‘สุริยะ’ เดินหน้าลดภาระประชาชน มั่นใจ ภายใน ส.ค.67นี้ ลดค่าทางด่วนขั้นที่ 2 ลงเหลือเฉลี่ยจ่ายไม่เกิน 50บาทต่อคันต่อเส้นทาง จากเดิมจ่ายเฉลี่ย 90บาทต่อคันต่อเส้นทาง ด้านการทางพิเศษฯยอมเฉือนเนื้อ ลดส่วนแบ่งรายได้จาก 60/40ลง -ขยายสัมปทาน ด่วนขั้นที่2 พร้อมเดินหน้าลุยสร้างทางด่วน 2 ชั้น ‘งามวงศ์วาน-พระราม 9’ แก้ปัญหาจราจร
25 เม.ย. 2567 – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)ได้รายงานถึงผลการศึกษาลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางผ่านทางด่วนพิเศษของประชาชน กลับมายังกระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งผลการศึกษาทำให้พบว่า รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมสามารถที่จะลดค่าผ่านทางด่วนให้กับประชาชนที่ใช้ทางด่วน ขั้นที่ 2 ลงได้ จากเดิมหากเดินทางจากงามวงศ์วานถึงพระราม 9 จะเสียค่าผ่านทางเฉลี่ยที่ 90บาทต่อคัน ตลอดสายจะเหลือสูงสุดไม่เกิน 50บาทต่อคันตลอดสาย และ ต่ำสุดที่ 25 บาทต่อคัน ทันที ซึ่งราคาค่าผ่านทางที่ปรับลดลงได้นั้นตามขั้นตอนกระทรวงคมนาคมคาดว่าจะเกิดเป็นรูปธรรมปฎิบัติได้จริงได้ภายในสิ้นเดือน ส.ค.67นี้อย่างแน่นอน
สำหรับสาเหตุที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ กทพ. และ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.ไปศึกษาร่วมกัน โดยให้หารือกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานทางด่วนในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับแนวทางการปรับลดค่าผ่านทางลง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ประชาชน เนื่องจากปัจจุบันประชาชนที่เดินทางด้วยทางด่วนสายยาวจากทางทิศเหนือ กทม. มายังทิศใต้นั้น โดยเฉลี่ยจะเสียค่าทางด่วน100บาทกว่าๆ ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง จึงมีนโยบายให้ กทพ. ไปหารือเพื่อหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายประชาชน
ทั้งนี้เบื้องต้นจากการหารือร่วมกันในทางออก ทางกลุ่มบริษัทที่รับสัมปทานทางด่วนได้ยอมที่จะปรับลดค่าผ่านทางด่วนลง ในขั้นที่ 2 เส้นทางจากงามวงศ์วาน-พระราม 9ลงเหลือเฉลี่ย 50บาทต่อคันตลอดสาย จากเดิมที่ประชาชนจะเสียค่าผ่านทางเฉลี่ย 90-100กว่าบาทต่อคน ซึ่งการปรับค่าผ่านทางลดดังกล่าว ทาง กทพ.จะต้องปรับลดส่วนแบ่งรายได้ที่ กทพ. ได้รับจากเอกชนลง จากเดิมที่ กทพ./เอกชน ได้รับในสัดส่วน 60/40 ก็ปรับลด ซึ่งจะปรับลงเหลือสัดส่วนเท่าใดนั้นทาง เอกชน และ กทพ. จะสรุปร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งการปรับลดส่วนแบ่งรายได้นั้นจะทำให้ กทพ. มีรายได้ลดลงทันที
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ซึ่งนอกจากการปรับลดส่วนแบ่งรายได้ ที่ กทพ. จะได้รับลดลง เพื่อแลกกับการลดค่าผ่านทางแล้วนั้น ในการการศึกษาและเจรจาร่วมกัน ยังมีแนวทางที่ทาง กทพ.จะต้องมีการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ออกไปด้วย จากเดิมสัญญาสิ้นสุด 30 ต.ค.78 ส่วนที่จะขยายสัมปทานออกไปอีกเป็นระยะเวลาเท่าใดนั้น ยังไม่ได้ข้อยุติในระยะเวลาซึ่งรายละเอียดในการเจรจาร่วมกันกับเอกชนนั้นจะต้องได้ข้อสรุปใน 2เดือน คือ เดือน มิ.