“บัญญัติ” ฟันฉับ รบ.อยู่ข้ามปี65ยาก ชี้ การเมืองร้อนแรง รัฐนาวาตู่ เจอสารพัดปัญหารุมเร้า เชื่อเกิดเลือกตั้งสกปรกซ้ำรอยรัฐบาลจอมพลป. ดึงสติ “กกต.” ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ชงดุ เสนอยุบหลักสูตร พตส. เหตุไร้ประโยชน์ เอาแต่คนได้เปรียบทางสังคมมาเจอกัน คาด ส.ค.ระอุ ศาลรธน.งานเข้า ปมชี้ขาดนายกฯครบ8ปี
2 มกราคม 2565 นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2565 ว่า ปีนี้จะเป็นปีของการเลือกตั้ง เพราะเริ่มต้นเดือนม.ค. ก็มีการเลือกตั้งซ่อมถึง 3 ที่ ทั้งจ.ชุมพร จ.สงขลา และกทม. เขตหลักสี่ นอกจากนี้ยังมีการเลือกตั้งท้องถิ่นอีก อย่างการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) รวมถึงเมืองพัทยาด้วย ซึ่งคาดหมายว่าต้องเลือกในปี 2565 ซึ่งรัฐบาลก็ได้ขานรับแล้วว่าจะเป็นกลางปี แต่ไม่แน่อาจจะเป็นต้นปีก็ได้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเมืองที่ร้อนแรงแบบสุดๆ การเลือกตั้งทั่วไปก็อาจจะต้องเลือกตั้งในปีพ.ศ. 2565 ด้วยเหมือนกัน แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้อยากให้เป็นเช่นนั้น เพราะอย่างน้อยก็คงอยากอยู่เป็นประธานเอเปค หรืออยากจะอยู่ครบเทอม แต่ถ้าพิจารณาภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ร้อนสุดๆในปีหน้า เห็นทีจะข้ามปี 2565 ลำบาก
นายบัญญัติ กล่าวว่า การเลือกตั้งหากดูกฎเกณฑ์ ดูตามระบบประชาธิปไตยก็ดูจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่จะมีผลทำให้การเมืองร้อนก็คือ ช่วงหลังเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งออกนอกรูปนอกแบบกันมากขึ้น ใช้ทุน และอิทธิฤทธิ์มากขึ้น ที่ชัดที่สุดคือการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เมื่อปีที่แล้วพ.ศ. 2563 และนายกฯเทศมนตรี และล่าสุดเลือกนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)และสมาชิกอบต. ทั่วประเทศ ทำให้คนโจษขานกันมากว่าใช้เงินใช้ทองกันอย่างโจ๋งครึ่ม มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเช่นนี้ก็น่าประหลาด ว่าคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)เอง ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องไม่ได้มีทุกข์ร้อนอะไรเลย แต่กลับบอกว่าไม่มีปัญหาอะไร มีร้องเรียนมาบางซึ่งเป็นเรื่องปกติ ตรงนี้น่าวิตกเพราะว่าถ้าเราปล่อยให้กระบวนการการเลือกตั้งใช้อิทธิฤทธิ์ ใช้อิทธิพลกันมาก และบังเอิญชาวบ้านก็ลำบากด้วยจะทำให้กลายเป็นเหยื่อของระบบอุปถัมภ์ การเลือกตั้งในวันข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นอาจจะถูกเรียกขานหรืออาจกลายเป็นประเด็นที่นำไปสู่การคัดค้านว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรกก็เป็นไปได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เหมือนประวัติศาสตร์การเมืองของเราย้อนถอยหลังไปปี 2500 การเลือกตั้งทั่วไปในรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการเดินขบวนของนิสิตจุฬาและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนทำให้เกิดการยึดอำนาจ ฉะนั้น วันนี้สิ่งที่จำเป็นจะต้องเรียกร้อง คือ กกต. ต้องหันกลับมาดูความเป็นจริงในบ้านเมืองและทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มแข็ง
