กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประเมินเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.50-37.00 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 36.71 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 36.68-37.03 บาท/ดอลลาร์
13 พ.ค. 2567 – โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินยูโรแต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่สมาชิกธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)แสดงมุมมองที่แตกต่างกันเรื่องจังหวะเวลาในการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเกินไป อย่างไรก็ดี ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 8 เดือน ส่งผลให้ตลาดคาดหวังว่าภาคแรงงานที่ลดความร้อนแรงลงอาจทำให้เฟดลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น
ด้านธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี)คงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี แต่ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อลง โดยส่งสัญญาณว่าบีโออีอาจจะลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่นักลงทุนคาดไว้ ส่วนเงินเยนอ่อนค่าลงแม้ทางการญี่ปุ่นแสดงความกังวลมากขึ้นต่ออัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเงินเฟ้อ โดยปูทางไปสู่โอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปหลังจากญี่ปุ่นยุติการใช้ดอกเบี้ยติดลบเมื่อเดือนมีนาคม ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 1,597 ล้านบาท แต่มียอดซื้อพันธบัตรสุทธิ 436 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้ว่า ตลาดจะติดตามข้อมูลเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกเดือนเมษายนของสหรัฐฯ รวมถึงความเห็นประธานเฟด โดยกรณีที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯสูงเกินคาดจะทำให้ผู้ร่วมตลาดตั้งคำถามอย่างจริงจังมากขึ้นว่าเฟดจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยปีนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรายังคงเชื่อว่าตลาดได้ลดความคาดหวังต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ไปไกลเกินไป ดังนั้นหากตัวเลขออกมาใกล้เคียงหรือต่ำกว่าที่นักลงทุนคาดไว้ จะเปิดความเสี่ยงด้านขาลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯและค่าเงินดอลลาร์ สนับสนุนการฟื้นตัวของสกุลเงินภูมิภาครวมถึงเงินบาทในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์เข้าสู่ช่วงพักฐานคือสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนอกสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากฝั่งยุโรปและจีน โดยในสัปดาห์นี้นักลงทุนจะให้ความสนใจกับการเปิดเผยตัวเลขภาคการผลิตและบริโภคเดือนเมษายนของจีน หลังจากที่จีนรายงานว่ายอดส่งออกขยายตัว 1.5% ในเดือนเมษายนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากส่งออกหดตัว 7.5% ในเดือนมีนาคม ขณะที่ยอดนำเข้าของจีนพุ่งขึ้นเกินคาดที่ 8.4% ในเดือนเมษายน