ย.67 หากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนตามไทม์ไลน์ และขั้นตอนต่อไปทางคณะกรรมการบอร์ด กทพ.จะต้องมีมติเห็นชอบตามผลการศึกษาเพื่อลดค่าใช้จ่ายก่อน หลังจากนั้นเสนอไปยังคณะกรรมการตามมาตรา 43 เพื่อให้เห็นชอบการแก้ไขสัญญาตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน หลังจากนั้นเสนอให้อัยการสูงสุดได้เห็นชอบในร่างสัญญาที่มีการปรับเปลี่ยน ก่อนกลับมายังบอร์ด กทพ. อีกครั้งเพื่ออนุมัติก่อนเสนอมายังกระทรวงคมนาคม และเสนอไปยังคณะกรรมการร่วมทุนรัฐและเอกชน(PPP)เห็นชอบก่อนกลับมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอไปยัง ครม. อนุมัติเห็นชอบต่อไป ซึ่งตามไทม์ไลน์คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ส.ค.67นี้ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดเก็บค่าผ่านทางด่วนขั้นที่2ที่มีการปรับลดลงในอัตราใหม่ได้
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า และเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบนทางด่วนทางกระทรวงคมนาคมจะยังคงเดินหน้านโยบายที่จะสร้าง โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9)หรือ (Double Deck)ต่อเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ระยะทางประมาณ 17 กม. โดยเฉพาะต่างระดับพญาไท ซึ่งประสบปัญหาการจราจรอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤตทั้งในและนอกช่วงเวลาเร่งด่วน เนื่องจากมีปริมาณจราจรเฉลี่ยกว่า 400,000 คันต่อวัน ในขณะที่เส้นทางมีความจุประมาณ 300,000 กว่าคันต่อวัน ทำให้ต้องรับภาระด้านการจราจรทั้งหมดจากความต้องการเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้บนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในและชั้นกลาง
“ทางด่วน 2 ชั้น จะเป็นการแยกจราจรบริเวณจุดทางแยกให้ชัดเจน แก้ปัญหาจราจรตรงจุดแบบเบ็ดเสร็จ ตรงต่างระดับพญาไท (แยกตัว Y) โดยโครงการจะยกระดับซ้อนบนทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2 ) มีขนาด 4 ช่องจราจร (2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 2 แห่ง คือ ด่านประชาชื่น และด่านมักกะสัน มีทางขึ้น 3 แห่ง ได้แก่ งามวงศ์วาน (ขาเข้าเมือง), บางซื่อย่านพหลโยธิน (ขาเข้าเมือง), อโศก (ขาเข้าเมือง) มีทางลงสู่ทางด่วน 4 แห่ง ได้แก่ งามวงศ์วาน (ขาออกเมือง) บางซื่อ ย่านพหลโยธิน (ขาออกเมือง) มักกะสัน (ขาออกเมือง) อโศก (ขาออกเมือง)”นายสุริยะ กล่าว
นายสุริยะ กล่าวว่าเมื่อมีการปรับลดค่าทางด่วนดังกล่าว คาดการณ์ว่า จะมีผู้ใช้ทางเพิ่มมากขึ้น และอาจจะส่งผลทำให้รถติดบนทางด่วนนั้น จึงมอบหมายให้ กทพ. ไปพิจารณาหามาตรการรองรับ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับผู้ใช้ทาง อีกทั้ง ขณะนี้กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการจัดทำโครงการขนาดใหญ่มโหฬารในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้งระบบ เช่น การบริหารการจราจรด้านล่างทางด่วน, บริเวณจุดทางลงทางด่วน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะเห็นความชัดเจน และเป็นรูปธรรมในเร็วๆ นี้ต่อไป