“เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” นับว่าเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่มีชื่อเสียงระดับโลก แม้แต่ในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติก็นิยมมาท่องเที่ยวกันในช่วงเทศกาลดังกล่าว โดยเทศกาลสงกรานตด์ปีนี้มีการจัดขึ้นทั่วประเทศ ในโอกาสที่ ยูเนสโก ขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เตรียมจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 อย่างยิ่งใหญ่ และวิจิตรตระการตา ในวันที่ 11-15 เมษายน 2567 ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลางและพื้นที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร โดยนำเสนอภาพลักษณ์ความสวยงามของประเพณีสงกรานต์ไทย ด้วยขบวนรถพาเหรดมหาสงกรานต์มากกว่า 20 ขบวน พร้อมด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากนักแสดงและผู้ร่วมขบวนแห่กว่าพันคน กิจกรรม Soft Power นำเสนอเอกลักษณ์ในสาขาต่าง ๆ พร้อมจัดกิจกรรมนำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทย อัตลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ 5 ภาค และSoft Power ไทย
ทั้งนี้ ททท.ได้มีการ ‘ทยอยจัดงานสงกรานต์’ ตลอดเดือนเมษายน 2567 แบ่งเป็น 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ เชียงใหม่ ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 4-20 เมษายน 2567, ลำปาง งานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมือง นครลำปาง วันที่ 7-13 เมษายน 2567 ณ พิพิธภัณฑ์มิวเซียมลำปาง และห้าแยกหอนาฬิกา
ส่วนภาคกลาง กาญจนบุรี สงกรานต์มอญ วันที่ 12-17 เมษายน 2567 ณ วังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี, พระนครศรีอยุธยา สงกรานต์เล่นน้ำกับช้าง วันที่ 13-15 เมษายน 2567 บริเวณถนนศรีสรรเพชญ์ อ.พระนครศรีอยุธยา ขณะที่ภาคใต้นครศรีธรรมราช งานมหาสงกรานต์แห่นางดานเมืองนคร วันที่ 13-16 เมษายน 2567 ณ สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช และกิจกรรมเมืองคอน ร้อนจ้าน วันที่ 13 เมษายน ณ เซ็นทรัลนครศรีธรรมราช, ภูเก็ต งานสงกรานต์โนแอล 2024 สงกรานต์ถนนดีบุก ภูเก็ต วันที่ 13 เมษายน 2567 ณ ถนนดีบุก หน้าห้างไลม์ไลท์ อเวนิว
ด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา ประเพณีสงกรานต์โคราช แห่พระคันธารราฐ แห่ลอดประตูชุมพล วันที่ 12-15 เมษายน 2567 อ.เมืองนครราชสีมา งาน “เสิงสาง สงกรานต์ สาดสุข” ถนนข้าวคั่ว วันที่ 13 – 15 เมษายน 2567 บริเวณสถานีขนส่ง อำเภอเสิงสาง จ.นครราชสีมา, งานสาดน้ำสีดอกจาน สงกรานต์เมืองอุดร ประจำปี2567 วันที่ 13 – 16 เมษายน 2567 ณ บริเวณรอบเมืองอุดรธานี
รวมถึงภาคตะวันออก ชลบุรี ประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน วันที่ 16-17 เมษายน 2567 ณ ชายหาดบางแสนงานสงกรานต์ศรีมหาราชาและประเพณีกองข้าว ปี 2567 วันที่ 19 – 29 เมษายน 2567 ณ เกาะลอยศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมายังมีกระแส Soft Power ของกางเกงอัตลักษณ์ท้องถิ่นไทย ที่เรียกว่ามาแรงและยอดขายถล่มทลาย โดยในแต่ละจังหวัดได้มีการชูความโดดเด่นของท้องถิ่น เพื่อนำมาออกแบบลวดลายลงบนผ้าหรือกางเกง
ดันกางเกงปลาแรดเป็นของฝากอุทัยธานี
