ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ด้วยการขับเคลื่อนรายได้รวมการท่องเที่ยวของไทยให้มากขึ้นทุกปี! จากปี 2562 ช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ทำรายได้รวม 2.99 ล้านล้านบาท กระทั่งฟื้นตัวดีขึ้นปี 2566 มีรายได้รวม 2.09 ล้านล้านบาท เดินหน้าสู่เป้าหมาย 3.5 ล้านล้านบาทในปี 2567 ตามโจทย์ใหญ่ของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี สอดรับกับการขับเคลื่อนสู่การเป็น “ศูนย์กลางการบิน” (Aviation Hub) ที่จะรองรับผู้เดินทางได้มากถึง 150 ล้านคนต่อปีในปี 2573
ก่อนหน้านี้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เคยแถลงวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND, AVIATION HUB” เพื่อประกาศถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาค รัฐบาลมีความเชื่อว่าศักยภาพประเทศไทยพร้อมมากที่จะถูกระเบิดออกมา ฉายแววออกมาให้ชาวโลกรู้ว่าศักยภาพของเรามีมากขนาดไหน ก่อนที่เราจะอัปเกรดศูนย์กลางทางการบิน พร้อมทั้งย้ำเตือนว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วสนามบินสุวรรณภูมิอยู่อันดับที่ 13 ของโลก แต่ปัจจุบันอยู่อันดับที่ 68 ของโลก ตกมา 55 อันดับ จึงขอประกาศว่า 1 ปีจากนี้สนามบินสุวรรณภูมิต้องเป็น 1 ใน 50 ของโลก และให้กลับมาติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี
ด้าน “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน และการตั้งเป้าให้ประเทศไทยก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาคนั้น 1 ใน 8 เสาหลักเศรษฐกิจคือ การผลักดันและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและการขนส่งแห่งภูมิภาค
กระทรวงคมนาคม รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้ขานรับวิสัยทัศน์ นโยบาย และนำมาจัดทำเป็นแผนดำเนินงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อขับเคลื่อนนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน หรือ Aviation Hub ของภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สร้างรายได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และนำความอยู่ดีกินดีมาสู่พี่น้องประชาชน
ขณะนี้ รัฐบาลมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยขยายขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 ซึ่งขณะนี้ ทอท.เปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรือ SAT-1 ที่สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี และในปี 2567 เตรียมเปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 ซึ่งจะสามารถรองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวต่อชั่วโมง มีแผนก่อสร้างขยายอาคารผู้โดยสารทางทิศตะวันออก-ทิศตะวันตกให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านคนต่อปี รวมทั้งมีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารทางทิศใต้ ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 60 ล้านคนต่อปี และแผนก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 รองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
ด้าน “กีรติ กิจมานะวัฒน์” ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้ข้อมูลว่า ทอท.พร้อมส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของโลกตามนโยบายของนายกฯ โดยเป้าหมายผลักดันสนามบินสุวรรณภูมิให้ติดอันดับ 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 1 ปี จะทำได้ด้วยการปรับปรุงการให้บริการภายในสนามบินให้ดีขึ้น เพื่อให้ผู้โดยสารเกิดความประทับใจ เริ่มตั้งแต่ระบบเช็กอิน ระบบตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่จะมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่อีก 600 คนเพื่อลดเวลารอคอย และจะมีเจ้าหน้าที่ ทอท. 800 คนมาเสริมระบบการตรวจค้น
ส่วนการติดอันดับ 1 ใน 20 ภายใน 5 ปีนั้น ทอท.จะทบทวนแผนแม่บทการลงทุนใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.2567 เพื่อไปสู่เป้าหมายการรองรับผู้โดยสารให้ได้ 150 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 จากปัจจุบันรองรับได้ 45 ล้านคนต่อปี และจากการเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรือ SAT-1 จะทำให้รองรับได้ 60 ล้านคนต่อปี โดยหลักๆ การทบทวนแผนแม่บทจะสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่ม
ประกอบด้วย โครงการส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เริ่มก่อสร้างในปี 2568 จะเพิ่มปริมาณรองรับผู้โดยสารได้อีก 30 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 90 ล้านคนต่อปี พร้อมกับก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ที่จะรองรับจำนวนผู้โดยสารได้อีก 60 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 150 ล้านคนต่อปี ตั้งเป้าเริ่มก่อสร้างในปี 2569 เพื่อให้แล้วเสร็จและเปิดบริการได้ในปี 2572 ส่วนด้านทิศเหนือจะพิจารณาทำเป็นพื้นที่รองรับเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวและศูนย์ซ่อมเครื่องบิน
ขณะที่ “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมาคมสายการบินประเทศไทย โดยสายการบินทั้ง 6 สายและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการผลักดันนโยบาย การเเก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อทำให้อุตสาหกรรมการบินของไทยทันสมัย เติบโต และให้บริการผู้โดยสารได้อย่างดีที่สุด”
จากนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคฯ นั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดี และทางสมาคมพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็น Aviation Hub ของภูมิภาคนี้ และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าแห่งภูมิภาค เนื่องด้วยจุดที่ตั้งของประเทศถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการเดินทางเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคอื่น รวมถึงความสามารถของผู้ประกอบการสายการบิน และความแข็งแกร่งของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการกำกับดูแล และให้บริการด้านอากาศยานและท่าอากาศยาน
อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทางสมาคมขอให้รัฐบาลช่วยพิจารณาเรื่องมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันของสายการบิน ที่เกี่ยวกับการปรับแก้มาตรการในการกำกับดูแลหรือกฎหมาย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการและการบริหารจัดการของสายการบิน ซึ่งระยะเวลาในการปรับตัวของสายการบินส่งผลต่อค่าใช้จ่ายเช่นกัน เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้อง ส่งผลโดยตรงต่ออัตราค่าโดยสาร และสามารถช่วยให้สายการบินสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคุ้มทุนในอัตราที่เหมาะสม และมีความปลอดภัยในการปฏิบัติการบินสูงสุด
โดยเชื่อว่าหากทางรัฐบาลมีแผนในการสนับสนุนการเดินทางสู่ภูมิภาค และแผนการปรับปรุงและขยายท่าอากาศยานทั่วประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับเที่ยวบิน ผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าอย่างเป็นรูปธรรม ก็จะส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอย่างแท้จริง
เพื่อเป็นการตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางด้านการบิน ล่าสุดรัฐบาลมีแผนลงทุนสนามบินน้องใหม่ ได้แก่ สนามบินล้านนา สนามบินอันดามัน และสนามบินพะเยา เพื่อซัพพอร์ตดีมานด์การเดินทางของหัวเมืองการท่องเที่ยวภาคเหนือและภาคใต้ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุดคือ การยกระดับเมืองรองเป็นเมืองหลัก ปัจจัยสำคัญในการทำให้เมืองรองเป็นเมืองหลัก สนามบินถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่จังหวัดพังงา หรือท่าอากาศยานอันดามัน วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท ประกอบด้วย งานในเขตการบิน วงเงิน 28,000 ล้านบาท งานอาคารผู้โดยสาร วงเงิน 25,000 ล้านบาท งานสนับสนุนและสาธารณูปโภค วงเงิน 15,000 ล้านบาท สำรองราคาและภาษี 12,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดหาที่ปรึกษาฯ เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการ คาดว่าจะดำเนินการพร้อมศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท., กระทรวงคมนาคม และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายน 2567-มกราคม 2568
สำหรับ สนามบินอันดามัน มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และจังหวัดใกล้เคียง และจะมีการพัฒนาสะพานสารสินเพื่อรองรับรถได้มากขึ้นและให้เรือขนาดใหญ่สามารถผ่านได้ ส่วนทางภาคเหนือก็จะมีสนามบินล้านนา เพื่อรองรับผู้โดยสารอีก 20 ล้านคนต่อปี และจะมีการยกระดับสนามบินเมืองรองทั่วประเทศ เช่น สนามบินน่าน ศรีสะเกษ นครราชสีมา ให้กลายเป็นสนามบินหลักให้ได้ ควบคู่กับพัฒนาครัวไทยสู่การเป็นครัวโลกผ่านการผลิตอาหารบนเครื่องบินที่ดีที่สุดในโลก
ส่วนการ พัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานล้านนา) วงเงินลงทุน 70,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดหาที่ปรึกษาฯ เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการ คาดว่าจะดำเนินการพร้อมศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท., กระทรวงคมนาคม และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พิจารณาภายในปี 2567
สำหรับสนามบินพะเยา จะพัฒนาบนพื้นที่ 2,813 ไร่ ในตำบลดอนศรีชุม อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ประเมินวงเงินลงทุนกว่า 4 พันล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะเปิดให้ใช้บริการในปี 2577 ซึ่งที่ผ่านมากรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยา โดยได้สำรวจออกแบบเบื้องต้นและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2564 ซึ่งผลการศึกษาความเป็นไปได้พบว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยมีตำแหน่งที่ตั้งท่าอากาศยานที่เหมาะสม คือ ตำบลดอนศรีชุม และตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ ห่างจากตัวเมืองพะเยา 20 นาที
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการเดินทางมาจังหวัดพะเยาโดยเครื่องบินจะไปลงท่าอากาศยานของจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งหากจังหวัดพะเยามีสนามบินที่ไม่ห่างจากตัวเมืองจะเป็นทางเลือกการเดินทางที่ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาจังหวัดพะเยาได้สะดวกขึ้น รวมทั้งเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุนในพื้นที่ได้อีกด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สุริยะ' ย้ำที่เขากระโดงเป็นของรฟท. ส่วนที่ดินอัลไพน์ ยันไม่ผิดกฎหมาย
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าภายหลังการรถไฟ