จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ในระหว่างดำเนินการพัฒนา “บาทดิจิทัล” ซึ่งอาศัยเทคโนโลยี Blockchain คล้ายกับเหล่าสกุลเงิน Crypto Currency (เช่น Bitcoin) เพียงแต่จะถูกดำเนินการและควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหลัก (เรียกอีกอย่างว่าเป็นลักษณะแบบรวมศูนย์กลาง หรือ Centralized Finance) และคาดการณ์ว่าจะนำมาใช้งานจริงในปี 2565
แนวคิดการสร้างเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลางของประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ และมีหลายประเทศที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนซึ่งพัฒนาและใช้งานจริงแล้วโดยเรียกสกุลเงินดิจิทัลของตนว่า “หยวนดิจิทัล”
แล้วบาทดิจิทัลแตกต่างจากสกุลเงิน Crypto Currency ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ตอนนี้อย่างไร เหตุจึงต้องมีข้อเสนอในบทความนี้ ?
ปกติ Crypto Currency (ปัจจุบันมีนับหมื่นตัว และ Bitcoin เป็นตัวหลักและตัวแรก) จะมีจุดเด่นที่เหมือนกันแทบทุกตัว คือ อาศัยเทคโนโลยี Blockchain และเป็น Decentralized คือ ไร้คนกลางมาควบคุม ซึ่งเป็นคนละขั้วสกุลเงินประเทศต่าง ๆ ในโลกทั้งเงินปกติ (เงินเหรียญและเงินกระดาษ) และเงินดิจิทัล (เช่น บาทดิจิทัล และ หยวนดิจิทัล)
คำว่ามีคนกลางมาควบคุม นั้นแปลว่าที่จริงแล้วเงินนั้น ไม่ใช่เงินในความควบคุมของเรา (เจ้าของเงิน) อย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น
ก. คนกลางสามารถกำหนดข้อห้ามหรือเงื่อนไข หรือออกกฎหมาย ควบคุม เช่น การโอนโยกย้ายเงินถ้าเกินยอดเท่านี้ต้องชี้แจง หรือ มีขั้นตอน มีระเบียบในการโอนข้ามสกุลหรือข้ามประเทศ
ข. ถ้าธนาคารที่เราฝากเงินไว้ปิดกิจการ (เจ๊งไป) เงินเราก็สูญ
ค. ถ้าประเทศเจ้าของสกุลเงินล้มละลาย เงินสกุลนั้น (และเงินเรา) ก็ไร้ค่า
ง. คนกลาง (ธนาคาร หรือ รัฐบาล) อาจจะอายัดบัญชีเราเมื่อไหร่ก็ได้ (เงินอยู่ในมือเขา)
จ. หากเศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ ค่าเงินก็ตกต่ำลงโดยอัตโนมัติ ทั้ง ๆ ที่เงินที่สะสมมาเกิดจากการที่เราก็ทำงานหนักและอาศัยความสามารถในอดีต
ฉ. เงินด้อยค่า (เงินเฟ้อ) ตลอดเวลา เพราะมีการเพิ่มปริมาณเงินเข้าในระบบอยู่ตลอด เช่น ดูเทียบมูลค่าเงินดอลลาร์เทียบกับทองคำ ใน 30 ปีย้อนหลัง จะพบว่าเราต้องใช้เงินดอลลาร์มากขึ้นในการซื้อทองคำปริมาณเท่าเดิม ทั้ง ๆ ที่ทองคำเป็นของที่มีคุณสมบัติเหมือนเดิม (ทองคำในอดีต ปัจจุบัน และ อนาคตก็ยังมีคุณสมบัติทุกอย่างเหมือนเดิม)
ช. และอีกหลายอย่าง ๆ ที่เป็นเงื่อนไข ข้อจำกัด ฯลฯ
จากที่ทราบจากสื่อต่าง ๆ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะสร้างบาทดิจิทัลให้อิงบนพื้นฐาน Blockchain แต่แน่นอนว่าจะเป็นแนวทาง Centralized คือ ธนาคารกลางมาควบคุม (มากกว่าจะเลือก Decentralized) ซึ่งไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายแต่อย่างใด ถ้าเป็นเช่นนั้น สิ่งที่ผมเห็นว่าจะพอเป็นประโยชน์ (เพิ่มเติมจากที่ทราบจากสื่อทั่วไป) ในการนำบาทดิจิทัลไปปรับใช้ในมุมของการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินซึ่งมีการจัดสรรเป็นประจำทุกปีตามรายกระทรวง ทบวง กรม มีดังนี้
1 เพื่อให้เกิดความโปร่งใสจากส่วนกลาง เงินงบประมาณแผ่นดิน ให้แจกจ่ายจากสำนักงบประมาณ หรือกรมบัญชีกลาง ออกไปยังหน่วยราชการต่าง ๆ ในรูปของบาทดิจิทัล
2 เพื่อให้เกิดการใช้งานได้อย่างกว้างขวาง การใช้จ่ายเงินต่าง ๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างจากโครงการของรัฐ การจ่ายเงินเดือน และการจ่ายสวัสดิการ ให้จ่ายเป็นบาทดิจิทัล และแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือภาคเอกชน และ ข้าราชการ ต้องมีการสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัลมาเก็บบาทดิจิทัล หมายความว่าจะเกิดการใช้งานแพร่หลาย
3 เพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์ที่ควยบคุมบาทดิจิทัลมีความมั่นคงทนทานต่อการถูกโจมตี ควรให้มีการสร้าง Blockchain nodes คือตั้งคอมพิวเตอร์ไว้หลายแห่ง (เพื่อช่วยเป็นแหล่งสำรองการประมวลผลซึ่งกันและกัน) เช่น กระทรวงละ 1 โหนด (เป็นอย่างน้อย) ทั้งนี้ไม่ควรอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลแหล่งเดียว