ญานิศา เทศนา ร้านบ้านจงรัก อุทัยธานี เจ้าของเพจบ้านจงรัก และเพจกางเกงปลาแรด กล่าวว่า จากกระแสของกางเกงรูปสัตว์ต่างๆ จึงเล็งเห็นว่าในส่วนของจังหวัดอุทัยธานีก็มีสิ่งที่สามารถนำเสนอได้เช่นเดียวกัน จึงนำมาสู่การออกแบบ “กางเกงปลาแรด” ที่เริ่มจำหน่ายไปเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2566 รอบแรกของการจัดจำหน่ายจะถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ และทำเพียงแค่ 200 ตัว แต่พอเริ่มเป็นกระแสในวงกว้างมากขึ้น ก็ได้เริ่มผลิตล็อต 2 อีกจำนวน 1,800 ตัว ซึ่งเป็นล็อตที่ลูกค้าได้ทำการพรีออเดอร์ และจะนำไปใส่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์
สำหรับลูกค้าที่สั่งซื้อกางเกงปลาแรด มีมาจากทั่วประเทศ โดยมีการจำหน่ายผ่านหน้าร้านที่เป็นคาเฟ่ของตัวเองภายใต้ชื่อร้านบ้านจงรัก และช่องทางออนไลน์ ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนสูงอายุค่อนข้างสนใจในตัวสินค้าดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุระหว่าง 60-70 ปี เนื่องจากลูกค้าเหล่านี้เห็นกระแสผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงลวดลายที่ถูกใจ จึงอยากได้กางเกงปลาแรดเป็นของตัวเอง และการที่เป็นคนออกแบบเอง ยังสามารถเป็นจุดแข็งที่สามาระให้รายละเอียดและสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรงอีกด้วย
“เราตั้งใจทำกางเกงปลาแรด ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต จนถึงการทำแพ็จเกจจิ้ง ที่นำรายละเอียดของกางเกงมาใส่ ซึ่งสะท้อนวัฒนธรมของจังหวัดอุทัยธานี เรามองว่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดสามารถนำไปเป็นของขวัญของใก หรือสามารถใช้ได้เอง เดิมทีคนมาจังหวัดอุทัยธานีอาจจะคุ้นเคยกับของฝากแบบอื่นๆ แต่ผลิตภัณฑ์ของเราสามารถเก็บได้ และใช้งานได้จริง ต้องยอมรับว่าการทำกางเกงปลาแรดครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเกิดคาด เพราะตอนแรกอยากทำแค่ไม่กี่ตัว แต่กระแสบตอบรับดีจนต้องผลิตมากขึ้น
อัตลักษณ์สุโขทัยสู่ลายผ้ายอดฮิต
สุพรรษา เรืองฤทธิ์ เจ้าของแบรนด์ สุพรรษาผ้าทอเมืองด้ง กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นของการตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองด้ง ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ที่ทำให้เห็นว่าแท้จริงแล้วในชุมชนมีแหล่งทอผ้าจำนวนมาก แต่คนทั่วไปอาจจะไม่รู้ ขณะเดียวกันการผลิตผ้าทอออกมา ก็ไม่มีแหล่งในการจำหน่ายสินค้า จึงอยากเข้าไปสนับสนุนด้วยการนำสินค้าชาวบ้านไปจำหน่าย ทั้งในช่องทางของร้านผ้า มีการออกบูธต่างๆ รวมถึงการมีกระแสของกางเกงลายสัตว์ชนิดต่างๆ ออกมา ได้มีแนวคิดร่วมกันกับ บริษัท สุโขทัยพัฒนาเมือง จำกัด จึงทำให้เป็นโจทย์ที่คิดว่าอยากทำกางเกงที่สามารถสื่อถึงจังหวัดสุโขทัยให้ดีที่สุด ถ้าเป็นสุโขทัยจะคิดถึงเป็นอะไร ก็คงจะเป็น “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ที่ได้ยินกันมาอย่างยาวนานแล้ว
หลังจากได้แนวคิดดังกล่าวแล้ว ก็มองว่า “ปลากา” จะสามารถสื่อสารความเป็นสุโขทัยได้ดี เนื่องจากเป็นลวดลายที่ปรากฏในถ้วยชามสังคโลกและเป็นลวดลายเฉพาะที่พบมากในจาน ชาม จึงได้วาดและออกแบบจนเป็นปลากาที่เป็นเอกลัษณ์ออกมา แต่ขณะเดียวกันก็มองว่าสุโขทัยมีอะไรบ้าง เมืองเก่าจะเห็นดอกพุดตานและก้านขด ซึ่งทั้งสองจะหมายถึงความสิริมงคลและความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นอีกหนึ่งลวดลายที่เลือกมา ส่วนสีน้ำตาลก็สื่อถึงความเก่าแก่ เมืองเก่าสุโขทัย
สุพรรษา กล่าวอีกว่า ได้มีการเปิดตัว “กางเกงลายปลาสังคโลก” ในช่วงเทศกาลลอยกระทงปี 2566 ที่ผ่านมา แต่มีการจำหน่ายจริงในช่วงเดือน มกราคม 2567 ซึ่งมีผลตอบรับดีเป็นอย่างมาก ผลิตสินค้าไม่ทันต่อความต้องการผู้บรโภค ทำให้ยอดจำหน่ายกางเกงลายปลาสังคโลกตอนนี้ได้หลายพันตัวแล้ว ซึ่งก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน เพราะกระบวนการพิมพ์ ออกแบบ ตัดเย็บ ทุกอย่างอยู่ในสุโขทัย
ส่วนช่องทางจำหน่ายโดยหลักจะอยู่ในออนไลน์หรือผ่านไลน์ เพจสุพรรษาผ้าทอเมืองด้ง และโรงแรมต่างๆ ที่สุโขทัย รวมถึงรุ่งเรืองฤทธิ์โฮมสเตย์ที่เป็นช่องทงหลัก โดยกลุ่มลูกค้าส่วนมากจะเป็นข้าราชการ วัยเกษียณ ที่ไปเที่ยวกันเป็นคณะ ซึ่งจะสั่งซื้อทีละหลายตัวเพื่อใส่กันเป็นทีม
“ตอนนี้เรียกว่าใครไม่มีกางเกงใครไม่มีกางเกงลายปลาสังคโลกจะกลายเป็นตกเทรนด์ไป ยิ่งที่เป็นคนสุโขทัยที่ไปอยู่จังหวัดอื่นๆ ก็จะสั่งไปใส่ เหมือนเป็นสิ่งท่ำให้เขาสำนึกรักบ้านเกิด จะเห็นได้ว่าการส่งสินค้าเข้ากรุงเทพฯ กลุ่มลูกค้าจะเป็นคนสุโขทัยทั้งหมด ตอนนี้เราเองก็จะเปิดตัวในรูปแบบอื่นๆ แต่เป็นลายนี้ ไม่ว่าจะเป็นชุดเสื้อฮาวายกับกางเกงขาสั้น ที่ใส่เที่ยวทะเลหรือเหมาะกับเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงคอลเลคชั่นใหม่ๆ ก็จะได้เห็นกันมากขึ้นด้วย”
จับมือแบรนด์เผยแพร่ความเป็นพัทลุง
นิเกล ดาร์ซี่ บูรณวิสมิต เจ้าของเพจ D’Arcy the Designs กล่าวว่า จากกระแสของกางเกงรูปสัตว์ชนิดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ส่วนตัวมองเห็นว่าการที่จะทำเสื้อผ้าแฟชั่นที่สะท้อนถึงท้องถิ่นก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ที่บ้านเกิดของตัวเอง จึงได้พัฒนาแบบมาสู่กางเกงเมืองหนังโนราห์ ซึ่งอยากให้ผู้บริโภคสวมใส่อย่างความภาคภูมิใจ ด้วยความเป็นเอกลักษณ์พัทลุงบนลายผ้า ลายกางเกงบอกเล่าเรื่องราว มรดกทางวัฒนธรรม ผ่านลวดลายโนราห์ งดงามไม่เหมือนใคร และยังผสมผสานความงามแบบดั้งเดิมเข้ากับดีไซน์ร่วมสมัย สะท้อนเอกลักษณ์อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง
“กว่าจะกลายมาเป็นกางเกงเมืองหนังโนราห์ก็มีการออกแบบไว้หลายแบบ จนได้สิ่งที่มองว่าจะสื่อสารถึงความเป็นพัทลุงดีที่สุด ก่อนหน้านี้มีงานที่จวนผู้ว่าพัทลุง เราก็ไปดักรอท่านผู้ว่าฯพัทลุง เพื่อนำผ้าไปให้ท่านผู้ว่าฯ จากนั้นก็ได้ มีโอกาสไปออกสื่อ มีการช่วยผลักดันเต็มที่ จนทำให้สามารถต่อยอดออกมาเป็นหลายลายในตอนนี้ ส่วนทางอำเภอก็เข้ามาให้เราจดโอทอป เพื่อเป็นช่องทางในการพัฒนาชุมชน แม้ว่าจะเป็นการขายสินค้า แต่หลัก ๆ คือเราไม่ได้มุ่งเน้นที่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว เราอยากนำเสนอความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นบ้านเราจริงๆ เพราะบ้านเราที่อยู่เป็นจังหวัดทางผ่าน ไม่ได้มีห้างใหญ่โต แต่มีธรรมชาติที่สวย ประเพณีไม่เหมือนที่อื่น จึงเอาทุกอย่างมาผสม ดึงมาถ่ายทอดสู่สายตาคนจังหวัดอื่น จากเดิมจะรู้เพียงแค่คนในชุมชนและจังหวัดตัวเอง ง เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมจังหวัดด้วย”
นอกจากนี้ ยังได้พยายามสานต่อการเติบโตเพื่อความยั่งยืน ด้วกการผลิตสินค้าที่มีความหลากหลาย รวมถึงการ Collaboration กับแบรนด์ต่างๆ ให้มากขึ้น ด้วยการนำลวดลายที่ออกแบบไปอยู่ในผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ต่างๆ เดินหน้าจับมือแบรนด์ต่างๆ ในหลายๆ จังหวัดเพื่อนำพากันเติบโต โดยกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มคนวัย 25-40 ปี ที่เข้ามาซื้อสินค้า
