‘คลัง’ แจงยิบร้านสะดวกซื้อเข้า Digital Wallet ไม่ได้เอื้อทุนใหญ่ ยันรัฐเลือกปฏิบัติไม่ได้ พร้อมโต้คนห่วงล้วงเงิน ธ.ก.ส. 1.7 แสนล้าน ไม่รู้จริง-ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง ย้ำเป็นการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง ไม่ใช่การกู้เงิน ชี้ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบกฎหมาย
18 เม.ย. 2567 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า มั่นใจสูงว่าการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะสำเร็จอย่างแน่นอน ภายในไตรมาส 4/2567 โดยเฉพาะประเด็นที่สังคมเป็นห่วงว่า จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ เพราะร้านค้าสะดวกซื้อสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ในส่วนของกระทรวงการคลังก็มีข้อสังเกตเรื่องนี้ แต่ข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ก็มีเหตุผล ด้วยความเป็นรัฐคงไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ ซึ่งปัจจุบันในต่างจังหวัด ก็มีร้านค้ารายย่อยที่เป็นร้านสะดวกซื้ออยู่จำนวนมากเช่นกัน และร้านค้าเหล่านี้ก็รวมสินค้าอุปโภค บริโภค ทำให้เกิดการผลิต การจ้างงาน
อย่างไรก็ดี ร้านค้าสะดวกซื้อที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อรับชำระดิจิทัลวอลเล็ต จากประชาชนที่ได้รับสิทธิ์แล้ว ในรอบแรก จะยังไม่สามารถไปขึ้นเป็นเงินสดได้ทันที และจะต้องนำเงินดังกล่าวไปซื้อสินค้าตรงจากผู้ผลิต เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในการนำสินค้ากลับมาขาย โดยจะขึ้นเงินได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตรอบที่ 2 เป็นต้นไปแล้ว โดยกำหนดให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน และคาดว่าเงินจะหมุนเวียนอยู่ในระบบ 1 ปี
ส่วนกรณีที่มีการใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1.7 แสนล้านบาท โดยมีเสียงคัดค้านว่าไม่สามารถอาจผิดกฎหมาย ไม่สามารถทำได้นั้น รมช.การคลัง ระบุว่า คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คนพูดไม่มีความรู้เรื่องงบประมาณ ในเรื่องนี้เป็นนโยบายกึ่งการคลัง ไม่ใช่การกู้เงิน แต่ใช้กลไกธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในการสนับสนุนนโยบายแก้ไขปัญหาให้ประชาชน และไปตั้งงบชดเชยในภายหลัง เช่น ตั้งงบคืน ธ.ก.ส.ปีละ 60,000-80,000 ล้านบาท ใช้เวลาแค่ 3 ปี ก็ชำระหนี้ส่วนนี้ได้ครบ
“ทำไมจึงไม่เชื่อส่วนราชการ ที่ได้พิจารณากฎระเบียบเงื่อนไขแล้ว เห็นว่าสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายทุกประการ เป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ และไม่มีการขยายเพดาน มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 32% จะยังคงเป็นไปตามกรอบ อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้ กระทรวงการคลังกำลังดูอยู่ว่า จะมีการส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อกฎหมายอีกชั้นว่าสามารถทำได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะเข้า คณะรัฐมนตรี (ครม.) และจบภายในเดือน เม.ย.” นายจุลพันธ์ กล่าว
รมช.การคลัง กล่าวอีกว่า ดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นอะไรที่ใหม่ ครั้งแรกของโลกในการทำนโยบายการคลัง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลทำให้เห็นแล้วว่า คิดใหญ่ ทำยาก แต่ต้องทำ เพราะคนคิดเกม คือผู้ชนะ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีนวัตกรรมการเงินใหม่ ๆ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย และเป็นเครื่องมือของรัฐในอนาคต สำหรับการกำหนดนโยบายที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยอยู่ภาวะซึม ตามทฤษฎีกบต้ม จำเป็นต้องมีมาตรการเข้ามากระชาก เพื่อให้เศรษฐกิจโงหัวขึ้นมาให้ได้ ร่วมกับมาตรการอื่น ๆ เช่น มาตรการอสังหาริมทรัพย์ การแก้หนี้ ดึงดูดการลงทุน กระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งต้องดูในองค์รวม ดูเป็นเฉพาะมาตรการไม่ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น
ส่วนความความคืบหน้าเรื่องการตั้งสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ที่ประชุม ครม. ก่อนสงกรานต์ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณา โดยกำหนดกรอบเวลา 30 วัน ก่อนเสนอกลับไปที่ ครม.ว่าจะเดินหน้าหรือไม่ โดยคลัง อยู่ระหว่างทบทวน ตามรายงานผลการศึกษาผลกระทบการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรของสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องรูปแบบธุรกิจ ผลกระทบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย ท่องเที่ยว สาธารณสุข เป็นต้น มาหารือ และมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปดูความเหมาะสมของกฎหมาย และประเด็นเพิ่มเติม ก่อนเสนอ ครม.
สำหรับสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่า รวมถึงดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ผันผวนในขณะนี้ รมช.การคลัง ระบุว่า ยอมรับว่ามีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าลง โดยเข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ว่าจะส่งผลกระทบกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยหรือไม่
“เรื่องหุ้นและค่าบาทที่ผันผวนนั้น เป็นเรื่องของไซเคิลปกติ เพราะมีประเด็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศเกิดขึ้นตอนนี้ ซึ่งได้สั่งให้หน่วยงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว” นายจุลพันธ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ในส่วนประเด็นเรื่องมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่จะหมดอายุลงในวันที่ 19 เม.ย. 2567 นั้น เป็นเรื่องของกระทรวงพลังงาน ซึ่งยังไม่ได้มีการส่งเรื่องเข้ามาที่คลัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘คลัง’ชงแพ็กเกจใหญ่!กระตุ้นศก.
“คลัง” ฟุ้งเตรียมขนแพ็กเกจใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจ
นัดถกบอร์ดศก. ปล่อยกู้7หมื่นล. สางหนี้-ซื้อบ้าน
นายกฯ นัดถก "บอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ" ครั้งแรก 19 พ.ย.นี้