผ่าภูมิ’ ชี้ครึ่งปีหลังรัฐเตรียมอัดฉีดงบ 3 ก้อนยักษ์เข้าระบบ หวังช่วยดันจีดีพีปี 67 โตทะลุ 2.4% เตรียมชง ครม. เคาะสินเชื่อเมืองรอง พร้อมลุยมอบนโยบาย สศค. แนะให้คิดนอกกรอบ ปรับนโยบายให้ทันยุค พร้อมเล็งขยายฐานภาษีเพิ่ม ปัดขยับอัตราชี้เศรษฐกิจประเทศยังไม่เหมาะสม

15 พ.ค. 2567 – นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง ที่จะได้เห็นคือเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่จะถูกผลักดันเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านงบประมาณปี 2567 จะเข้าไปทั้งก้อนในระยะเวลา 5 เดือนนี้, งบประมาณปี 2568 จะเข้ามาอีกก้อนใหญ่ในช่วง ต.ค. 2567 และยังมีเม็ดเงินจากโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่จะเข้ามาในช่วงปลายปี ทำให้คาดหวังได้ว่าเศรษฐกิจจะมีการผงกหัวขึ้น ส่วนเม็ดเงินจากทั้ง 3 ก้อนจะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวได้มากกว่าประมาณการที่ 2.4% หรือไม่นั้น นายเผ่าภูมิ ระบุว่า คาดการณ์อย่างนั้น

ทั้งนี้ เร็ว ๆ นี้ กระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการสินเชื่อสำหรับเมืองรอง และมาตรการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนนโยบาย IGNITE Thailand ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมหลัก เพื่อดันให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค ส่วนรายละเอียดต้องรอให้ผ่านความเห็นชอบของ ครม. ก่อน

อย่างไรก็ดี นายเผ่าภูมิ ได้กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่า สศค. ถือเป็นมันสมองในการกำหนดทิศทางนโยบายการคลังของประเทศ จึงมีความสำคัญมาก โดยได้ขอให้หน่วยงานมีทัศนคติในการคิดนอกกรอบ ถ้ากำหนดนโยบายการคลังภายใต้กรอบก็จะทำให้เศรษฐกิจเดินไปไม่ได้ ย่ำอยู่ที่เดิม ดังนั้นจึงได้ให้แนวคิดไปว่า ให้คิดนอกกรอบ และถ้ากรอบไหนมีปัญหาก็ค่อยมาแก้ไขกรอบนั้นให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายแบ่งเป็น 1. สศค. อยู่ในฐานะที่เป็นหน่วงานมันสมองต้องคิดนอกกรอบ 2. สศค. เป็นหน่วยงานมันสมองที่ต้องปรับตัวให้ทันยุคทันสมัย นโยบายที่เคยทันสมัยในอดีตอาจจะไม่ทันสมัยในปัจจุบัน จึงต้องมีการปรับตัวในเชิงนโยบาย 3. สศค. ต้องเป็นมันสมองที่เชื่อมโยงกับประชาชน กับความกินดีอยู่ดีของประชาชน ไม่เป็นหน่วยงานที่อยู่บนหอคอยงาช้าง ต้องลงพื้นที่สัมผัสความเป็นอยู่และความเดือดร้อนของประชาชนด้วย 4. สศค. ต้องเป็นมันสมองที่มีความสมดุลในหลักวิชาการ กับความเป็นจริงในสังคม ไม่กำหนดนโยบายโดยใช้หลักวิชาการเพียงอย่างเดียว โดยไม่อิงกับความเป็นจริง

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า ยังได้มอบนโยบายให้กับส่วนงานภายใต้สังกัด สศค. แบ่งเป็น กองนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จะต้องอุดช่องว่างทางการเงิน ทำในสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ไม่อยากทำและรับความเสี่ยงได้จำกัด รวมทั้งได้ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชน เรื่องนี้ต้องให้น้ำหนักมากกว่าต้นทุนในการเข้าถึงสินเชื่อ ในส่วนการเงินภาคประชาชนนั้น ได้ให้ความสำคัญกับพิโกไฟแนนซ์ เพราะเป็นกลไกที่แข่งขันกับเจ้าหนี้นอกระบบได้เป็นอย่างดี ซึ่งพยายามดึงเจ้าหนี้นอกระบบมาเป็นพิโกไฟแนนซ์ และถือเป็นกลไกให้กับประชาชนรายเล็กสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

ส่วนประเด็นเรื่องธนาคารไรสาขา (Virtual Bank) ที่กระทรวงการคลังได้ออกประกาศไปแล้ว ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดจำนวนราย แต่มีการกำหนดเงื่อนไขการดำเนินงานนั้น ได้สั่งการไปว่า สศค. ต้องยืนในหลักการนี้ ไม่ควรมีการจำกัดจำนวนราย โดยใช้ความสามารถในการกำกับเป็นที่ตั้ง

“การกำกับดูแลธนาคารไร้สาขาเป็นหน้าที่ของ ธปท. แต่ประกาศของกระทรวงการคลังก็ชัดเจนว่าไม่ได้มีการจำกัดจำนวน เราดูตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในประกาศไม่ควรตั้งเป้าหมายไว้ก่อนว่าจะเอากี่ราย และไปให้ใบอนุญาตเพียงเท่านั้น ข่าวที่ออกไปว่าจะมีการให้ใบอนุญาตเพียง 3 ราย เพราะเหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจประเทศในปัจจุบัน แต่ทางคลังเขียนชัดในประกาศว่าไม่จำกัดจำนวนราย ซึ่งได้ให้นโยบายกับ สศค. ไปว่าจะต้องยืนในหลักการนี้” นายเผ่าภูมิ กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายให้กองภาษี เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษี ใน 3 ประเด็นหลัก คือ อัตราภาษี ฐานภาษี และการขยายเศรษฐกิจให้เติบโต เพื่อนำไปสู่การจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจที่เปราะบางและภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงทรงตัว ควรให้ความสำคัญกับการขยายฐานภาษีและการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากกว่าการที่จะไปโฟกัสเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษี และได้มอบนโยบายให้กองการออม โดยขอให้ให้ความสำคัญเรื่องสภาวะของคนไทยที่แก่และจน ไม่มีเงินออม ซึ่งปัจจุบันเราใช้กลไกการออมภาคสมัครใจ แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยม ส่วนที่เป็นการออมภาคบังคับที่ให้เอกชนร่วมจ่ายก็กระทบกระเทือนเศรษฐกิจ ดังนั้นกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการการออมโดยการสร้างแรงจูงใจที่เตรียมจะออกมาในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งยืนยันว่าจะมีความตื่นเต้นกว่าระบบการออมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่เชิงกลไกการออม แต่เป็นเรื่องในเชิงนโยบาย

“ในเรื่องการขยายฐานภาษีนั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเรื่องประชาชนที่อยู่นอกฐานภาษีเยอะ มีเศรษฐกิจนอกระบบเยอะ ดังนั้นวิธีการในการดึงคนเข้าสู่ระบบจึงเป็นเรื่องสำคัญ กลไกต่าง ๆ มีมากมาย ส่วนเรื่องอัตราภาษีนั้น หากเราไปยุ่งกับอัตราภาษีจะมีผลกระทบเยอะ สู้กระทรวงการคลังดึงคนเข้าระบบฐานภาษีด้วยแรงจูงใจ ความถูกต้องและสามัญสำนึกน่าจะเป็นผลดีกับระบบเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า” รมช.การคลัง ระบุ

เพิ่มเพื่อน