บีโอไอออกมาตรการพิเศษ เปิดส่งเสริม “กิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย” ราคาไม่เกิน1.5 ล้านบาท ขานรับนโยบายรัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคนวัยทำงานที่กำลังเริ่มสร้างครอบครัว และกลุ่มผู้สูงอายุ ให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ตามโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3 ของ ธอส.
10 เม.ย. 2567 – นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้เปิดให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ ส.1/2567 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2567 ตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง สานต่อโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ “บ้านล้านหลัง” ระยะที่ 3 ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล
ในการขอรับการส่งเสริมการลงทุน บีโอไอได้กำหนดเงื่อนไขว่าต้องจำหน่ายให้แก่บุคคลธรรมดา ในราคาหน่วยละไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เป็นเกณฑ์เดียวกันทุกพื้นที่ ทั้งประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบ (บ้านแถวหรือบ้านเดี่ยว) หรือแนวสูง (อาคารชุด-คอนโดมิเนียม) โดยบ้านแถวหรือบ้านเดี่ยว ต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 70 ตารางเมตร และกรณีก่อสร้างอาคารชุด ต้องมีพื้นที่ใช้สอยต่อหน่วยไม่น้อยกว่า 24 ตารางเมตร นอกจากนี้ จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐาน เช่น กล้องวงจรปิดทั้งโครงการ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง พื้นที่ส่วนกลางและที่จอดรถในสัดส่วนที่เหมาะสม ฯลฯ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจาก ธอส. ก่อนยื่นคำขอรับการส่งเสริม
โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยวงเงินที่นำมายกเว้นภาษีเงินได้ฯ จะไม่เกินกว่าเงินลงทุนส่วนค่าก่อสร้างถนน สาธารณูปโภค หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ใช้เป็นส่วนกลางสำหรับสาธารณประโยชน์ของโครงการเท่านั้น โดยผู้ที่ประสงค์จะขอรับการส่งเสริมตามมาตรการนี้ ต้องยื่นคำขอภายในปี 2568
ทั้งนี้ บีโอไอได้เคยให้การส่งเสริมกิจการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในช่วงปี 2536 – 2557 และกลับมาให้การส่งเสริมอีกครั้งในปี 2563 ตามข้อเสนอของ ธอส. ภายใต้โครงการบ้านล้านหลัง โดยมีโครงการที่ยื่นขอเมื่อปี 2563 ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมแล้วจำนวน 44 โครงการ จาก 11 บริษัท ซึ่งอยู่ในรูปแบบคอนโดมิเนียมทั้งสิ้น รวมจำนวน 34,900 ห้อง ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม และชลบุรี
“ที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีพของประชาชน และถือเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุดส่วนหนึ่งของครอบครัว บีโอไอจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคนวัยทำงานที่กำลังเริ่มสร้างครอบครัว และกลุ่มผู้สูงอายุ สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ โดยช่วยเพิ่มทางเลือกที่อยู่อาศัยในทำเลที่ตั้งที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี และเป็นที่พักที่มีมาตรฐานในระดับราคาเหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นการลงทุนและเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะทำให้มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ได้รับประโยชน์อีกเป็นจำนวนมาก” นายนฤตม์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บีโอไอแจงยิบส่งเสริม EV เพื่อรักษาตำแหน่งไทยฐานผลิตยานยนต์โลก
บีโอไอแจงเหตุผลในการส่งเสริมอุตสาหกรรม EV เพื่อรักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก ชี้เงื่อนไขสำคัญ ต้องเข้ามาลงทุนผลิตชดเชยการนำเข้า 1 - 3 เท่า และใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในประเทศ หากไม่ส่งเสริม อาจเสียโอกาสให้คู่แข่ง และไทยกลายเป็นเพียงผู้นำเข้า ย้ำพร้อมช่วยอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนด้วย 5 มาตรการสำคัญ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่
‘บีโอไอ’ เสริมแกร่งชิ้นส่วนยานยนต์ไทยส่งเสริมต่างชาติร่วมทุน
บีโอไอ ไฟเขียวมาตรการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและต่างชาติในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มุ่งยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม คว้าโอกาสการก้าวสู่ Supply Chain ระดับโลก พร้อมอนุมัติมาตรการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ รองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และเคาะส่งเสริมลงทุนกิจการดาต้า เซ็นเตอร์ จากฮ่องกง มูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท
ชวนร่วมงาน SUBCON Thailand 2024 ตั้งเป้าสร้างมูลค่า 2 หมื่นล้าน
นายกฯ เปิดงาน 'SUBCON Thailand 2024' 15 พ.ค. ตั้งเป้าจับคู่ธุรกิจ 9 พันคู่ คาดสร้างมูลค่าเชื่อมโยง 2 หมื่นล้าน เดินหน้านโยบายพัฒนาไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมโลก
'บีโอไอ' ฟุ้งยอดขอส่งเสริมการลงทุน Q1ก้าวกระโดดส่งสัญญาณปีทองการลงทุน
บีโอไอเผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรก ปี 2567 เติบโตก้าวกระโดดจากปีก่อนทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน สะท้อนศักยภาพของประเทศไทย พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ปีทองแห่งการลงทุน
ผู้ผลิตแบตเตอรี่จีนขานรับเตรียมลงทุนในไทย 30,000 ล้านบาท
บีโอไอ เผยผลการจัดโรดโชว์การลงทุนที่จีน ผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำตอบรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตเซลล์แบตเตอรี่ คาดในปีนี้ อย่างน้อย 2 ราย จะมีความชัดเจนในการตั้งฐานผลิตในไทยเงินลงทุนเฟสแรกกว่า 30,000 ล้านบาท