ขาช็อปมีหนาว!! “ปลัดคลัง” เคาะโต๊ะ พ.ค. 67 เตรียมเก็บภาษี VAT จากการนำเข้าสินค้ามูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท แจงเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันของผู้ประกอบการใน-ต่างประเทศ
29 เม.ย. 2567 – นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายในต้นเดือน พ.ค. 2567 จะมีความชัดเจนเรื่องการออกประกาศกรมศุลกากร เป็นกฎกระทรวงเกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่า (Low-Value Goods) ราคาไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งจะส่งผลให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ทั้งที่เป็นแพลตฟอร์มในประเทศและแพลตฟอร์มต่างประเทศ รวมถึงบุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนดมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% จากการขายสินค้าที่มีมูลค่าต่ำของผู้ขายในต่างประเทศให้แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย เพื่อนำส่งให้แก่กรมสรรพากรเป็นรายเดือนเช่นเดียวกันกับการขายสินค้าของผู้ขายในประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีผลภายในเดือน พ.ค. นี้
ทั้งนี้ การออกกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการดำเนินการระยะสั้น เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษี VAT จากสินค้านำเข้าที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว หรือการแก้ไขระดับถาวรนั้น กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการเร่งแก้ไขประมวลรัษฎากร ซึ่งในส่วนนี้ต้องใช้เวลา เพื่อให้การดำเนินการจัดเก็บภาษีในส่วนดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“เรื่องนี้กรมสรรพากรและกรมศุลกากรกำลังร่วมมือกันดำเนินการอยู่ ผมคาดว่าภายในต้นเดือน พ.ค. น่าจะมีความชัดเจนแน่นอน โดยการดำเนินการเรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ การแก้ไขแบบถาวร คือการแก้ที่ประมวลรัษฎากร ตรงนี้ใช้เวลา ซึ่งกรมสรรพากรกำลังดำเนินการอยู่ โดยระหว่างที่ประมวลรัษฎากรยังแก้ไขไม่เสร็จ ก็จะมีโครงการเร่งด่วนระยะสั้น โดยกรมศุลกากรจะออกประกาศ เป็นกฎกระทรวงในการจัดเก็บภาษี VAT กับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท จากแต่ก่อนไม่ต้องเสียภาษี ต่อไปก็จะต้องเสีย ซึ่งคาดว่าจะมีผลภายในเดือน พ.ค. นี้” นายลวรณ กล่าว
นายลวรณ กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่า กรมศุลกากรได้มีการนำเสนอร่างประกาศดังกล่าวมาที่กระทรวงการคลังแล้ว โดยหลังการเบื้องต้นจะเก็บภาษี VAT สินค้านำเข้าตั้งแต่บาทแรก ส่วนรายละเอียดและขั้นตอนการจัดเก็บ รวมถึงเป้าหมายการจัดเก็บรายได้หลังจากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะอยู่ที่เท่าไหร่ และมีรายละเอียดอย่างไร อยากให้รอดูความชัดเจนทั้งหมดก่อน
อย่างไรก็ดี การดำเนินการในส่วนนี้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในการขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภค ระหว่างผู้ขายในต่างประเทศซึ่งไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กับผู้ขายในประเทศไทยซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นการสร้างความเป็นธรรม ทั้งในแง่ของการแข่งขันและการจัดเก็บภาษี เนื่องจากต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีสินค้าที่อยู่ในเกณฑ์ไม่ต้องเสียภาษีหลุดเข้ามาเยอะ ซึ่งก็น่าจะทำให้สามารถจัดเก็บรายได้ได้เยอะพอสมควร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ 'คุณสู้ เราช่วย' เปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ ลงทะเบียน
รัฐบาล เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” พร้อมเปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อลงทะเบียน ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