4 นำข้อดีของ Decentralized เข้ามาผสม โดยส่งเสริมและอนุญาตให้ภาคเอกชนเข้าร่วมตั้ง Blockchain node ของ บาทดิจิทัล ด้วย เพื่อให้รายการใช้จ่ายเคลื่อนไหวของเงินสามารถถูกตรวจสอบได้ (เมื่อจำเป็น)
5 ธุรกรรมทั้งหมด ให้บันทึกลงใน Blockchain ของ บาทดิจิทัลกระจายสำเนาอยู่ทุกโหนด และสามารถตรวจสอบเรียกดูรายการใช้จ่ายได้หมด
6 ให้มี Blockchain ของ บาทดิจิทัล อยู่ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและกรมบัญชีกลางด้วย เพื่อให้สามารถตรวจสอบบัญชีได้ตลอดเวลา จัดทำบัญชีได้แบบอัตโนมัติ ให้ใช้ระบบ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ในการตรวจสอบการทุจริตอัตโนมัติ
7 ส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชน สาธารณะชน สามารถเขียนโปรแกรมเข้ามาเรียกสรุปดูรายการใช้จ่ายภาครัฐได้ทุกเมื่อ สามารถทราบบัญชีกระแสเงินสด รายรับจ่าย ได้ตลอดเวลา
8 ใช้ บาทดิจิทัล เป็นช่องทางจ่ายเงินสู่กระเป๋าเงินของประชาชนและผู้ประกอบการ ที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ลดหย่อนภาษี หรือ เยียวยาด้านต่าง ๆ
9 และแน่นอนว่า ก็ต้องขอความยินยอม ให้ภาครัฐสามารถตรวจติดตาม สถานะด้านการเงินของประชาชน เพื่อให้ภาครัฐเขาประเมินได้ว่าใครจำเป็น หรือ ไม่จำเป็นต้องได้รับสวัสดิการ หรือ การเยียวยานั้น ๆ
หากนำการเบิกจ่ายงบประมาณ ไปอยู่บน Blockchain ทั้งหมด ก็เป็นประโยชน์ที่ผมพอจะเห็นได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ถ้าหากบาทดิจิทัล มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช้ Blockchain มันก็จะกลับไปเหมือนรูปแบบเดิม ๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น eMoney หรือ โอนเงินกันธรรมดาผ่าน Prompt Pay หมายความว่า อาจจะไมได้ประโยชน์จากการสร้างบาทดิจิทัลมากนัก เพราะสามารถใช้แนวทางและระบบที่มีอยู่เดิมได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างระบบขึ้นมาใหม่
ท่านใดมีความเห็นต่อ Blockchain แบบ Centralized หรือ แนวทางการใช้ประโยชน์จากบาทดิจิทัลก็ร่วมแสดงความเห็นได้ครับ
หมายเหตุ ตัวผมมิได้เป็นผู้เกี่ยวข้องวงใน (หรือวงนอก) ใด ๆ กับเงินบาทดิจิทัล ไม่ทราบข้อมูลเชิงลึกใด ๆ จากคนของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ที่เสนอ หรือ เขียนมาทั้งหมด จะเรียกว่าเป็นความเห็นส่วนตัว วิสัยทัศน์ส่วนตัว หรือ อะไรก็ได้ ท่านพิจารณาสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปปรับใช้ หรือ ขบคิด ก็แล้วกัน
ส่งบทความคอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร. มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ผู้บริหารข้อมูลระดับสูง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักกฎหมาย ชี้ไม่ง่าย 'โต้ง' ว่าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จะแทรกแซงผู้ว่าแบงก์ชาติ
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายคัดค้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ เป็นตัวแทนฝ่
รัฐบาลดี๊ด๊า! เปิดทำเนียบฯ รับม็อบเชียร์ 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ
เครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ยื่น 1.5 หมื่นรายชื่อ หนุน 'กิตติรัตน์' นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ 'รองเลขาฯนายกฯ' รีบหอบส่ง ธปท.ทันที แย้มวันนี้ไม่เลื่อนแล้ว
ม็อบบุกแบงก์ชาติ ยื่นอีก 5 หมื่นชื่อ ขวางการเมืองจุ้นเลือก 'ปธ.บอร์ด'
คปท. ศปปส. และกองทัพธรรม เดินทางมาชุมนุมหน้าแบงก์ชาติ เพื่อคัดค้านไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซงครอบงำ ธปท.
ลุ้น! นัดครั้งที่3 เลื่อน-ไม่เลื่อน ลงมติเลือก ‘ปธ.บอร์ดธปท.’ จันทร์นี้
นัดครั้งที่ 3 รอบนี้ ลุ้นเลื่อน-ไม่เลื่อน ลงมติเลือกประธานบอร์ดธปท.จันทร์นี้ กรรมการฯปิดปากเงียบ คลัง เปลี่ยนตัว กิตติรัตน์หรือยัง ม็อบนัดรวมพลัง ยื่น45,000 ชื่อ ต้าน’เสี่ยโต้ง’ยึดแบงก์ชาติ
อันตราย! ดร.วิรไท ปลุก 11.11 อย่ายอมการเมืองครอบงำแบงก์ชาติ ทำลายเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย
ดร.วิรไท ปลุก 11.11 ร่วมด้วยช่วยกันป้องกันอย่าให้การเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่าย