‘ทอท.’ เปิดแผนลงทุนสนามบินอันดามัน-ล้านนา วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เร่งศึกษาออกแบบเสร็จภายในปีนี้ รับการบ้านนายกฯ ชูโมเดลมัลดีฟส์ ดัน Seaplane เชื่อมเกาะแดนใต้-สนามบินภูเก็ต หนุนผู้โดยสารพุ่ง 18 ล้านคนต่อปี
1 พ.ค. 2567 – นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ทอท.มีแผนลงทุนท่าอากาศยานภูมิภาค 2 แห่ง วงเงินลงทุนรวม 150,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 (สนามบินอันดามัน) วงเงิน 75,000 ล้านบาท โดยจะใช้พื้นที่บริเวณ ต.โคกกลอย และ ต.หล่อยูง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ขณะนี้ ทอท.อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสม และวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุน,ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ, ผลตอบแทนทางการเงิน ,ความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อม และที่ดิน โดยจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนพ.ค.นี้ ระยะเวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน คาดแล้วเสร็จภายในปีนี้
“โครงการท่าอากาศยานอันดามัน จะมีการศึกษาความเป็นไปได้ของรูปแบบการลงทุนว่าจะมีการดำเนินการในลักษณะใด เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นโครงการใหม่ ความเป็นไปได้อาจจะมีการร่วมลงทุนกับสายการบิน หรือผู้สนใจต่างๆ โดยการศึกษาการลงทุนจะดำเนินการไปพร้อมกับการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจการเงินด้วย”นายกีรติ กล่าว
ทั้งนี้ ตามแผนโครงการท่าอากาศยานอันดามัน หากปัจจัยต่างๆพร้อม ทอท.จะดำเนินการจัดตั้งโครงการฯ โดยจะเสนอต่อสภาพัฒน์ฯ พิจารณาเพื่อดำเนินการโครงการ หลังจากนั้นจะเข้าสู่การออกแบบรายละเอียดต่อไป และเริ่มออกแบบรายละเอียดฯได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 ใช้ระยะเวลาการออกแบบประมาณ 1 ปี ระหว่างนี้จะเริ่มกระบวนการเวนคืนที่ดินควบคู่ไปพร้อมกันประมาณปลายปี 2569 ซึ่งมีพื้นที่เวนคืนที่ดินประมาณ ประมาณ 6,500 ไร่ โดยเป็นที่ดินของภาครัฐอยู่ประมาณ 120 แปลง หรือประมาณ 2,500 ไร่ ตั้งอยู่ที่อ.โคกกลอย จ.พังงา คิดเป็น 40% ของพื้นที่ทั้งหมด คาดว่าจะเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จภายในต้นปี 2570 และก่อสร้างภายในต้นปี 2570 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปีครึ่ง พร้อมเปิดให้บริการได้ในช่วงปี 2575
ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานล้านนา) วงเงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 72,000 ล้านบาท ที่ตั้งอยู่บริเวณ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน พื้นที่ประมาณ 6,500 ไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบในส่วนของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ คาดว่าปลายปีนี้จะออกแบบแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลภายในปลายปี 2568 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในปี 2571
นายกีรติ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ ทอท.ศึกษาโครงการลงทุนสร้างสนามบินน้ำ (Water Aerodrome) ที่ขึ้นลงเครื่องบินในทะเล (Seaplane Terminal) ภายในสนามบินภูเก็ต (ทภก.) เบื้องต้นทอท.ต้องศึกษาโครงการฯ เพื่อให้ผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานภูเก็ตสามารถเชื่อมต่อการเดินทางท่องเที่ยวได้สะดวกสบายในรูปแบบ Luxury Travel ถือเป็นโมเดลมัลดีฟส์ที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางสู่เกาะต่างๆในภาคใต้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานภูเก็ต ปัจจุบันทอท.มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตใน 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยานภูเก็ตให้เต็มศักยภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถรองรับปริมาณความต้องการการเดินทางผู้โดยสารเป็น 18 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 12 ล้านคนต่อปี
สำหรับการเพิ่มเชื่อมต่อเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการให้ผู้โดยสารเดินทางจากเกาะไปยังโรงแรมต่างๆ เมื่อพิจารณาโมเดลของมัลดีฟส์ พบว่าผู้โดยสารที่เดินทางมาถึงท่าอากาศยานสามารถเชื่อมต่อการเดินทางผ่าน Seaplane เพื่อไปยังโรงแรมที่อยู่ในเกาะได้โดยตรง ทั้งนี้ทอท.พบว่าในประเทศไทยมีเกาะที่มีขีดความสามารถที่ดำเนินการได้ เช่น เกาะราชา, เกาะพีพี, เกาะเต่า และ เกาะพงัน เป็นต้น
ขณะที่โครงการ Seaplane ใช้วงเงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในแผนลงทุนพัฒนาขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 ขณะนี้จะเริ่มดำเนินการไปพร้อมกับแผนพัฒนาดังกล่าวฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในกลางปี 2568 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการเปิดประมูลได้ภายในปลายปี 2568
ทั้งนี้ จากแผนพัฒนาการเพิ่มขีดความสามารถทางวิ่ง (รันเวย์) ของท่าอากาศยานภูเก็ตในระยะสั้น โดยเป็นการปรับความยาวของรันเวย์จาก 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หรือเฉลี่ย 100 เที่ยวบินต่อวัน ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับโครงการ Seaplane ที่สามารถทำการบินขึ้น-ลง จากรันเวย์ไปยังเกาะได้โดยตรง ซึ่งโรงแรมที่อยู่บริเวณเกาะต่างๆ ที่มีลูกค้าใช้บริการ สามารถติดต่อเพื่อเข้ามาดำเนินการได้เช่นกัน ส่วนแผนการพัฒนาในระยะยาว เบื้องต้นทอท.จะดำเนินการท่าอากาศยานภูเก็ตส่วนต่อขยายให้สอดรับกับโครงการ Seaplane Terminal ที่ท่าอากาศยานภูเก็ตในปัจจุบันด้วย ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่สามารถทำการบินในรูปแบบโครงการSeaplane ได้
“นายกฯ ได้มอบหมายให้ ทอท.พิจารณาหาโอเปอเรเตอร์ที่มีความสามารถเพื่อดำเนินการให้เป็นธุรกิจตัวอย่าง เบื้องต้นทอท.จะหารือพูดคุยกับผู้ประกอบการโรงแรมที่มีศักยภาพก่อนว่ามีความสนใจหรือไม่ รวมทั้งดำเนินการจับคู่ธุรกิจผู้ประกอบการกับ Seaplane Operator ว่ามีใครสนใจจะเข้ามาลงทุนหรือไม่ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการให้บริการลักษณะนี้ มีเพียงแต่บริษัทที่สนใจเข้ามาพูดคุย แต่เนื่องจากยังไม่มีความต้องการที่ชัดเจน ซึ่งนายกฯได้ให้โจทย์มาพิจารณาด้านการลงทุนในส่วนนี้เพื่อสอดรับกับเทรนด์ปัจจุบันในรูปแบบ High End Luxury Customer เพิ่มมากขึ้น” นายกีรติ กล่าว