จ่อปลุกเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง 'คลัง' เล็งออกมาตรการกระตุ้นหนุนโตต่อเนื่อง

‘คลัง’ แจงครึ่งปีหลังเตรียมเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระหว่างรอดิจิทัล วอลเล็ต หวังดันเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง รับจัดเก็บรายได้วืดเป้า เหตุลดภาษีดีเซลดูแลประชาชน-ภาษีรถยนต์แผ่ว หลังแบงก์ปฏิเสธปล่อยกู้พรึ่บ

7 พ.ค. 2567 – นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าจะต้องมีการออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังออกมา ในขณะที่โครงการดิจิทัล วอลเล็ตยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพื่อเป็นการประคับประคองเศรษฐกิจให้ยังสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนรายละเอียดยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำการบ้านในเรื่องนี้

“ต้องดูแนวโน้มเศรษฐกิจ เพราะหากโครงการดิจิทัล วอลเล็ตออกมาใช้ได้จริง ตรงนี้จะมีส่วนช่วยกระชากเศรษฐกิจในฟื้นตัวได้ แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลอยากให้แนวโน้มการฟื้นตัวนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ก็จำเป็นจะต้องมีอะไรออกมาต่อเนื่อง คงต้องใช้เวลาในการทำการบ้าน เพราะรัฐบาลก็ไม่อยากเสียโอกาสทองนี้ไป ต้องทำให้ต่อเนื่องเพื่อให้เศรษฐกิจที่เมื่อผงกหัวขึ้นมาแล้ว ก็ไม่อยากให้ตกลงไปอีก เพราะไม่รู่ว่าจะต้องใช้เงินอีกเท่าไหร่เพื่อดึงให้มันกลับมา เป็นเหมือนการเหยียบคันเร่งเต็มที่ ส่วนจะบอกว่าเป็นการเปลืองกระสุนก็ต้องเปลือง เพราะยิงอยู่คนเดียว” นายลวรณ กล่าว

นายลวรณ กล่าวอีกว่า ในส่วนของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่ไม่ได้ไปต่อนั้น ก็ต้องยอมรับว่าหากบอกว่ารัฐบาลมีกระสุนจำกัด ดังนั้นจึงต้องเลือกยิงในจุดที่มันถูกต้อง โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากนี้อาจจะต้องพิจารณาเป็นรายกลุ่มที่จะเข้าไปช่วยเหลือ และหากถามเรื่องความคุ้มค่าในการออกแต่ละมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น อยากขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่ากระทรวงการคลังพิจารณาเรื่องความคุ้มค่ามาอย่างเพียงพอ หากต้องแลกกับการสูญเสียรายได้ ผลกับเศรษฐกิจที่ได้จากมาตรการกระตุ้นที่ออกไปก็ต้องคาดหวังได้ด้วยเช่นกัน จึงไม่อยากให้พูดเรื่องความคุ้มค่า เพราะกระทรวงการคลังมีการพิจารณาในประเด็นนี้อยู่เสมออยู่แล้ว

สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66-มี.ค. 67) ต่ำกว่าประมาณการ 2.78 หมื่นล้านบาทนั้น หลัก ๆ เป็นผลมาจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินงบประมาณในส่วนนี้เพื่อดูแลประชาชนในเรื่องการลดต้นทุนการขนส่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าตรงนี้ก็เป็นต้นทุนของรัฐบาลในเรื่องการจัดเก็บภาษีที่พลาดเป้า ส่วนในครึ่งหลังของปีงบประมาณ ก็ชัดเจนแล้วว่าไม่ได้มีการต่ออายุมาตรการดังกล่าว ดังนั้นรายได้ของที่หายไปของกรมสรรพสามิตในส่วนนี้ก็คิดว่าน่าจะได้กลับคืนมาขณะเดียวกันยังเป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีรถยนตร์ที่ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยส่วนหนึ่งที่เป็นความจริงก็คือ การถูกปฏิเสธสินเชื่อที่เยอะขึ้น แม้ว่าประชาชนจะมีกำลังซื้อก็ตาม โดยมองว่าเหตุผลของการปฏิเสธสินเชื่อที่มากขึ้นส่วนหนึ่งอาจมาจากอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่สูงเกินไปหรือไม่ จนทำให้ความสามารถในการผ่อนชำระของประชาชนลดลง ในส่วนนี้เป็นข้อเท็จจริง และเป็นความจริงในวันนี้ว่ายอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์มีปริมาณสูงขึ้น

“เรื่องดอกเบี้ยคงเป็นเรื่องของการพิจารณาข้อมูลคนละแบบ เป็นการมองกันคนละมุม การให้น้ำหนักในการพิจารณาที่ต่างกัน เรื่องนี้หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้น้ำหนักเรื่องเสถียรภาพ ก็ต้องทำนโยบายอีกแบบหนึ่ง แต่กหากให้น้ำหนักเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ก็จะต้องทำนโยบายอีกแบบหนึ่ง” นายลวรณ กล่าว

สำหรับมาตรการด้านการคลัง ในส่วนของมาตรการภาษีนั้น กระทรวงการคลังมีการพิจารณาไว้อยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดว่าจะหยิบมาตรการภาษีเรื่องไหนมาใช้ต้องขึ้นอยู่กับระยะเวลา เรื่องการจัดเก็บรายได้นั้น ยืนยันว่ากระทรวงการคลังไม่ได้ละเลย เพราะก็ไม่อยากเห็นงบประมาณขาดดุลไปเรื่อย ๆ แต่เครื่องมือที่จะใช้ในการจัดเก็บภาษีก็ต้องมีประสิทธิภาพควบคู่กันไปด้วย โดยสิ่งที่กระทรวงการคลังทำในตอนนี้คือการดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น

“กระทรวงการคลังยังหวังว่าการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2567 จะเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งเราทำทุกวิถีทางไม่ได้นั่งอยู่เฉย ๆ แต่มองว่าการทำให้เศรษฐกิจโตตรงนี้เป็นความหวัง เพราะว่าการเก็บภาษีปัจจัยสำคัญที่สุด คือ เรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้นรัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยยังคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจน่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย วันนี้เราใช้มาตรการทางการคลังเยอะจริง แต่ถ้าแลกกับการประคับประคองเศรษฐกิจให้เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ไม่ให้มันตกลงมามากกว่าที่ควรจะเป็น ผมมองว่านั่นคือความคุ้มค่า และรัฐบาลต้องตัดสินใจ เพราะการใช้นโยบายการคลัง คือเครื่องมือที่รัฐบาลมีอยู่แล้ว การจะเก็บ จะลดภาษีเป็นนโยบายการคลังทั้งหมด แต่จะใช้อย่างไรให้คุ้มค่า” ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นิพนธ์' ซัดรัฐบาลแจกเงินหมื่น เฟส 2 หวังผลการเมือง ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ

นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย-อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตนายก อบจ. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 2 ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีการแจกเงินสด 10,000 บาท ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนในระบบและยืนยันตัวตนแล้ว รวมกว่า 4 ล้านคน

ป้า 67 ป่วยหลายโรค หาบเร่ขายของเลี้ยงชีพ หวังได้เงินหมื่น เฟส 2 หวั่นตกหล่น บัตรคนจนก็ไม่มี

บุรีรัมย์ ป้า 67 ป่วยความดัน มีก้อนเนื้อที่คอ แต่ต้องหาบเร่ขายของเลี้ยงชีพและลูกพิการ หวังได้เงินหมื่น เฟสสอง มาแบ่งเบา