“โครงการที่เคยพูดจากันไว้อย่างเช่น โครงการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปเพื่อสร้างพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย หรือโครงการสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักรู้พิษภัยของการซื้อสิทธิ์ขายเสียง กกต.จึงควรหันกลับมาทำอย่างจริงจังเสียที การอบรมหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.)ควรยกเลิกได้แล้ว เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดคุณประโยชน์อะไรมากไปกว่านำคนที่ได้เปรียบทางสังคมมาเจอกัน อยากแนะนำกกต.ให้ไปจับมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎที่มีอยู่ทั่วประเทศ ลงไปให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้คนในชนบท ผมว่านั่นแหละคือวิถีทางประชาธิปไตยที่ถูกต้องและน่าทำเป็นที่สุด มิฉะนั้นแล้วโอกาสที่การเมืองจะถอยหลังไปสู่ปี2500 อย่างผมว่าก็เกิดขึ้นได้ นี่คือความร้อนแรงที่น่ากังวลของปี 2565” นายบัญญัติ กล่าว
นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การเมืองจะร้อนจากรัฐบาลด้วย โดยเฉพาะนายกฯ ซึ่งในสมัยเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ในเดือนมี.ค. ปี 2565 คาดหมายได้ว่า การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยพรรคฝ่ายค้านจะต้องเริ่มขึ้น ความจริงการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะเป็นเพียงเรื่องธรรมดาๆ เพียงแต่ว่ามันเริ่มขึ้นในเวลาที่บ้านเมืองดูจะมีปัญหาค่อนข้างมาก ทั้งปัญหาโควิดที่ระบาดและผลกระทบ ทั้งเศรษฐกิจ คนตกงาน ผู้ประกอบการ ขนาดเล็ก ขนาดย่อย มีปัญหามากมาย การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการนำรายได้เข้าประเทศก็หายจนหมด ปัญหาเหล่านี้รัฐบาลจัดการได้เรียบร้อยมากน้อยเพียงใด หากรัฐบาลจัดการได้ไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบกับการอยู่นานของนายกฯ ซึ่งต้องยอมรับว่าอยู่มานานมากแล้ว ถ้าเป็นนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งก็ 2 เทอมเข้าให้แล้ว ในทางการเมืองย่อมเข้าใจกันดีว่าผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองที่อยู่นาน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ยั่วยุให้เกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างรุนแรงได้แน่นอน
นายบัญญัติ กล่าวอีกว่า สำหรับกระบวนการทางสภาฯ นอกเหนือจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะร้อนแรงมากอย่างที่ว่าแล้ว ตนคิดว่าจะมีกระบวนการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่นับเป็นความล้าหลังของรัฐธรรมนูญอยู่เป็นระยะๆ อาจจะมีส.ส.เสนอเข้าชื่อกันเองหรือการเข้าชื่อของประชาชนทั่วไปซึ่งก็ทำกันอยู่แล้ว ก็น่าจะกระทำกันมากขึ้น รวมทั้งปัญหาของส.ว.ที่ถูกกล่าวขานว่าเกินอำนาจที่พึงมีของระบอบประชาธิปไตย ประเด็นเหล่านี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาท้าทายความคิดอ่านของสมาชิกรัฐสภาอีกครั้ง
“ประเด็นที่ใหญ่ที่ร้อนมากที่สุดซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความร้อนแรงทั้งในสภาและบนท้องถนน รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญงานจะเข้าด้วย คือ ประเด็นการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตรงไหน ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไปเขียนบัญญัติไว้ว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้ครั้งนี้จะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ได้ นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติในบทเฉพาะกาลรับรองเอาไว้ว่าให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นนี้เคยมีนักวิชาการตีความไว้ด้วยว่า อย่างนี้ต้องนับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2557 ว่าไม่ได้เป็นตามรัฐธรรมนูญนี้แต่เมื่อมีบทบัญญัติบอกว่าให้ถือเป็นการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญนี้ อย่างนี้ก็น่าจะครบกำหนด8 ปีในเดือนสิงหาคม ปี2565 เพราะฉะนั้นเมื่อใกล้เดือนสิงหาคม ปี2565 ผมมั่นใจว่าคงจะมีคนหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาถามหาความถูกต้องอีกครั้ง ตรงนี้จึงบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะงานเข้าอีก เพราะว่าหนีไม่พ้นที่จะต้องวินิจฉัยว่าตกลงนับหนึ่งเมื่อไหร่” นายบัญญัติ ระบุ
นายบัญญัติ กล่าวด้วยว่า ฉะนั้นที่คิดว่าจะอยู่ให้ครบเทอมครบวาระ ก็ไม่แน่ว่าจะพ้นปี 2565 ได้หรือไม่ ยิ่งประเด็นความขัดแย้งในแต่ละที่แต่ละแห่ง การช่วงชิงได้รับความเสียเปรียบในระหว่างกันเองที่มักจะปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆจะเพิ่มความร้อนแรงได้เช่นกัน ถ้ารัฐบาลไม่สามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก โควิด-19 ให้ได้ด้วย ซึ่งที่แล้วมาก็ถือว่าดีพอสมควรจากความเข้มแข็งของบุคคลากรสาธารณสุขประเทศเรา แต่เมื่อมีเชื้อตัวใหม่อย่างโอมิครอนเข้ามาจะเป็นอย่างไรอีก ถ้าเอาไม่อยู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้วมันก็จะแรงเข้าไปอีก คนตกงานมากกว่าเดิม คนลำบากมากขึ้น เหล่านี้จะมีส่วนเติมความเร่าร้อนให้การเมืองได้ทั้งหมด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'บัญญัติ' ชี้การเมือง ปี 68 ร้อนแรง พรรคร่วมรัฐบาลชิงความได้เปรียบ 'ทักษิณ' เป็นตัวเร่ง
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2568 ว่าน่าจะเป็นปีแห่งความรุ่มร้อนและร้อนรุ่ม
'บัญญัติ' ร่ายกลอนสะท้อนการเมือง อวยพรปีใหม่คนไทย
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส. แบบบัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้แต่งกลอนร้อยกรองสะท้อนภาพการเมืองไทย เพื่อส่งความสุข (ส.ค.ส.) ต้อนรับปีใหม่ 2568 ให้แก่พี่น้องประชาชน มีใจความว่า
'ชวน' ชี้การเมืองปี 68 สภาแข็งโป๊กไม่มีล่ม เตือนรบ.อย่าประมาทนักร้อง ระวังซ้ำรอยเศรษฐา
'ชวน' ชี้การเมืองปี 68 เสียงรัฐบาลในสภาแข็งเป๊กไม่มีล่ม ใครโดดประชุมโดนหักเงินครั้งละ2หมื่น เตือนอย่าประมาทนักร้องเรียน ยอมรับ ‘ปชป.’ มีทั้งเป๋-ไม่เป๋ เผยไม่มีกำหนดวางมือ ปัดตอบลง สส.สมัยหน้าต่อ
'บัญญัติ' รับได้ฉายา 'ประชาธิเป๋' บอกอีกสักพักก็แข็งแรงเดินตรงมากขึ้น
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงฉายาที่สื่อรัฐสภา ตั้งให้กับสภาผู้แทนราษฎรว่า “เหลี่ยม(จน)ชิน ว่าตรงกับที่ตนวิเคราะห์แล้วว่ารัฐบาลนี้ก็อยู่ด้วยการช่วงชิงกันมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว
ดีใจกันใหญ่! 'เดชอิชม์' ยิ้มร่า มั่นใจ 100 % 'ทักษิณ' เหน็บ รมต.ลาประชุม ไม่ได้หมายถึงประชาธิปัตย์
ที่ทำเนียบ นายเดชอิชม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชิ
ปชป. ระดม สส.-สาขาพรรค ช่วยน้ำท่วมใต้ เปิดครัวทุกพื้นที่
ปชป.พรึ่บ! ระดมช่วยน้ำท่วมใต้ ตั้งครัวกระจายทุกพื้นที่ 'เฉลิมชัย' สั่ง สส.- สาขาพรรค เกาะติดพื้นที่ บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน