ส่องศก.ไทยปี67โตได้แน่..แต่ไม่สุด?!?! พาเหรดตัดเกรดจีดีพีชี้งบอืด-ส่งออกเบา/เอกชนหวังดอกเบี้ยลด

เปิดปีมังกรทอง 2567 มาอย่างสวยงาม แต่เมื่อผ่านระยะเวลาไปจึงเริ่มเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่น่าพอใจอย่างที่หวัง แม้หลายสถาบันจะมีเครื่องชี้วัดเป็นตัวเลขชัดเจน แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงหรือผลกระทบต่างๆ เข้ามากดดันอยู่มากมาย และเมื่อผ่านไตรมาสแรกของปีนี้มาแล้วก็สามารถสรุปได้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ เศรษฐกิจไทยต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มเติม จากทั้งนโยบายการคลังในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ มาตรการด้านการเงิน และมาตรการกระตุ้นอื่นๆ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามยืนยันมาโดยตลอดว่า “เศรษฐกิจไทยในขณะนี้เข้าสู่ช่วงวิกฤต” สะท้อนจากปัจจัยกดดันหลายอย่าง และพยายามยกน้ำหนักของประเด็นที่กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก “อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง” โดยก่อนหน้านี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้เคยกล่าวภายหลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2566 ว่าขยายตัวเพียง 1.7% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า

ส่วนทั้งปี 2566 นั้น เศรษฐกิจไทยเติบโตแค่ 1.9% โดยกล่าวว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจีดีพีของเราเฉลี่ยโตต่ำกว่า 2% ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เทียบกับลำดับจีดีพีโลกไทยก็ต่ำลงเรื่อยๆ และอย่าลืมว่าตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามายังไม่สามารถใช้งบประมาณได้เลย แม้ว่าทุกกระทรวงจะใช้นโยบายเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น แต่วันนี้ต้องยอมรับว่า “ไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้ามาในระบบเลย”

“หลายสำนักมีการปรับลดประมาณการจีดีพีลงอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ซึ่งรัฐบาลได้พยายามดำเนินทุกมาตรการที่มีอยู่ และส่วนตัวขอฝากไว้ว่านโยบายดอกเบี้ยไม่ต้องใช้งบประมาณ ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% ต่อปี หากลดลงเหลือ 2.25% ต่อปี เพียงสลึงเดียว ก็จะช่วยบรรเทาภาระของพี่น้องประชาชนทุกคนได้ แต่เขาไม่ลดกัน”

อย่างไรก็ดีจากข้อมูลของ “กระทรวงการคลัง” ที่ตัดเกรดจีดีพีปี 2566 ว่าโตไม่เกินจริงที่ 1.8% แน่นอน ซึ่งเป็นการปรับลดลงมาจากคาดการณ์ก่อนหน้าที่ระดับ 2.7% เลยทีเดียว ขณะที่ปีนี้ 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 2.8% ซึ่งก็เป็นการปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.2% ซึ่งยืนยันหนักแน่นชัดเจนว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังได้พิจารณาออกมานั้นเป็นไปด้วยความรอบคอบ ถี่ถ้วน คิดมาอย่างดีแล้ว

ส่วนเศรษฐกิจในมุมมองของ “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2567 ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี รวมทั้งประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราสูง โดยคาดการณ์ว่าในปี 2567 ตัวเลขเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ระดับ 2.6% ต่อปี และในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มเป็น 3% ต่อปี

เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน โดยได้แรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว รวมทั้งมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

ขณะที่ “ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)” ก็ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยในปี 2567 ลงเหลือ 2.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.2% เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนของภาครัฐที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าของงบประมาณปี 2567 โดยตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวยังไม่รวมผลของโครงการ Digital Wallet แต่หากมีการดำเนินโครงการดังกล่าวก็จะทำให้จีดีพีของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 1% ขณะเดียวกันก็จะส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันอีกราว 2%

คาดการณ์ระยะกลาง ไทยจะเผชิญความท้าทายในการแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ปัญหาโลกร้อน และความจำเป็นในการกำหนดนโยบายป้องกันวิกฤตการณ์ต่างๆ ในอนาคต

ส่วนในมุมมองของภาคเอกชนนั้น ต้องยอมรับว่าเกือบร้อยทั้งร้อยต่างคาดหวังที่จะได้เห็นภาพ “การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” หรือ “การปรับลดค่าธรรมเนียมนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)” อย่างที่เคยทำในอดีต เพราะมองว่าจะช่วยลดภาระทางการเงินให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยความต้องการดังกล่าวนี้สะท้อนมาจากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย โดยล่าสุด เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. ในฐานะประธานการประชุม เปิดเผยว่า ที่ประชุมประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตได้ในกรอบประมาณการที่ 2.8-3.3% การส่งออกคาดอยู่ที่ 2-3% และเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.7-1.2% ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงเติบโตได้ต่ำลง

ขณะเดียวกัน มองว่าเศรษฐกิจไทยต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว เพราะต้นทุนดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการทุกคน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีรายเล็กๆ ซึ่งมองว่าการลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% หรือ 0.50% นั้น มีความหมายสำหรับเอสเอ็มอี เพราะจะช่วยให้พวกเขารอดตายได้

สำหรับประเด็นเรื่องราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้นหลังจากหมดมาตรการพยุงราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรนั้น จะส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งของภาคเอกชน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงประมาณ 15% ของต้นทุนทั้งหมด แต่ก็เข้าใจว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตอนนี้ติดลบกว่าแสนล้านบาท คงไม่สามารถตรึงราคาดีเซลต่อไปได้มากกว่านี้ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการอื่นๆ อย่างการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน เพื่อรื้อโครงสร้างพลังงาน จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่า

จากความกังวลและปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวสะท้อนมายังภาคอุตสาหกรรม โดยการวัดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ.ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 99.27 หดตัว 2.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการผลิตยานยนต์ลดลง เป็นการหดตัวจากภายในประเทศ เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้าจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

วรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักที่หดตัวต่อเนื่องและมีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยภาพรวมการผลิตเดือน ก.พ.67 ลดลง 19.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงเป็นเดือนที่ 7 ขณะที่ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ภาพรวมของไทยเดือน มี.ค.67 ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในทิศทางดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในระยะนี้ สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ยังคงต้องเฝ้าระวังในตลาดสหรัฐ และติดตามภาวะถดถอยในภาคการผลิตญี่ปุ่น

ขณะที่ มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 39 ในเดือน มี.ค.2567 ภายใต้หัวข้อ “มุมมองต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบัน” พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท.ประเมินภาพรวมขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันเฉลี่ยทั้ง 9 ด้าน ได้แก่ ความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ และการปฏิบัติตามกฎหมาย, ต้นทุนการผลิตและการประกอบการ, ผลิตภาพแรงงาน และกำลังคนรองรับความต้องการของอุตสาหกรรม

ตลอดจนความพร้อมด้านการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และส่งเสริม R&D, การส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนภายในประเทศ ทั้ง FDI, TDI และ SME, การค้า การส่งออก และศักยภาพการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ, ความสามารถในการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ Net Zero, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับภาคอุตสาหกรรม และศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ใน “ระดับปานกลาง”

ซึ่งท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบาง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ทำให้ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวรับมือกับการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม

แน่นอนว่า ด้วยภาวะกดดันโดยเฉพาะกับภาคธุรกิจ ผู้บริหาร ส.อ.ท.จึงมีข้อเสนอให้ภาครัฐเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมทั้งระบบภายใน 1 ปี โดยเฉพาะการดูแลปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนการผลิตทั้งระบบให้เอกชนสามารถแข่งขันได้ มีการปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business รวมทั้งการพัฒนาระบบและมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุมัติอนุญาต ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญที่ฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนอีกมุมมองจากภาคเอกชนในฝั่งค้าส่ง-ค้าปลีกนั้น ที่ยอมรับว่ายอดขายในช่วงล่าสุดได้หดหายไปบ้าง หลักๆ เป็นผลมาจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงรอความชัดเจนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลนั่นเอง โดย สมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ระบุว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาราคาสินค้ามีการปรับตัวขึ้นไปเยอะ แต่กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่มา เนื่องจากรายได้ไม่ดี ในขณะที่ของแพงขึ้น รวมถึงการสะสมภาระหนี้สินมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ตอนนี้ได้เงินมาก็จ่ายแค่หน้าถึงเอวแต่ไม่ถึงหลัง จะเห็นได้ว่าช่วงของการเกิดโควิด-19 ก็มีการใส่กำลังซื้อไปในสังคมระดับล่างด้วยการให้กู้ยืม แต่ไม่ได้มองถึงระยะยาว ทำให้ติดกับดักหนี้ที่ตัวเองได้ก่อไว้” สมชายระบุ

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธได้ยากว่าเศรษฐกิจในขณะนี้เหมือนโตแต่ไม่สุด เครื่องยนต์หลายตัว ทั้งงบประมาณภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่ดูเหมือนจะไปได้ แต่ก็ยังไม่เต็มกำลัง ส่วนถามว่ามันถึงขั้น “วิกฤต” แล้วหรือยัง คงเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก เหมือนกับทั้งรัฐบาลและหลายฝ่ายก็ยังไม่ชี้ชัด ความหวังของประชาชนหลังจากนี้คือการเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอัดมาตรการกระตุ้นในทุกมิติ เพราะต้องยอมรับว่า ค่าครองชีพเอย ภาระหนี้สินเอย อยู่ในช่วงขาขึ้นของจริง ขณะที่รายได้นั้นยังเป็นเรื่องที่เหมือนกลืนไม่เข้า คายไม่ออกกันอยู่ต่อไป!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แอคชั่นทันที! นายกฯมาเอง ลงพื้นที่ห้วยขวาง สั่งสอบป้ายโฆษณาขายพาสปอร์ต

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่สน.ห้วยขวาง ติดตามสอบถามข้องเท็จถึงกรณีที่พบมีการติดแผ่นป้ายโฆษณาซื้อขายหนังสือเดินทางและพาสปอร์ตที่แยกห้วยขวาง พบว่ามีการขึ้นป้ายดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2567 เนื้อหาเป็นข้อความเกี่ยวกับการรับจ้างทำหนังสือเดินทาง

'เศรษฐา' อย่าสับสน! โพลวัดผลงาน ไม่ใช่เรตติ้งนายกฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน !!! ระหว่างผลงาน กับการเลือกนายกฯ คนต่อไป

โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชฯ แก่ 'เศรษฐา ทวีสิน'

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยา