AOC 1441 เตือน 'โจรออนไลน์' หลอกโอนเงินรวมเกือบ 20 ล้านบาท

AOC 1441 เตือนภัย “โจรออนไลน์” หลอกโอนเงินรวมเกือบ 20 ลบ. เผยยอดอายัดบัญชีแล้วกว่า 4,500 ลบ.

7 พ.ค. 2567 – นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 29เมษายน – 3 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย
คดีที่ 1 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 6,366,992 บาท ผู้เสียหายต้องการหารายได้พิเศษ จึงค้นหาผ่านช่องทาง Facebook พบเพจชื่อ C.P.HOLIDAYS โดยมิจฉาชีพแจ้งว่าเป็นภารกิจงานการจองตั๋วโดยสารเครื่องบิน ที่ต้องสำรองเงินเข้าไปในระบบก่อน และจะได้รับเงินจองคืน พร้อมค่าคอมมิชชั่นจากราคาตั๋วโดยสารเครื่องบิน ผู้เสียหายมีความสนใจจึงปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ในระยะแรกผู้เสียหายได้รับผลตอบแทนจริง ภายหลังอ้างว่าปฏิบัติภารกิจไม่สำเร็จ ทำให้ไม่ได้รับเงินจองและผลตอบแทนกลับคืนมา ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 2,081,080 บาท โดยผู้เสียหายเคยแจ้งความออนไลน์ผ่านช่องทาง Facebook ปลอม ชื่อเพจ “แจ้งความออนไลน์” และได้รับการติดต่อมา อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนช่องทาง Line และส่งเรื่องต่อให้กับทนายความ แจ้งผู้เสียหายว่าหากต้องการได้รับเงินที่เสียหายไปคืนกลับมา ต้องมีการลงทุนเล่นพนันออนไลน์ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ผู้เสียหายอยากได้เงินคืนจึงทำตามคำแนะนำ ระยะหลังให้ลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 3 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ มูลค่าความเสียหาย 1,993,420 บาท ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจากบริษัทที่ทำงานเก่า แจ้งว่ามีจำนวนเงินตกเบิกที่ยังไม่ได้รับจะทำการโอนเงินดังกล่าวให้ โดยขอเลขที่บัญชีธนาคารในการรับเงิน และให้ทำการติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อยืนยันข้อมูลและตัวตนจากลิงก์ที่ส่งให้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงทำตามคำแนะนำในการตรวจจับใบหน้า การใส่รหัส OTP และการปิด-เปิดเครื่อง ภายหลังได้เช็คยอดเงินในบัญชีของตนพบว่าได้ถูกโอนออกไป ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 หลอกลวงให้ลงทุนที่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ มูลค่าความเสียหาย 9,000,000 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายรู้จักมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ถูกชักชวนลงทุนธุรกิจขายสินค้าประเภทอะไหล่เครื่องจักร และอุปกรณ์โรงงานอุตสาหกรรม อ้างว่าเป็นการลงทุนซื้อสินค้าและนำไปจำหน่ายต่อเพื่อแสวงหาผลกำไรร่วมกันผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ผู้เสียหายสนใจและหลงเชื่อตกลงร่วมลงทุนทำธุรกิจ ภายหลังจากการโอนเงินแล้วไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

และคดีที่ 5 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวและหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 276,073 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากมิจฉาชีพ อ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย แจ้งว่ามีการนำบัตรเครดิตไปกดใช้ที่ห้างสรรพสินค้าในจ.นครสวรรค์ โดยให้เพิ่มเพื่อนทาง Line กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.จ.นครสวรรค์เพื่อแจ้งความออนไลน์ หลังจากนั้นมิจฉาชีพตำรวจ Video Call แจ้งว่าจากการตรวจสอบเงินบัญชีของผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน ให้โอนเงินไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และจะโอนเงินกลับคืนให้ภายหลัง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 19,717,565 บาท ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้

สายโทรเข้า 1441 จำนวน 606,630 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,279 สาย

ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 135,789 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 950 บัญชี

ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 41,830 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 30.80 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 29,362 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 21.62 (3) หลอกลวงลงทุน 24,355 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 17.94 (4) หลอกลวงให้กู้เงิน 11,144 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 8.21 (5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 8,823 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 6.50 (และคดีอื่นๆ 20,275 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.93)

ยอดการอายัดบัญชี (1 พ.ย.66 – 3 พ.ค.67) ข้อมูลจาก ตร. (บช.สอท) รวมทั้งประเทศ (1) ยอดขออายัด 9,090.2 ลบ. (2) ยอดอายัดได้ 4,558.1 ลบ. (3) อายัดได้ ร้อยละ 50.14

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ผู้เสียหายมักได้รับการติดต่อผ่านช่องทางโซเชี่ยลมีเดียคือ Facebook และ Line ซึ่งทาง ดีอี ได้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการมาโดยตลอด ทั้งนี้จึงขอความร่วมมือประชาชนตรวจสอบบัญชีทางโซเชี่ยลมีเดียอย่างรอบคอบก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่างไรก็ตาม ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ตามนโยบายเร่งด่วนของ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยทำให้เกิดเป็นผลงานเด่นชัดภายใน 30 วัน และวางมาตการรเร่งด่วนในการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและผลกระทบจากอาชญากรรมออนไลน์ของประชาชน” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว
ทั้งนี้ หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก

นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"

ดีอี เตือน ข่าวปลอม ภาพผู้ต้องหา THE iCON GROUP ในเรือนจำ

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “เผยภาพผู้ต้องหา THE iCON GROUP ในเรือนจำ” รองลงมาคือเรื่อง “ดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 ผู้ลงทะเบียนได้รับทุกคนในเดือนธันวาคม จะโอนเงินเข้าแอปฯ ทางรัฐ” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความวิตกกังวล ความสับสน ความเข้าใจผิด และส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง

ดีอีลุยจัดระเบียบเข้มข้นบี้ล้างบาง SMS แนบลิงก์หลอกลวง

“ดีอี” เดินเครื่องล้างบาง SMS แนบลิงก์หลอกลวง เร่งจัดระเบียบเข้ม ผุดมาตรการ Cleansing Sender Name บี้ให้ผู้ส่งข้อความต้องลงทะเบียนใหม่ทั้งระบบภายในปี 2567 หวังช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน