ระวัง ! พายุถล่มเศรษฐกิจ 4 ลูก จากโครงการ ดิจิตอลวอลเล็ต 500,000 ล้านบาท  

ตามข่าว รมช.คลัง “เผ่าภูมิ” ปลุก 4 พายุหมุนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน “ดิจิทัลวอลเล็ต” จากนโยบายพรรคเพื่อไทย สู่นโยบายรัฐบาลเศรษฐา ส่งเม็ดเงิน 500,000 ล้านบาท กระจายทั่วประเทศ

  • จากประชาชน สู่ร้านค้า
  • จากร้านค้าสู่ร้านค้า
  • จากร้านค้า สู่ภาคการผลิต
  • จากด้านเทคโนโลยี ดิจิทัลวอลเล็ต

แต่ในความเป็นจริง อาจสร้าง “พายุถล่มเศรษฐกิจ” 4 ลูกมากกว่า

1. พายุ “ความเบื่อหน่ายความยุ่งยาก” ของ “การเริ่มระบบใหม่” ด้วยความกระหายอยากพัฒนาโครงการ “ดิจิตอลวอลเลท” ให้เป็นโครงการใหม่ เลี่ยงการใช้ “แอพเป๋าตัง” ที่ได้พัฒนามาแล้วอย่างดี เพื่อให้อ้างได้ว่า เป็นโครงการใหม่

ถ้าพัฒนาเป็น “เหรียญ” ให้ “ใช้จ่าย” โดยใช้เทคโนโลยี “บล็อคเชน” เป็นแบบ “Decentralized Ledger Technology (DTL)” จะยุ่งยาก ล้มเหลว เสี่ยงสูง เพราะ ต้องมีเอกชนอิสระ จัดทำระบบ “ไมนิ่ง” เพื่อพิสูจน์การโอนความเป็นเจ้าของมากมายหลายรายการ เพื่อตรวจสอบกันและกันให้ถูกต้องตรงกัน ซึ่งต้องใช้เวลา เป็นอุปสรรคต่อการจับจ่าย หมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจของประชาชน ทุกวันนี้ ระบบ DTL นี้ ที่ใช้กับบิทคอยน์ หรือ สกุลเงินคริปโตฯอื่นๆ ทำหน้าที่เพียงบันทึก โอนย้ายความเป็นเจ้าของเหรียญเท่านั้น ใกล้เคียงกับการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่ได้ใช้ในการซื้อขายของในชีวิตประจำวัน ด้วยปริมาณที่เพิ่มขึ้นนับพันเท่า ความถี่ที่เพิ่มขึ้นนับพันเท่า ระบบจะยิ่งช้า ต้นทุนการตรวจสอบให้ตรงกัน ทันกันจะสูงมาก และ อาจทำให้ระบบรองรับไม่ได้ สร้าง “ความเบื่อหน่าย” ให้กับประชาชนผู้ใช้บริการได้ ระบบ “เป๋าตัง” จึงเลือกใช้เทคโนโลยีแบบ “Centralized Ledger Technology” โดยรัฐ ทำให้จัดการรายการทั้งหมดได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว ถูกต้อง แม่นยำ ไร้ปัญหา

การเริ่มเปิดบัญชีใหม่ พิสูจน์ตัวตน เป็นเรื่องที่เป็น “ต้นทุน” ของประชาชน และ ภาครัฐอีกรอบ ทั้งๆที่ ได้ผ่านขั้นตอนนั้น กับระบบเป๋าตังมาอย่างเรียบร้อยแล้ว พร้อมใช้ได้ทันที … การที่รัฐบาล จะเพียงมองด้วย “เกมส์การเมือง” อธิบายว่า เทียบกับ “เป๋าตัง” แล้ว จะเวลา และ ขั้นตอนไม่ต่างกัน หรือ อาจจะสั้นลง ก็เป็นเพราะ ระบบเป๋าตังก์ เป็นระบบใหม่ และ ได้ให้ความรู้ประชาชนมาแล้วอย่างดี … แต่วันนี้ ต้องเทียบกว่า ถ้าใช้เป๋าตัง ประชาชนจำนวนมาก ก็แทบไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม มีบัญชีพร้อมใช้อย่างปลอดภัย และ ใช้ได้เลย แต่ถ้าต้องใช้ระบบใหม่ ก็ต้องออกแรงกันเพิ่ม ใช้งบประมาณเพิ่ม

การเปิดให้มีเอกชนมาทำไมนิ่งนั้น (ก) จะมีค่าใช้จ่ายเท่าใด ? เพราะในปัจจุบัน ไมเนอร์ของสกุลเงินคริปโตฯ จะได้แก๊สฟีในการตรวจสอบรายการ ประชาชนต้องจ่ายไหม ? หรือ รัฐบาลต้องจ่าย ? คิดเป็นภาระอีกเท่าไร ? (ข) จะทำให้ข้อมูลประชาชนรั่วไหลหรือไม่ ? (ค) ถ้าโหนดใดโหนดหนึ่ง ปรับข้อมูลไม่ทัน แล้วทำให้ประชาชนใช้เงินแล้ว ใช้เงินอีก เกินจำนวน เพราะตรวจสอบไม่ทันจะทำอย่างไร ? ไมเนอร์ต้องรับผิดชอบเพียงใด ? ถ้าต้องรับผิดชอบมาก จะต้องคิดค่าใช้จ่ายอย่างไร ?

การอ้างเงื่อนไขนโยบาย เช่น ประเภทการจับจ่าย พื้นที่ที่ใช้เงินได้ เพื่อดันทุรังจะพัฒนา “ดิจิตอลวอลเล็ท” ระบบใหม่ ก็ไร้เหตุผล สมัยเป๋าตัง นำไปสู่การให้สิทธิ “ไทยเที่ยวไทย” หรือ “คนละครึ่ง” ล้วนแต่สามารถใส่นโยบายสร้างสรรค์เพื่อให้ระบบเป๋าตังรองรับนโยบายได้อย่างเรียบร้อย ยังจำได้ว่า “ไทยเที่ยวไทย” ให้สิทธิการใช้จ่ายอีก 600 บาท สำหรับซื้ออาหาร หรือ ข้าวของจากที่พัก หรือ ร้านค้ารอบๆ ที่รับเงื่อนไขนี้ได้ด้วยอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำระบบใหม่เลย

2. พายุ “ภาระหนี้ให้รุ่นลูกหลาน” จาก “การบริโภคของรุ่นเรา”  ตอนนี้ รัฐบาลสื่อสารด้านเดียวว่า “ประชาชนจะได้เงินใช้” แต่ไม่ได้บอกชัดเลยว่า เงินที่เราได้ใช้บริโภคในรุ่นเรานั้น ก็ต้องมาจากภาระหนี้สินซึ่งประชาชนรุ่นเราและลูกหลานต้องรับไปประมาณ 500,000,000,000 บาท (5 แสนล้านบาท) เพิ่มภาระภาครัฐ และ ประชาชนในอนาคตนั่นเอง

3. พายุ “การเมือง” เรื่อง “ความขัดกันของประโยชน์”  เป็นที่รู้กันว่า นายกฯ เศรษฐา เคยเป็นผู้ถือหุ้นของ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (จึงสร้างโครงการอย่าง “เศรษฐสิริ” มากมาย) และ แสนสิริ ยังเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นกิจการที่ทำธุรกิจเหรียญคริปโตฯรายแรกๆของประเทศไทย การทำระบบ “เป๋าตัง” หากมีความเกี่ยวโยง ให้ประโยชน์ทางตรง หรือ ทางอ้อม กับ กิจการอย่าง “เอ็กซ์สปริง” ในการพัฒนาระบบ หรือ การทำหน้าที่ไมนิ่ง ก็เป็นหลักฐานของการ “ทุจริตเชิงนโยบาย” ที่เริ่มต้นจาก ความขัดกันของประโยชน์ภาครัฐ และ ส่วนตัวอย่างชัดเจน

4. พายุ “ความเบื่อปาหี่” ของ “ฝ่ายค้านที่ขาดความรู้จริง” การทำหน้าที่ฝ่ายค้านของพรรคของนักการเมืองวัยเด็ก เก่งโม้-เก่งด่า-เก่งพาทัวร์ลง เก่งเพียงพูดกันสนุกปากว่า “ต่อต้านรัฐประหาร” ประสานเสียงกับเพื่อไทย และ หลายๆพรรค ให้ความจริงครึ่งเดียวทำให้ประชาชนคิดว่า เป็น “รัฐประหารเพื่ออำนาจ” และ ลืมที่มาว่าเป็น “รัฐประหารไล่โกง” เพียงหวังโกยคะแนนนิยมด้วยการปกปิดความจริงอีกครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อเป็นเนื้อหางานบริหารบ้านเมืองจริงๆ กลับไม่มีประเด็นที่ลึกซึ้งแหลมคม

บุคลากรหลักด้านเศรษฐกิจ ทั้งสมัย ธนาธร หรือ พิธา ก็ยกชูคุณ ศิริกัญญา ตันสกุล เป็นกำลังหลัก ทั้งที่เมื่อเทียบ ความรู้ ประสบการณ์ ต่างชั้นกับระดับ มือรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในอดีต อย่าง คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ คุณ กรณ์ จาติกวณิช คุณ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ฯลฯ

ประเด็นต่างๆ จึงยัง “เบาบาง” ดูเป็นปาหี่ อย่างภาระหนี้ที่ต้องแบก 5 แสนล้านบาท จากการขาดดุลงบประมาณ ทั้งที่การท่องเที่ยวฟื้นตัว การส่งออกก็ยังดีตามสภาวะตลาดโลก งบประมาณปี 67 ต่อปี 68 ก็กำลังจะออกมา ก็ไม่น่าจะใช้ภาระหนี้ต่างๆมาเพิ่มในสถานการณ์เช่นนี้เกินความจำเป็น แทนที่จะเก็บไว้สำรองใช้ หากปัญหาในโลกเช่นเรื่อง สงคราม อาจบานปลาย

ยังไม่เห็นการต่อต้านการ “เอาประชาธิปไตย ไปเอื้อธุรกิจ” ส่วนตัว อย่างการไม่ใช้แอป “เป๋าตัง” ที่ใช้กันได้ดีอยู่แล้ว แต่ไปพัฒนาระบบใหม่ และ อาจเอื้อต่อกิจการอย่างเอ็กซ์สปริงฯ ก็เพราะเป็นการย้อนแย้งตัวเองว่า รัฐบาลลุงตู่ ได้ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลเพื่อประชาชนมาอย่างดี ดังตัวอย่างการพัฒนาระบบเป๋าตัง แก้วิกฤตโควิด วิกฤตสงคราม-น้ำมันแพง-ดอกเบี้ยสูง ฯลฯ ด้วยโครงการ “คนละครึ่ง” “ไทยเที่ยวไทย” “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ฯลฯ อย่างได้ผลดีตลอดมา

การเดินหน้าโครงการ ดิจิตอลวอลเล็ต สร้างภาระงบประมาณ 500,000 ล้านบาท ระวังอย่าให้เป็น พายุถล่มเศรษฐกิจ 4 ลูก จาก “ความเบื่อหน่ายการใช้ระบบใหม่ เพราะไม่อยากใช้แอพเป๋าตัง” “ภาระหนี้ 5 แสนล้าน” “ความขัดกันของประโยชน์” และ “ความเบื่อปาหี่ ของฝ่ายค้านที่ขาดความรู้ลึกจริง” ก็แล้วกัน

ไทยทน

เพิ่มเพื่อน