เอาด้วย! 'สมาคมแบงก์รัฐ' ลดดอกเบี้ย 0.25% นาน 6 เดือน

‘สมาคมแบงก์รัฐ’ เด้งรับนโยบายรัฐบาล เอาด้วย!! ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% นาน 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบาง ด้าน ‘แบงก์รัฐ’ พาเหรดหั่นดอกเบี้ยเต็มสูบ

26 เม.ย. 2567 – นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มีนโยบายช่วยเหลือบรรเทาภาระของลูกค้ารายย่อย และกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในขณะนี้นั้น ในการประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 ที่ประชุมมีมติร่วมกันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล

โดยธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ เอ็กซิมแบงก์ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมถึงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือ ไอแบงก์ ร่วมกันลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่มลง 0.25% อันได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR – Minimum Retail Rate) อัตราดอกเบี้ยตามประกาศ (Prime Rate) และอัตรากำไรอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR – Standard Profit Rate for Prime Retail Customer) เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน

ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือนด้วยเช่นกัน เนื่องจากได้มีการพักชำระหนี้เกษตรกรไปแล้วก่อนหน้านี้

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ เอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี จาก 6.60% เหลือ 6.35% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เอ็กซอมแบงก์ใช้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้าเอสเอ็มอี เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือ MRR ของธนาคารพาณิชย์) นับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เป็นเวลา 6 เดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 2567

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธอส. เปิดเผยว่า ธอส. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% ต่อปี จากเดิม 6.795% ต่อปี ลดลงเหลือ 6.545% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้ากว่า 1.8 ล้านบัญชี รวมถึงลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย และลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ให้มีเงินเหลือเพียงพอในการดำรงชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ธอส. ยังพร้อมสนับสนุนการออมภาคประชาชน ให้มีวินัยทางการเงินเพิ่มมากขึ้น ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการออมเงินที่ได้รับผลตอบแทนสูง จึงได้จัดทำผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์ “เก็บออม” เพียงเปิดบัญชีเงินฝากขั้นต่ำ 500 บาทขึ้นไป และมีวงเงินฝากคงเหลือไม่เกิน 200,000 บาท จะได้รับอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 1.95% ต่อปี พิเศษ! ดอกเบี้ยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากปีละ 2 ครั้ง (29 มิ.ย. และ 29 ธ.ค.) โดยสามารถเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ “เก็บออม” ได้ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. – 30 ธ.ค. 2567 หรือจนกว่าจะเต็มกรอบวงเงินโครงการ ณ สาขาธนาคารทั่วประเทศ

ด้านนายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. เปิดเผยว่า บสย. พร้อมให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ โดยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามประกาศ 0.25% เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อย และกลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง มีผล 1 พ.ค. นี้

สำหรับผลดำเนินงาน บสย. ไตรมาส 1/2567 (ม.ค.-มี.ค.) สามารถอนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวมกว่า 14,432 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 36,142 ราย โดยประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 5 ลำดับแรกได้แก่ 1.ภาคบริการ 29% วงเงิน4,287 ล้านบาท 2. ภาคการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 14% วงเงิน 2,085 บาท 3.ภาคสินค้าอุปโภคบริโภค 11% วงเงิน1,490 ล้านบาท 4.ภาคธุรกิจสินค้าและเครื่องดื่ม 9% วงเงิน1,288 ล้านบาท และ 5.ภาคเกษตรกรรม 8% วงเงิน1,168 ล้านบาท

ขณะที่การดำเนินงานในไตรมาส 2 ยังคงเน้นนโยบายเชิงรุก ตั้งเป้าช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อต่อเนื่อง โดยมีโครงการที่ บสย. ดำเนินการเองรองรับความต้องการสินเชื่อ ได้แก่ โครงการ BI 7 (Bilateral) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Hybrid Guarantee โครงการค้ำประกันสินเชื่อค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Pricing : RBP)

อย่างไรก็ดี บสย. อยู่ในระหว่างการนำเสนอโครงการต่าง ๆ ต่อกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาอนุมัติ เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้แก่ 1.โครงการตามนโยบายรัฐ IGNITE Thailand วงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท ร่วมกับธนาคารพันธมิตร ขณะนี้อยู่ในระหว่างเสนอต่อ ครม. 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS11 วงเงิน 50,000 ล้านบาท กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการขออนุมัติและเสนอ ครม. คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs กว่า 76,000 ราย 3.โครงการแก้ไขประกาศกระทรวงการคลัง การกำหนดให้นิติบุคคลผู้ให้บริการสินเชื่อเป็นสถาบันการเงิน (Non-Bank) ที่คาดว่าจะสามารถช่วยผู้ประกอบการเข้าในระบบได้มากกว่า 400,000 ราย และ4.โครงการร่วมลงทุนกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (JV AMC) อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบความร่วมมือ เพื่อดำเนินการ ภายใต้กรอบเวลาตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

IRPC ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน สะท้อนความเชื่อมั่นด้าน ESG ของบริษัทฯ

IRPC ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน สะท้อนความเชื่อมั่นด้าน ESG ของบริษัทฯ น.ส.สมฤดี เจริญครองสกุล รักษาการผู้จัดการฝ่ายอาวุโส

'รมว.คลัง' เล็งคุย ธปท. ลดแบล็กลิสต์ พร้อมสั่งออมสินหาเงินแสนล้าน ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังประชุมครม.เศรษฐกิจ ว่า กระทรวงการคลังเตรียมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางช่วยเหลือผู้ที่ติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโร

'กุนซือนายกฯ' เขย่า 'แบงก์ชาติ' หัดร่วมมือรัฐบาลแก้เศรษฐกิจ

'พิชัย' ลั่นเตือนแล้วเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกย่ำแย่ ชี้นโยบายการเงินไม่สนับสนุน ขณะที่งบประมาณยังใช้ไม่ได้ จี้ 'แบงก์ชาติ' หนุนแก้เศรษฐกิจเหมือนธนาคารกลางประเทศอื่น