‘ธปท.’ ชี้เป็นเรื่องกลไกตลาด ที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะพิจารณาความเหมาะสม หลัง ‘เศรษฐา’ เรียกถก 4 ธนาคารใหญ่หารือลดดอกเบี้ย พร้อมแจงลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25-0.50% ก็ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ ยันไม่ออกมาตรการคุมบาทอ่อนไม่หยุด มองครึ่งปีหลังสถานการณ์ดีขึ้น
24 เม.ย. 2567 – นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง เรียกธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งหารือเรื่องทิศทางดอกเบี้ย ว่า เท่าที่ทราบในวันที่ 24 เม.ย.2567 ทางสมาคมธนาคารไทยจะมีการหารือในประเด็นดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของกลไกการตลาด เป็นเรื่องที่ธนาคารแต่ละแห่งต้องไปพิจารณาความเหมาะสม
อย่างไรก็ดี ในส่วนของการพิจารณาเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ ในเรื่องนี้ทุกภาคส่วนเห็นความจำเป็น และสอดคล้องกับสิ่งที่ ธปท.ได้ดำเนินการตลอดที่ผ่านมา โดยเฉพาะการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง เช่น ในช่วงโควิด-19 ให้การปรับลดดอกเบี้ย MRR เพื่อช่วยเหลือรายย่อยก่อน, มีมาตรการดูแลกลุ่มลูกหนี้ NPL และก่อนที่จะเป็น NPL ส่วนจะมีมาตรการอะไรมาเสริมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสมาคม
“ธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับกระบวนการสินเชื่อ ก็เป็นกระบวนการของธนาคารเอง ตอนนี้มี input จากหลายภาคส่วนในการทำนโยบาย เช่น กระบวนการสินเชื่อ ราคา ซึ่งในเชิงนโยบายเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร แต่ทาง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็จะจับตาว่าภาวะการเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ สิ่งที่ทำในปัจจุบันเหมาะสมกับต้นทุน ความเสี่ยง ก็ต้องจับตาดูต่อไป” นายปิติ กล่าว
อย่างไรก็ดี กนง. พร้อมที่จะทบทวนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถ้ามีข้อมูลใหม่เข้ามา และส่งผลต่อภาพเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยยืนยันว่าไม่ได้ยึดติดกับอัตราดอกเบี้ย แต่จะต้องพิจารณาผลกระทบ ความยั่งยืน และนัยยะต่อกรอบการทำนโยบายว่าเพียงพอหรือไม่ ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25-0.50% ในภาพใหญ่ดีกรีอาจไม่ได้เยอะ และถ้าต้องลดดอกเบี้ยเยอะ ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คงไม่สามารถทำได้ ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
นายปิติ กล่าวอีกว่า ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอ่อนลงนำสกุลอื่นในภูมิภาค เป็นความผันผวนที่ ธปท.จับตา และไม่อยากเห็นตลาดทำงานไม่ปกติ เช่น ชะงักงัน หรือ สภาพคล่องลดลง ซึ่งยังไม่เห็นสัญญาณ โดยปัจจุบันการอ่อนค่าของเงินบาท มาจากปัจจัยต่างประเทศ ที่ออกมาดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันยาวนานขึ้น ส่วนปัจจัยภายใน เป็นปัจจัยเชิงลึก บริษัทนำส่งเงินปันผลกลับต่างประเทศกว่า 2 พันล้านเหรียญในไตรมาส 2/2567 และ อากาศที่ร้อนขึ้น อุณหภูมิ 38-39 องศา ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยว โดยดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมาส 2/2567 จะยังขาดดุล
อย่างไรก็ดี ในช่วง ครึ่งปีหลัง คาดว่าการส่งออกและการท่องเที่ยว จะขยายตัวดีขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินบาท ยังต้องจับตาต่อเนื่อง แต่ค่าเงินบาทที่อ่อนลงช่วงนี้ ยังไม่ถึงขั้นต้องทำอะไรในเชิงนโยบาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวดี กรุงไทย ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25%
ธนาคารกรุงไทย ขานรับมาตรการภาครัฐ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR MLR และ MRR พร้อมต่ออายุมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง
เกษตรกรเฮ! ธ.ก.ส. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สูงสุด 0.25%
ธ.ก.ส. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สูงสุดร้อยละ 0.25 พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ส่งเสริมวินัยการออม