‘ครม.’ ไฟเขียวกรอบหลักการโครงการเติมเงินหมื่นบาท ผ่าน Digital Wallet พร้อมเปิดเงื่อนไขโครงการยิบ ด้าน “จุลพันธ์” แจงยังมีเวลา 5-6 เดือน ส่งกฤษฎีกาตีความล้วงเงิน ธ.ก.ส. 1.72 แสนล้านบาทอุ้ม แย้มถก 4 แบงก์พาณิชย์ ขอลดดอกเบี้ย ผลตอบรับค่อนข้างดี
23 เม.ย. 2567 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ยังอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินตามตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลไกในการพัฒนาระบบเพื่อใช้ในโครงการ Digital Wallet ส่วนประเด็นเรื่องการส่งรายละเอียดเรื่องแหล่งเงินที่ใช้ในโครงการตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่จะใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1.72 แสนล้านบาทมาดำเนินการเพื่อให้กฤษฎีกาตีความนั้น ยังไม่ได้มีการกำหนดวันและเวลา เพราะยังมีเวลาอีกเยอะในการดำเนินการ เนื่องจากการใช้งบประมาณตามมาตรา 28 ในปีงบประมาณ 2568 จะมีผลในเดือน ต.ค. 2567 ซึ่งยังมีเวลาอีกมากกว่า 5-6 เดือน โดยยืนยันว่าเรื่องนี้รัฐบาลค่อนข้างมั่นใจอยู่แล้วว่าจะสามารถทำได้
ส่วนกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.การคลัง ได้เรียกผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง มาหารือเพื่อขอความร่วมมือในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น เบื้องต้นทราบว่า ผลตอบรับค่อนข้างดี
“เรื่องที่เรียกผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งมาคุยนั้น เป็นการขอความร่วมมือในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งฟีดแบคก็ค่อนข้างโอเค เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐนั้น รัฐบาลดำเนินการได้อยู่แล้วในเรื่องนี้ แต่ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือไป ส่วนรายละเอียดทั้งหมดยังไม่ทราบ” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามมติคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งสร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน รวมถึงเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ Digital Walletเพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวที่มีขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบันย่อมส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมและช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น แต่ยังต้องมีความระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลังรวมถึงมีแนวทางในการช่วยลดผลกระทบดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน มีสัญชาติไทย ณ เดือนที่มีการลงทะเบียนอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท โดยเงื่อนไขในการใช้จ่าย แบ่งเป็น การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า โดยใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก และการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า โดยร้านค้าที่จะรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ส่วนร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า
ทั้งนี้ สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการ Digital Wallet ได้ ยกเว้นสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ (Negative List) ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ โดยกระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณากำหนด Negative List เพิ่มเติมได้ โดยการใช้จ่ายตามโครงการ Digital Wallet ไม่รวมถึงบริการ
นายพรชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนคุณสมบัติและเงื่อนไขร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการ Digital Wallet ได้ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ 1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และ 2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ 3. ภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
สำหรับการจัดทำระบบนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาและดำเนินการระบบ อาทิ การจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่าย ระบบการชำระเงิน ระบบตรวจสอบธุรกรรม โดยพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ Open Loop ด้วย
ทั้งนี้ วงเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการ อยู่ที่ 500,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการ ประกอบด้วย 1. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ประมาณ 152,700 ล้านบาท 2. การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท และ 3. การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน175,000 ล้านบาท ส่วนระยะเวลาในการดำเนินโครงการการจะต้องไม่เกินเดือน ก.ย. 2569 เนื่องจากมีแนวทางการใช้แหล่งเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 และ 2568 ดังนั้น จึงจะต้องมีการพิจารณาระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ให้สอดคล้องกับแหล่งเงินดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางและดำเนินการตรวจสอบ พิจารณา และวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ Digital Wallet การเรียกเงินคืน รวมถึงการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่าง ๆ
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายฯ จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อกำหนดรายละเอียดการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ ที่ไม่ขัดต่อกรอบหลักการต่าง ๆ ตามที่ ครม. เห็นชอบ และสอดคล้องกับระเบียบ กฎเกณฑ์ และกฎหมาย โดยประสานการดำเนินงานของหน่วยงานผู้รับผิดชอบการดำเนินโครงการในส่วนต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เป็นประธานอนุกรรมการ และมีผู้แทนกรมการค้าภายใน ผู้แทน สศค. และผู้แทนสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นเลขานุการร่วม พร้อมทั้งเห็นชอบมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแหล่งเงินในการดำเนินโครงการ
“ครม. ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โปร่งใส ตรวจสอบได้ หากหน่วยงานใดมีประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องสามารถหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้มีความชัดเจนก่อนดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนคณะอนุกรรมการกำกับโครงการฯ จะได้เร่งพิจารณากำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินโครงการที่จำเป็นเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถพัฒนาระบบงานต่าง ๆ ในโครงการ ให้เป็นรูปธรรมได้ต่อไป เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายฯ มีนโยบายที่จะให้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการภายในไตรมาสที่ 3 และเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567” นายพรชัย กล่าว