ครม.เคาะมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ 'คลัง' คาดช่วยดันจีดีพีปีนี้โตเกิน4%

ครม. ไฟเขียวเข็นมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ชูลดค่าธรรมเนียมการโอน-จดจำนอง เหลือ 0.01% ขยายราคาบ้านได้รับสิทธิเป็นไม่เกิน 7 ล้านบาท พร้อมนำค่าจ้างสร้างบ้านใหม่ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ด้าน “ออมสิน-ธอส.” ลุยอัดสินเชื่อเต็มสูบ “คลัง” เคาะช่วยดันเศรษฐกิจโตเพิ่มอีก 1.7-1.8% ปั๊มจีดีพีปี 67 ทะยานเกิน 4%

9 เม.ย. 2567 – นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว อาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว หรือห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด โดยมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567

“ส่วนมาตรการอื่น ๆ เช่น มาตรการสำหรับต่างชาติที่จะเข้ามาอยู่อาศัยได้นานขึ้น หรือมาตรการ LTV นั้น อยากให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง” รมช.การคลัง กล่าว

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ในส่วนของ ธอส. จะมีโครงการ Happy Home วงเงิน 20,000 ล้านบาท สำหรับซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ปลูกสร้างอาคารหรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างอาคาร และเพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี ระยะเวลา 5 ปี วงเงินต่อรายสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี โดยสามารถยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ธ.ค. 2568 และโครงการสินเชื่อ Happy Life วงเงิน 10,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก 2.98% ต่อปี วงเงินต่อรายตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป โดยสามารถยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันนี้ หรือจนกว่าจะเต็มกรอบวงเงิน

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ได้แก่ โครงการสินเชื่อบ้านออมสินเพื่อประชาชน วงเงิน 10,000 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อ D-HOME วงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการในการเป็นเงินลงทุน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.50% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 4 ปี โดยสามารถยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. 2567

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ยังมีมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน โดยกำหนดให้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) หักลดหย่อนค่าจ้างก่อสร้างบ้านให้แก่ผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการจ่ายค่าจ้างตามสัญญาจ้าง ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ธ.ค. 2568 โดยให้หักลดหย่อนภาษีได้ 1 หมื่นบาทต่อทุกจำนวนค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาทตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมแล้วไม่เกิน 1 แสนบาท เฉพาะค่าจ้างก่อสร้างบ้านไม่เกิน 1 หลัง ในปีภาษีที่ก่อสร้างบ้านเสร็จ

นอกจากนี้ ยังมีการให้การส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (โครงการบ้าน BOI) โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โดยได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี ในวงเงิน ไม่เกิน 100% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) สำหรับการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด และต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2568 เป็นต้น

นายพรชัย กล่าวว่า ประเมินว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ผ่านการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองนั้น จะช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้นราว 1.58% ส่วนมาตรการด้านภาษีมีผลกับเศรษฐกิจ ราว 0.01% ขณะที่มาตรการสินเชื่อจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะมีผลต่อเศรษฐกิจ ราว 0.07-0.08% รวมทุกมาตรการคาดว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ 1.6% และหากรวมธนาคารออมสิน คิดว่ามาตรการทั้งหมดจะมีผลต่อเศรษฐกิจ 1.7-1.8% ดันจีดีพีปีนี้ทั้งปีโตเกิน 4%

“มาตรการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาภาระให้แก่ประชาชน รวมถึงส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยคาดว่ามาตรการลดค่าจดทะเบียนการโอน และจำนอง จะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ราว 2,000 ล้านบาท” นายพรชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวแล้ว ยังมีประเด็น การพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ ซึ่งมีความสำคัญ รวมถึงการปรับกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการถือครองทรัพย์สิน ดังนั้น ครม. จึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ไปดำเนินการพิจารณา ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการซึ่งจะได้นำเสนอกลับมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

เพิ่มเพื่อน