'ดร.นงนุช' ยกหลักเศรษฐศาสตร์อธิบายเรื่องลดดอกเบี้ย-ค่าเงินบาท

25 เม.ย.2567 - รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ หัวหน้าฝ่ายบริหารความเสี่ยงและโครงสร้างองค์กร ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) และอดีตอาจารย์ด้านเศรษฐกิจและการเงินในสหราชอาณาจักร โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “มีคนถามว่า ... ถ้าลดดอกเบี้ยแล้วค่าเงินบาทจะอ่อนใช่หรือไม่” ระบุว่า ขอตอบด้วยการเอาเนื้อหาส่วนหนึ่งจากโพสต์ที่เคยเขียนไว้ก่อนย้ายกลับมาไทย เมื่อ 4 ปีที่แล้วมาตอบประเด็นนี้นะคะ

เศรษฐศาสตร์ อธิบาย ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ผ่าน uncovered interest rate parity (UIP)

ถ้าลงทุนในประเทศนึงได้ผลตอบแทนสูงกว่าอีกประเทศนึง (หลังหักอัตราการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน) ก็จะทำให้มีการไหลเข้าออกของเงินเพื่อทำกำไรส่วนต่าง (เรียกว่า international arbitrage)

อัตราการเปลี่ยนแปลง (คาดการณ์) ของค่าเงินประเทศ X เทียบกับเงินตราต่างประเทศ (สมมติว่าเป็นค่าเงินประเทศ Y) จึงเท่ากับ ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างของประเทศ X และของต่างประเทศ (กรณีนี้ คือ Y)

ถ้าอัตราดอกเบี้ยของ X ลด แต่อัตราดอกเบี้ยของ Y ไม่ลด เงินจะไหลไป Y การจะรักษาสมดุล UIP (จุดที่เงินหยุดไหล) นักลงทุนต้องสามารถแลกเงิน X กลับเป็นเงิน Y ด้วยการใช้เงินที่น้อยลง (อัตราแลกเปลี่ยน X ต่อ Y ในอนาคตก็คาดว่าจะลดลง) หรือก็คือ อัตราแลกเปลี่ยนในอนาคตจะลด (ค่าเงิน X จะแข็งขึ้น)

แต่ระหว่างทางของการกลับคืนสู่สมดุล จะมีการไหลออกของทุนก่อนเพราะการลงทุนใน X ให้ผลตอบแทนที่ลดลง ทำให้ค่าเงิน X อ่อนเมื่อเทียบกับ Y และเมื่อค่าเงิน X อ่อน จะมีการกลับเข้ามาของเงินทุนเพื่อรอค่าเงินแข็งขึ้น (ณ จุดสมดุลใหม่)

แต่อัตราดอกเบี้ยที่เราเห็นตามท้องตลาด มีค่าเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงบวกกับอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะทำให้มีการใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น

เศรษฐศาสตร์ อธิบาย ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน ผ่าน purchasing power parity (PPP)

ตามหลักแล้ว ราคาของอย่างเดียวกันที่ขายในตลาดต่างๆ จะต้องเท่ากัน ไม่อย่างนั้น เราจะสามารถซื้อของจากที่นึงไปทำกำไรอีกที่นึงได้ (เรียกว่า locational arbitrage)

อัตราการเปลี่ยนแปลง (คาดการณ์) ของค่าเงิน X เทียบกับเงินตราต่างประเทศ (สมมติว่าเป็น เงิน Y) จะเท่ากับ ส่วนต่างของอัตราเงินเฟ้อระหว่างของ X และของต่างประเทศ (กรณีนี้ คือ Y)

หากอัตราเงินเฟ้อ X เพิ่ม (หลังลดดอกเบี้ยแล้วมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น) แต่อัตราเงินเฟ้อของ Y ไม่เพิ่ม ราคาสินค้า X ที่แพงขึ้น การส่งออกจะลดลง เงิน X เป็นที่ต้องการของตลาดลดลง ค่าเงิน X ก็จะอ่อนลง

งั้นมันยังไงกันแน่ล่ะเนี่ย

ก็ถ้าผลของการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงน้อยกว่าผลของการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยลดลง เราก็จะเห็นค่าเงิน X อ่อน แต่ก่อนหน้ามันจะอ่อน เราก็จะเจอกับการไหลออกของเงินและการส่งออกที่ลดลงค่ะ #เศรษฐศาสตร์วันละนิด

เพิ่มเพื่อน