กางเกงลิงลพบุรีลายสดใส
ญาณิศา รัศมีกอบกุล เจ้าของแบรนด์ Napaya Style by นางพญา กล่าวว่า ในช่วงของกระแสกางเกงช้าง กางเกงแมวโคราช ซึ่งคุณแม่เป็นคนลพบุรี เลยปรึกษากับคุณแม่ว่า อยากทำกางเกงประจำจังหวัดลพบุรี ซึ่งจังหวัดลพบุรีมีลิง ทุ่งทานตะวัน มีสถานโบราณสถาน คือ พระปางสามยอด มีศาลพระกาฬและพระราชวังนารายณ์ที่ทุกคนรู้จักและเคารพนับถือ แล้วก็มีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อน จึงเลือกลิงกับทานตะวัน เป็นจุดเด่นของทางกางเกง ออกแบบให้ลิงน่ารัก สดใส และเพื่อต้องการโชว์ความเป็นไทย ก็มีการให้ลิงใส่สไบ ชุดไทย ให้เข้ากับโบราณสถานคือพระราชวังนารายณ์และแฝงความเป็นพุทธศาสนา คติธรรม โดยมี ลิง 3 ตัว ปิดหู ปิดตา ปิดปาก เป็นปริศนาธรรมด้วย
นภา รัศมีกอบกุล เจ้าของแบรนด์ Napaya Style by นางพญา กล่าวว่า แบรนด์นี้เกิดจากความตั้งใจของ 2 แม่ลูก เลยเกิดเป็นแบรนด์ Napa + Yanisa = Napaya (นภายา) ภาษาไทยเลยกลายเป็น นางพญา เดิมทีการผลิตกางเกงมาทีแรกไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับการตอบรับล้นหลาม โดยล็อตแรกผลิตมาเพียง 600 ตัว เพื่อมาลองตลาด แต่พบว่า 1-2 วันก็หมดแล้ว แล้วก็ขยายต่อมาเรื่อยๆ ตอนนี้ก็มียอดจำหน่ายไปประมาณ 4,000 ตัวแล้ว
“ช่วงแรกๆ เราตอบแชทลูกค้าไม่ทันเลย จนตอนนี้เรามีระบบตอบกลับอัตโมมัติ ระบบดูดทักข้อความแล้ว ลูกค้าทุกท่านมั่นใจได้เลยว่าจะได้รับสินค้าที่ตรงตามออเดอร์ ขณะเดียวกันยังได้มีการออกแบบสินค้าใหม่เป็นกางเกง อีก 3 สี ได้แก่ ดำ ครีม และม่วงไล่เฉดสี ส่งผลให้ตอนนี้กางเกงประจำจังหวัดของเรามีถึง 6 สี เป็นกางเกงเดียวในประเทศไทยที่มีสีให้เลือกมากที่สุด รวมถึงยังมีเสื้อยืดสกรีนลายลิงใส่สไบ ปิดหู ปิดตา ปิดปากด้วย มีทั้งสีขาว ดำ ม่วงอ่อน และม่วงเข้ม เสื้อครอปวัยรุ่น และเสื้อ Unisex S M L XL 2XL เรียกได้ว่าตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าทุกเพศทุกวัย
อย่างไรก็ดี หากพูดถึงในเรื่องพฤติกรรมการสั่งซื้อ ถ้าเป็นกลุ่มวัยรุ่นก็จะสั่งออนไลน์ในทางเพจ FB: Napaya style by นางพญา ถ้าเป็นรุ่นผู้ใหญ่สามารถสั่งซื้อที่เบอร์ 086 9845454 หรือ ไลน์@ ได้ที่ @mxp2227w กลุ่มเป้าหมายต่อไปของ คือ นักท่องเที่ยว อยากประชาสัมพันฑ์ว่าหากนักท่องเที่ยวเคยใส่กางเกงช้าง อันนี้เป็นกางเกงลิง เพราะที่เมืองไทยก็มีลิงเหมือนกัน ถ้าอยากเห็นลิงก็ให้ไปเที่ยวลพบุรีได้ จะกลายมาเป็นซอฟ พาวเวอร์ของลพบุรี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นั้นไง 'สุริยะ' โอ่ตอนนี้เป็นโลกคนยุคใหม่ 'แพทองธาร' เหมาะสม
ที่อาคารวอยซ์ สเปซ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
‘รมว.ปุ๋ง ’ ปลื้ม Soft Power หนังไทยสุดปังในเทศกาล New York Asian Film Festival เปิดแผนส่งออกเฟสติวัลหนังนานาชาติ
5 ส.ค.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power ทั้ง 11 สาขา โดยนำความคิดสร้างสรรค์
รมว.ปุ๋ง ลุย Soft Power ผลักดันอุตสาหกรรมเกมไทยสู่สากล ชวนคอสเพลย์แสดงพลัง CAF2024
18 ก.ค.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมเกมให้เป็น Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย